ยุคสมัย “พึ่งตัวเอง” เสียงเรียกหา “เศรษฐกิจที่ดีขึ้น” มีให้ได้ยินถี่ขึ้น

ความสุขของคนไทยอันเกิดจาก “ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ” ที่ได้จากการใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มข้นจัดการให้เกิดขึ้น แม้จะยังคงดำเนินต่อไปด้วยการวางโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศโดยเน้นที่ “ความมั่นคง” เป็นหลัก ทว่า ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีคำถามถึง “ความสุขในด้านอื่น” ขึ้นมาแล้ว

หากเป็นบ้านเมืองยามปกติ “นักการเมือง” จะเป็นปากเป็นเสียงบอกเล่าความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายค้านจะจี้ติดในระดับคิดไปล่วงหน้าด้วยซ้ำว่า “ประชาชนน่าจะได้รับความเดือดร้อนอะไรบ้าง” จะเห็นได้ว่าหลายครั้งความเดือดร้อนยังไม่ทันเกิดขึ้นจริง เพียงแต่ “คิดว่าน่าจะเกิดขึ้น” การรวบรวมข้อมูลและความเห็นมาถล่มรัฐบาลก็เกิดขึ้น ชนิดที่ไม่ยอมให้ตั้งตัว

แต่ในวันนี้การใช้อำนาจอย่างเข้มข้นของผู้บริหารจัดการประเทศ ทำให้บทบาทนั้นของนักการเมืองจางไป

 

ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ว่า การทำมาหากินฝืดเคืองขึ้น พนักงานโรงงานรายได้ลดลงจากการผลิตที่น้อยลง เนื่องจากสินค้าขายไม่ได้ หรือขายไม่ดี เกษตรกรฝืดเคืองขึ้นกับสินค้าที่มีปัญหาเรื่องตลาด และการปรับการผลิตตามนโยบายรัฐบาล

ธุรกิจไม่ว่าจะระดับไหนล้วนรับรู้ผลประกอบการที่ลดลง จำนวนไม่น้อยต้องทบทวนการอยู่รอดของธุรกิจตัวเอง

ขณะเดียวกันทุกคนรับรู้ว่าค่าครองชีพแพงขึ้น ข้าวของเครื่องใช้ ของกินของอยู่ หรือที่เรียกว่า “อุปโภคบริโภค”นั้น ราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แทบจะเรียกว่าเข้าสู่ “ยุคค่าครองชีพใหม่ของคนไทย”

เสียงเรียกหา “เศรษฐกิจที่ดีขึ้น” มีให้ได้ยินถี่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันอยู่ว่าในทางเศรษฐศาตร์นั้น เศรษฐกิจจะดีขึ้นต้องมีกำลังซื้อ โดยเฉพาะกำลังซื้อในคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งของประเทศเราคือ “คนระดับล่าง” หรือที่เรียกกันว่า “ระดับรากหญ้า”

เพราะรายได้ของคนระดับนี้มีพลังมากที่สุดที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกำลังซื้อ ทำให้มีการหมุนของเงินตรา

ทว่า เป็นที่รู้กันอีกเช่นกันว่าเศรษฐกิจของคนระดับล่างจะดีได้จะต้องมีการจ้างงาน มีการกระจายรายได้ หรือพืชผลการเกษตรจะต้องได้ราคาดี

สภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่

 

สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ “สศช.” ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0

เป็นความเชื่อมั่นว่าจะมีการปรับตัวดีต่อเนื่องจากปี 2559

ความน่าสนใจอยู่ที่ สศช. ชี้ว่า ปัจจัยที่จะส่งผลดังกล่าวอยู่ที่

หนึ่ง การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น

สอง การขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคการเกษตรซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

สาม การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง

และสี่ แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 5.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0-2.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.2 ของ GDP

น่าสนใจเพราะแรงหมุนทางเศรษฐกิจนั้นเกิดขึ้นด้วยประชาชนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอย ซึ่งความกล้าจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีความเชื่อมั่น

น่าสนใจอยู่ที่เหตุผลที่ สศช. ว่ามานั้นเป็นเหตุผลที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นหรือไม่

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ กระจายไปสู่ความรับรู้ในวงกว้าง

น่าสนใจตรงนี้ การประเมิน การวิเคราะห์เป็นเรื่องทุกบริษัท ทุกองค์กรต่างพยายามที่จะศึกษาหาทางทำให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

ไม่ใช่การเชื่ออะไรใครง่ายๆ อีกแล้ว เพราะทุกบริษัท ทุกธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อผลประกอบการของตัวเอง