ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : นิกายเม้งก่า ในซีรี่ส์ดาบมังกรหยก คือนิกายมาณีกี ที่บูชาแสงสว่าง

สําหรับใครต่อใครที่ติดตามซีรี่ส์จีน โดยเฉพาะซีรี่ส์ประเภทยุทธจักรกำลังภายใน จากจีนแผ่นดินใหญ่ คงจะรู้กันดีว่า ซีรี่ส์ “ดาบมังกรหยก 2019” ฮิตระเบิดระเบ้อขนาดไหน?

เพราะเพียงปล่อยให้รับชมทางออนไลน์ (ใช่แล้วครับ ทุกวันนี้ซีรี่ส์จีนก็เน้นปล่อยชมทีละเป็นล็อต ล็อตละหลายๆ ตอนทางออนไลน์ ในทำนองเดียวกับเน็ตฟลิกซ์ ไม่ใช่มาหวังพึ่งกับการฉายทีละตอนทางหน้าจอโทรทัศน์)

แค่เพียงไม่ถึงเดือน เว็บไซต์โซเชียลออนไลน์ของมวลมหาประชาชนชาวจีน ก็รายงานว่ายอดวิวพุ่งทะลุ 2,000 ล้านวิวไปเรียบร้อยแล้ว

“ดาบมังกรหยก” (หรือที่มักเรียกกันในหมู่นักเสพนิยายกำลังภายใน สัญชาติไทยว่า มังกรหยกภาค 3) เป็นซีรี่ส์ที่ดัดแปลงปมมาจากนิยายดังอีกเรื่องหนึ่งของปรมาจารย์จ้าวยุทธจักรอย่าง “กิมย้ง” ผู้ล่วงลับ

โดยมีเนื้อเรื่องกว้างๆ พูดถึงการไล่ล่าอาวุธ 2 ชิ้น คือ “ดาบฆ่ามังกร” และ “กระบี่อิงฟ้า” (ไม่เห็นจะมีดาบมังกรหยกที่ตรงไหน?) ในช่วงราชวงศ์หยวนที่พวกมองโกลเข้ามารุกราน และปกครองชาวฮั่น โดยมีพระเอกของเรื่องที่ชื่อ เตียบ่อกี้ (จางอู่จี้ ในภาษาจีนกลาง) เป็นประมุข “พรรคจรัส” ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคมาร

ที่ถูกนับเป็นพรรคมาร ส่วนใหญ่ก็คงเป็นเพราะมีธรรมเนียมอะไรที่ไม่ใช่จีนฮั่น แต่นำธรรมเนียมเข้ามาจากเปอร์เซีย คืออิหร่าน

ซึ่งในนิยายก็บอกอยู่ทนโท่ว่า สำนักใหญ่ของนิกายนี้เขาอยู่ที่เปอร์เซีย แต่ในเมื่อเป็นเปอร์เซีย แล้วทำไมพรรคจรัสจึงต้องไปร่วมกันขับไล่ชาวมองโกล อย่างพวกจีนฮั่นด้วย

แถมกิมย้งท่านยังผูกเรื่องให้นางเอกของเรื่องเป็นชาวมองโกล จนเกิดรักต้องห้ามระหว่างความแค้นของชนชาติเสียอีก?

 

และที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ก็คือ อะไรที่ในภาษาไทยแปลมาจากนิยายว่า “พรรคจรัส” หรือเรียกตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า “นิกายเม้งก่า” (หมิงเจี้ยว ในภาษาจีนกลาง) ตามหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดีนั่นแหละ

อันที่จริงแล้ว “นิกายเม้งก่า” ไม่ได้เพิ่งเข้ามาในจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1814-1911) แต่เข้ามาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.1161-1450) โน่นเลย ซึ่งถ้าใครเป็นนักเลงนิยายกำลังภายในก็คงจะรู้จักงานเขียนของนักเขียนรุ่นน้อง ที่เสียชีวิตไปก่อนกิมย้งอย่าง “หวงอี้” ก็คงจะคุ้นชื่อนิกายนี้อยู่บ้าง เพราะในจักรวาลนิยายกำลังภายในของหวงอี้นั้น ก็พูดถึงนิกายนี้ว่าเข้ามาในสมัยราชวงศ์ถัง ดังปรากฏในนิยายอย่าง มังกรคู่สู้สิบทิศ และไตรภาคเหยี่ยวมาร ด้วยชื่อตามสำนวนแปลของคุณ น.นพรัตน์ ว่า “นิกายเรืองโรจน์”

ทั้งที่แปลโดยคนเดียวกัน แต่ทำไมถึงเรียกชื่อ นิกายเม้งก่า เป็นพรรคจรัสในนิกายของกิมย้ง และกลายเป็นนิกายเรืองโรจน์ ในจักรวาลของหวงอี้

ผมก็ไม่รู้หรอกนะครับ เพราะอ่านภาษาจีนไม่ออก แต่นิกายนี้มีชื่อที่คนทั่วไปเขาใช้เรียกกันนอกยุทธจักรนิยายว่า “มาณีกี” (Manicheism)

หรือที่บางท่านเรียก “นิกายมณี” มันเสียอย่างนั้น

 

มาณีกี ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกในดินแดนเปอร์เซียจริงๆ เสียด้วย โดยมีศาสดาชื่อ “มาณี” (Mani, หรือที่บางคนเรียกว่า แมนนี) ซึ่งลืมตาขึ้นมาบนโลกเมื่อ พ.ศ.753 ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อราว พ.ศ.819 หลักใหญ่ใจความของศาสนามาณีกีเชื่อว่า พลังของแสงสว่างและความมืดจะสู้รบกันจนชั่วกัลปาวสาน เพื่อแย่งชิงจักรวาลนี้

แน่นอนว่า แสงสว่างที่ว่าคือตัวแทนของความดี นิกายนี้จึงบูชาแสงสว่าง และนี่คือที่มาของชื่อ นิกายเรืองโรจน์ (ซึ่งก็คงหมายถึงแสงสว่าง) หรือพรรคจรัส ในนิยาย

เทพเจ้าแห่งแสงสว่างของศาสนามาณีกีคือ อาหุร มาสด้า (Ahura Mazda, พระองค์จะสู้รบกับเทพแห่งความมืดคือ หริมัน (Ahriman หรือ Angra Mainyu) อยู่เสมอ โดย อาหุร มาสด้า นั้นก็คือชื่อของเทพเจ้าสูงสุดในคัมภีร์อเวสตะ ของศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster) ที่บูชาไฟมาก่อน

แต่ว่าทั้งสองศาสนานี้ เป็นคนละศาสนากัน ถึงจะเกี่ยวกันอยู่มากก็ตาม ที่มีคนอธิบายว่านิกายเรืองโรจน์ของหวงอี้ กับเม้งก่าของกิมย้ง คือศาสนาโซโรอัสเตอร์จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

ที่สำคัญอีกอย่างคือพวกมาณีกี เชื่อว่า มาณี เป็นศาสดาคนสุดท้าย ก่อนหน้านี้โลกมีศาสดามาแล้ว 4 คน เรียงตามลำดับไหล่ได้แก่ อาดัม (Adam, มนุษย์คนแรกของโลกในศาสนายูดาย คริสต์ และอิสลาม), ซาราธรุสตร้า (Zarathustra, ศาสดาของโซโรอัสเตอร์), ส่วนอีกสองคนคือ พระพุทธเจ้า กับพระเยซู ซึ่งผมคงจะไม่ต้องแนะนำอะไรให้รู้จักให้มากความ

พวกมาณีกีนั้นเชื่อโดยไม่สงสัยเลยว่า บรรดาศาสดาทั้งหลายที่เคยลงมาในโลกนี้ ต่างก็ยังทำภารกิจไม่สำเร็จ เพราะยังทำให้แสงสว่างมีอยู่ในโลกมนุษย์ไม่ครบถ้วน คือแสงสว่างยังมีอยู่เฉพาะเพียงในตัวของมนุษย์เท่านั้น มาณีก็เลยต้องมาเผยแพร่ศาสนาให้แสงสว่างเอาชนะความมืด หรือผสมผสานแสงสว่างกับความมืดให้อยู่ด้วยกันได้นั่นเอง

 

น่าสนใจว่าในประวัติศาสตร์โลก มีเพียงเฉพาะพวกอุยกูร์ (Uyghur) ในมณฑลซินเกียง ประเทศจีนเท่านั้น ที่เคยยกมาณีกีขึ้นเป็นนิกายความเชื่อหลักของชนชาติพวกตนเอง นอกจากนี้แล้วไม่เคยมีชนชาติใดเลยที่ให้การยอมรับกับนิกายมาณีกีถึงเพียงนี้เลยนะครับ แม้กระทั่งในดินแดนต้นกำเนิดอย่างอิหร่านก็ด้วย แต่ถึงแม้อุยกูร์จะเป็นชนกลุ่มหนึ่งในมณฑลซินเกียง ก็ยังไม่ได้ถูกพวกจีนฮั่นยอมรับว่าเป็นพวกเดียวกันอยู่นั่นเอง ซึ่งก็เป็นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ดังที่เราคงจะพอเห็นข่าวอยู่เนืองๆ

ส่วนการที่พวกอุยกูร์ยอมรับเอานิกายมาณีกีเข้ามาเป็นนิกายความเชื่อหลักของตนเอง ว่ากันว่าเพราะพวกเขาเข้มแข็งขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์กบฏอันลู่ซาน ในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ทำให้พวกจีนสูญเสียอำนาจการปกครองทางด้านตะวันตกไปพักใหญ่

“อันลู่ซาน” คนที่ว่านี้ถูกประวัติศาสตร์จีนกล่าวหาว่าเป็นชู้รักของยอดหญิงงามที่มีชื่อเสียงของจีนอย่าง “หยางกุ้ยเฟย” ซึ่งเป็นสนมเอกของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถัง ตัวเขาเป็นลูกครึ่งเติร์ก กับซ็อกเดียน (Sogdian) คำว่า อันลู่ซาน เป็นสำเนียงเรียกอย่างจีน ที่จริงเขาชื่อว่า “ร็อกห์ซาน” ซึ่งแปลว่า “แสงสว่าง” จึงน่าสงสัยอยู่เช่นกันว่า เขาจะเกี่ยวอะไรกับนิกายมาณีกีหรือเปล่า?

ตอนนั้นพวกอุยกูร์มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองทูร์ฟาน (Turfan) ซึ่งก็อยู่ในมณฑลซินเกียง และก็เป็นที่เมืองนี้เอง ที่ผู้นำของพวกอุยกูร์เช่นเดียวกับอันลู่ซาน ได้พบกับครูสอนศาสนาชาวซ็อกเดียน จนทำให้พวกอุยกูร์หันมานับถือนิกายมาณีกีกันอยู่พักหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อช่วงราว พ.ศ.1346

ขอให้สังเกตนะครับว่า ครูสอนศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่นิกายมาณีกีให้กับพวกอุยกูร์ เป็นชาวซ็อกเดียน และอันลู่ซานก็มีพ่อเป็นซ็อกเดียน

ศูนย์กลางของพวกซ็อกเดียนในยุคนั้นตั้งอยู่ในบริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศอุซเบกิสถาน คนพวกนี้เป็นพ่อค้าทางไกล พวกเขานำสินค้ามากมายมาค้าขายกับจีน จนในสุสานสมัยราชวงศ์ถังนั้นถึงกับมีประติมากรรมรูปชาวซ็อกเดียนอยู่ให้เพียบ ลักษณะเด่นของชาวซ็อกเดียนในยุคนั้นคือการสวมหมวกทรงสูงที่มียอดแหลม

 

ในประเทศไทยช่วงที่ร่วมสมัยกับราชวงศ์ถังยุคนั้น ตรงกับช่วงที่วัฒนธรรมแบบทวารวดีรุ่งเรืองอยู่ทางที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนล่างของภาคกลาง ซึ่งก็พบประติมากรรมปูนปั้นรูปคนต่างชาติสวมหมวกทรงเดียวกับพวกซ็อกเดียนเช่นกัน

ดังนั้น จึงไม่แน่ว่าอาจจะเคยมีคำสอนของนิกายมาณีกี หรือเม้งก่า อยู่ในรัฐของทวารวดีบ้างก็ได้ ใครจะไปรู้?

พวกอุยกูร์นับถือนิกายมาณีกีอยู่จนกระทั่งสูญเสียอำนาจการปกครองในทูร์ฟาน และได้ย้ายศูนย์กลางของพวกตนเองไปอยู่ที่อื่นเมื่อราว พ.ศ.1932 ซึ่งก็นับเวลาที่พวกจีนผลัดราชวงศ์จากถัง มาเป็นซ่ง และหยวน ของพวกมองโกลแล้ว

แต่ในช่วงเวลาระหว่างที่พวกอุยกูร์มีอำนาจอยู่ในทูร์ฟานนั้น ก็ใช่ว่านิกายมาณีกีจะเป็นลัทธิความเชื่อหลักมาโดยตลอด เพราะอิทธิพลของพุทธศาสนาได้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในมณฑลซินเกียงตลอดช่วงเวลาดังกล่าว จนเบียดเอานิกายมาณีกีเป็นชนกลุ่มน้อยเหมือนเดิม ตั้งแต่ในช่วงปลายราชวงศ์ถังเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่พวกมองโกลเข้ามาปกครองแผ่นดินจีน ก็ยังมีผู้คนที่นับถือนิกายบูชาแสงสว่างที่ว่านี้อยู่ในมณฑลซินเกียง ถึงจะมีไม่มากนัก จนถูกมองว่าเป็นลัทธินอกรีต ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่กิมย้งจะวางฉากสงครามระหว่างฝ่ายธรรมะ กับพรรคมารอย่างพรรคจรัส หรือนิกายเม้งก่า เอาไว้ในทะเลทราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพรรคจรัส ก็เพราะในซินเกียงนี่มันเป็นดินแดนแห่งทะเลทรายเลยนี่ครับ

กิมย้งยังวางพล็อตเรื่องไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “จูหยวนจาง” ซึ่งก็คือปฐมกษัตริย์หงอู่ ที่ขับไล่มองโกลออกไปจากแผ่นดินจีนได้นั้น เป็นคนในพรรคจรัส ทั้งๆ ที่ตามประวัติศาสตร์ จักรพรรดิพระองค์นี้มีพื้นเพเป็นชาวนา และไม่ได้เคยนับถือนิกายมาณีกีแต่อย่างใด

และความจริงในประวัติศาสตร์ก็คือ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จูหยวนจางได้สถาปนาราชวงศ์ของตนขึ้น และตั้งชื่อราชวงศ์ว่า “หมิง” (เม้ง ในภาษาแต้จิ๋ว) ซึ่งแปลว่า “แสงสว่าง” แน่นอนว่าเป็นหมิงเดียวกับ “หมิงเจี้ยว” ในภาษาจีนกลาง และก็เป็นเม้งเดียวกันกับ “เม้งก่า” ในภาษาแต้จิ๋ว