ต่าวประเทศอินโดจีน : หมากการเมือง มองบทเรียนกรณีเลือกตั้งกัมพูชา

การเมืองไทยเดินทางมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญอีกครั้ง เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปกำหนดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แต่บางคนชี้ว่า เลือกตั้งไม่ใช่จุดเริ่มต้นและการยุติเงื่อนปมทางการเมืองทั้งหมดแต่อย่างใด

ขอให้ดูกัมพูชาเป็นตัวอย่าง จนถึงยามนี้เลือกตั้งล่วงมานานนับปี ปฏิบัติการจองเวรทางการเมืองยังไม่ยุติ

สัปดาห์ที่ผ่านมาหมาดๆ ศาลกัมพูชาอนุมัติออกหมายจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้านที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศรวดเดียว 8 ราย

หัวขบวนไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นสม รังสี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) กับ เก็ม โสคา ประธานพรรคที่ถูกจำขังใน “เรือนจำพิเศษ” อยู่ในเวลานี้ ทั้งๆ ที่พ้นกำหนดควบคุมตัวโดยไม่มีการพิจารณาคดีมานานวันแล้ว

ต่อด้วยแกนนำคนสำคัญของพรรคซีเอ็นอาร์พีซึ่งถูกยุบไปก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อปี 2017 อย่าง มู โสชัว รองประธานพรรค และ เอ็ง ชายเอียง เป็นอาทิ

ข้อหาคล้ายๆ กับข้อกล่าวหาเดิมที่ใช้กล่าวหาเก็ม โสคา ทั้งๆ ที่ปราศจากหลักฐาน นั่นคือ สมคบกันทำความผิดอุกฉกรรจ์และวางแผนอันเป็นการก่อกบฏ ผ่านอินเตอร์เน็ต

การออกหมายจับดังกล่าวมีขึ้นไม่นานหลังจากที่ซีเอ็นอาร์พีมอบหมายให้มู โสชัว ทำหน้าที่เป็น “ประธานกรรมการวางแผนเพื่อการเดินทางกลับ” บ้านเกิด

ไล่เลี่ยกับที่สม รังสี ซึ่งลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส บอกว่า กลางเมษายนนี้ ในวาระปีใหม่กัมพูชา ตนจะเดินทางกลับพนมเปญ

ไม่น่าแปลกที่ทำให้นักสังเกตการณ์หลายคนเห็นตรงกันว่า หมายศาลครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการ “แจ้งให้ทราบ” ของนายกรัฐมนตรีสมเด็จฯ ฮุน เซน อย่างเป็นทางการว่า อยากถูกจับก็ลองกลับมาดู!

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในยามที่สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งไม่พอใจกับการยุบพรรคซีเอ็นอาร์พี ที่เป็นผลให้พรรคประชาชนกัมพูชากวาดที่นั่ง ส.ส.ไปทั้งสภาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เริ่มต้นกระบวนการเพื่อยกเลิกโครงการช่วยเหลือพิเศษ “เอฟวรีธิง บัต อาร์มส์” หรือ “อีบีเอ” ที่ทำให้กัมพูชาส่งออกสินค้าทุกอย่างไปยังอียูได้ ยกเว้น “อาวุธ”

อียูกำหนดส่งคณะกรรมการเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงเข้ามาพบหารือกับหลายฝ่ายในกัมพูชาในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม

การวางแผนกลับประเทศ, หมายศาล และการเดินทางเข้ากัมพูชาของทีมเจรจาจากอียูจึงเกี่ยวพันกันจนแทบแยกไม่ออก

ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ภาคพื้นเอเชีย บอกกับอัลจาซีราไว้ว่า หมายจับของทางการกัมพูชา อุปมาได้เหมือนกับการ “สาดทรายใส่หน้า” ทีมอีบีเอจากอียู

โรเบิร์ตสันสะท้อนคำเตือนของมู โสชัว ที่ว่า ถึงที่สุดแล้ว คนอย่างฮุน เซน พร้อมเสมอที่จะยอมละทิ้งผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวม เพียงเพื่อให้ตนเองยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้อย่างมั่นคง

 

แต่แอสทริด โนเรน-นิลส์สัน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากยุโรป เชื่อว่าถึงแม้นักการเมืองทั้ง 8 จะถูกจับกุมทันทีที่เดินลงจากเครื่อง บรรยากาศทางการเมืองในกัมพูชายามนี้ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่โตขึ้นตามมาแต่อย่างใด

ทั้งหมดจึงเป็น “หมากการเมือง” ของฝ่ายค้านที่หวังจะใช้คณะกรรมการของอียูกดดันรัฐบาล

แต่ฮุน เซน ก็ตอบโต้ด้วยการส่งสัญญาณออกไปชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ยอมถอย ทุกอย่างต้องไม่เปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่

ทุกอย่างเป็นเกมการเมือง เป็นหมากรุกทางการเมืองที่ฮุน เซน ถนัดนัก แม้แต่กับการรับมือกับคณะของอียูที่กำลังมาเยือน

โนเรน-นิลส์สัน เตือนอียูว่า ไม่ควรปล่อยให้ฮุน เซน มีโอกาสได้เล่นเกมของตัวเองอีกต่อไป

แต่ไม่ยักบอกแฮะว่าต้องทำอย่างไร?