สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ภาคีเชียงใหม่… นำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

กองทุน กองทุน สิบบาท ให้โอกาสอนาคตเด็กไทย

เชิญชวนพี่น้องเชียงใหม่ มารวมน้ำใจตั้งกองทุนสิบบาท

สังคมมีความเหลื่อมล้ำ อยู่สูงอยู่ต่ำ ร่ำรวยและยากจน

คนจนมีรายได้ต่ำ อนาคตมืดดำไม่รู้จะทำไฉน

เรียนดีแต่ไม่มีโอกาส อนาคตของชาติจะทำยังไง

ช่องทางช่วยกันเราทำได้ มาซิไวไวให้กองทุนสิบบาท

สิบบาทอาจดูว่าน้อย สำหรับเด็กด้อยโอกาสมีความหมาย

สิบบาทจากคนมากมาย หลายแสนรายก็ได้มามากพอ

เชียงใหม่คนน้ำใจงาม ยิ่งได้ติดตามว่าประโยชน์มากพอ

สิบบาทจากใจแม่พ่อ เด็กน้อยเฝ้ารอขอกำลังใจ

ภาคีของคนเชียงใหม่ มารวมน้ำใจช่วยละอ่อนบ้านเฮา

ปฏิรูปการศึกษาไงเล่า เชิญชวนหมู่เฮาร่วมด้วยช่วยกัน

ลดภาระลดความเหลื่อมล้ำ แบบอย่างผู้นำน้ำใจเกื้อหนุน

คนเชียงใหม่รวมน้ำใจให้กองทุน จึงขอขอบคุณด้วยกองทุนสิบบาท

 

เสียงเพลงกองทุนสิบบาทค่อยๆ ดังขึ้นๆ จนได้ยินไปทั่วบริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพรเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ สร้างบรรยากาศให้ผู้ร่วมงานนับพันคนคึกคัก กระชุ่มกระชวย ก่อนพิธีเปิดงานด้านการศึกษาที่สำคัญจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง

ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาจัดงานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2562

ในฐานะหนึ่งใน 6 จังหวัดที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องนวัตกรรมการศึกษาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2561 ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง สตูล และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนกฎหมายรองรับ คือ พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศใช้

ภาคีเชียงใหม่ฯ ออกตัวเร็ว ออกตัวก่อน นำหน้ากระแสความเคลื่อนไหวปฏิรูปการศึกษาระดับประเทศได้อย่างน่าชื่นชม เพราะสะสมต้นทุนมาตั้งแต่การจัดงานครั้งแรก วันที่ 7-8 มกราคม 2559 ภายใต้ชื่อ เปิดแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2559-2562)

ครั้งที่สอง วันที่ 30-31 มกราคม 2560 “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ สู่คุณภาพที่หลากหลาย”

ครั้งที่สาม วันที่ 30-31 มกราคม 2561 “โอกาสเชียงใหม่ 4.0”

และครั้งนี้ ครั้งที่สี่ หัวข้อร่วมสมัย “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเชียงใหม่”

 

องค์กรเครือข่ายพันธมิตรร่วมจัดงาน นอกจากภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังประกอบด้วยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ (มสส.) ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จุดไฮไลต์ของงาน ก่อนเข้าสู่ห้องประชุมใหญ่เป็นซุ้มแสดงผลการดำเนินงานของกองทุนปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (กองทุน 10 บาท) ตั้งอยู่ด้านหน้า ทันทีที่ก้าวผ่านประตูลงทะเบียนเข้ามา มีโต๊ะรับบริจาค ครู นักเรียน ผู้เข้าร่วมงานต่อแถวยาวเหยียด รอทำบุญทางการศึกษาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มอิ่มสุข

ภาพที่เห็นเป็นสิ่งยืนยัน หรือตัวบ่งชี้ชัดถึงย่างก้าวความสำเร็จของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งคิดค้นและเคลื่อนไหว ก่อนการเกิดขึ้นของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2561 พี่น้องจาวเจียงใหม่เดินนำหน้ามาก่อนแล้ว

แนวคิด วิธีการ ขั้นตอนการดำเนินงานและผลงานของกองทุนที่ผ่านมา ไว้เล่าสู่กันฟังต่อไปนะครับ

 

ด้านหน้าห้องประชุมตลอดแนวเป็นพื้นที่นิทรรศการ ผลงานนักเรียนของโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย องค์กร หน่วยงาน มูลนิธิ ที่มาร่วม แสดงความก้าวหน้าในการจัดการศึกษา แนวคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพและแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาสทางการศึกษา

เริ่มด้วยนิทรรศการชุด พื้นที่นวัตกรรมตามปฏณิธานการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ “พลเมืองเชียงใหม่ รักษ์วัฒนธรรม ทันการเปลี่ยนแปลง แสวงสัมมาชีพ” การทดสอบความรู้เรื่องเชียงใหม่ อดีต ปัจจุบัน อนาคต (หลักสูตรรักษ์เชียงใหม่)

ซุ้มแสดงความสามารถของเด็ก เยาวชน พลเมืองเชียงใหม่ และผลิตภัณฑ์นักเรียน หลากหลาย ตกแต่งสวยงามละลานตา

แผ่นพับเอกสารแนะนำหลักสูตรวิชาโครงงานของโรงเรียนต่างๆ อ่านแล้วชื่นใจ ได้ความรู้ เช่น โครงงานทำข้าวซ้อมมือ โครงงานจักสาน โครงงานทอผ้ากะเหรี่ยง การตีมีด ขนมอบเพื่ออาชีพ โรงเรียนบ้านใหม่สารภี ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

หรือที่ให้แนวคิดโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนำ อ.หางดง วัดศรีล้อมโมเดล จิต กาย ปัญญา EQ SQ IQ 3 วิถี 9 ทางสู่อาเซียน นักจิตอาสา นักคิดบวก นักทีมงาน นักการทูต และนักปัญญา

เรื่องราวของชุมชนอย่างประวัติแม่กวง ต้นกำเนิดแม่กวง (ภูมิทัศนา) โรงเรียนบ้านตลาดขี้เหล็ก อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ การประดิษฐ์โคมไฟจากกะลามะพร้าว ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนกาวิละอนุกูล อ.เมือง จ.เชียงใหม่

สร้างวินัยเชิงบวกด้วยความดีสากล โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง อ่านออกเขียนได้จริง พร้อมเป็นพลเมืองศตวรรษที่ 21 ทวิ/พหุภาษา นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บนพื้นฐานภาษาท้องถิ่น สำหรับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยชมรมทวิภาษาจังหวัดเชียงใหม่ การศึกษาเพื่อเด็กชายขอบและพื้นที่พิเศษ มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ (The Foundation for Applied Linguistics-FAL)

เวทีสัมมนาวิชาการหัวข้อต่างๆ ซึ่งสะท้อนแนวคิดปฏิรูปการศึกษา 17 ห้อง เตรียมไว้สำหรับนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง นักวิชาการ นักการศึกษา ปัญญาชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น พระสงฆ์ คนชายขอบหลายชนเผ่า คนไร้สัญชาติ ฯลฯ ที่จะมาร่วมงานวันต่อไป แล้วแต่ใครสนใจเลือกเข้าห้องไหน ตามความชอบและถนัด

ภายใต้ความท้าทายของเสียงเรียกร้องปฏิรูปการศึกษาที่ยังดังขรมทั่วประเทศมายาวนานจนถึงวันนี้ พวกเขา ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็นพื้นที่นำร่อง ต้นแบบนำพาการศึกษาไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตเพื่ออนาคตของลูกหลานและชาติบ้านเมืองต่อไปอย่างไร

ต้องติดตามฉากต่อไป