วัชระ แวววุฒินันท์ : เรื่องบังเอิญ การสื่อสาร อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง

วัชระ แวววุฒินันท์

ไม่ต้องยกข้อมูลมาประกอบอะไรมากมายเพื่อสนับสนุนว่า “การสื่อสาร” นั้นมีความสำคัญชนิดเปลี่ยนโลกได้

เพราะทุกคนได้อยู่ในอิทธิพลของการสื่อสารกันถ้วนทั่ว

โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เทคโนโลยีทางการสื่อสารนั้นก้าวพรวดๆ มากจนน่าตกใจว่า จะเร็วไปถึงไหน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าพฤติกรรมการสื่อสารนั้นเปลี่ยนไปมากมายเพียงไร

และแน่นอน มันทรงอิทธิพลยิ่ง จนบางคนอาจนึกไม่ถึง เช่น นางฮิลลารี คลินตัน

จากการวิเคราะห์ถึงความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา กล่าวว่าทรัมป์สร้างกระแสในโลกโซเชียลอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ จนสามารถเกณฑ์คะแนนจากผู้เลือกตั้งจนเข้าเส้นชัยหักปากกาเซียนหลายสำนักมาแล้ว

ในขณะที่ทรัมป์ได้รับ “ผลบวก” จากการรู้จักใช้อำนาจของโซเชียลมีเดีย แต่ฮิลลารีกลับได้รับ “ผลลบ” แบบสะท้อนกลับจากโซเชียลมีเดียเช่นกัน จากกรณีใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวกับงานของรัฐจนถูกเอฟบีไอจับได้และตั้งเป็นข้อคดีขึ้นมาให้กลุ้มใจเล่นๆ

หรือในกรณีของพิธีกรกราบรถกู หรือ นักพูดคนดัง หรือดีเจเก่งจอมถอยรถคนนั้น ก็ล้วนได้รับผลพวงของการสื่อสารของโลกยุคใหม่เล่นงานกันจนเมาหมัดไปทีเดียว

rgrgegergeg

ใครที่อายุมากหน่อย คงไม่ลืมคำว่า “ม็อบมือถือ” ในยุคของพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ที่ม็อบจุดติดอย่างรวดเร็วและเรียกแขกให้ออกมาชุมนุมกัน ก็ด้วยการสื่อสารผ่านมือถือที่เป็นของประจำกายชิ้นใหม่ของคนในยุคนั้น

การสื่อสารทำให้คนได้รับข้อมูลข่าวสาร และข้อมูลข่าวสารนี่แหล่ะที่เป็นตัวสร้างความได้เปรียบ ใครมีข้อมูลมากกว่ากันก็มีสิทธิ์ชนะ งั้นคงไม่มีวลีฮิตสำหรับการทำสงครามว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” หรอก

หรือในสนามการค้า หากเรามีข้อมูลของคู่แข่งและลูกค้ามากเท่าไหร่ เราก็สามารถเป็นผู้ชนะได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

ใครที่เคยดูหนังคาวบอยสมัยก่อน การส่งควันไฟของชนเผ่าอินเดียนแดงก็เป็นการส่งต่อข้อมูลข่าวสารแบบไพรมีทีฟที่สุด

แต่ก็ได้ผลส่งให้ทหารคนขาวถูกถลกหนังหัวมานักต่อนักแล้ว

 

ที่ผมจั่วหัวตอนนี้ว่า “บังเอิญ”เพราะผมได้ไปเสพเรื่องที่เกี่ยวกับการสื่อสารในเรื่องเดียวกันจาก 4 ต้นตอในเวลาใกล้ๆ กัน อย่างนี้ไม่เรียกว่าบังเอิญก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวกับการสื่อสารที่ว่านั้นก็คือ เรื่องของ “การถอดรหัส”เป็นการถอดรหัสในระหว่างสงครามในอดีตที่เรียกว่า “อีนิกม่า”

ถามว่าอีนิกม่าคืออะไร เป็นเครื่องมือเข้ารหัสและถอดรหัสที่ฝ่ายนาซีของเยอรมนีใช้ในการส่งข้อมูลเป็นคลื่นวิทยุที่ถูกแปลงให้ยากต่อการจับได้ จะรู้กันเองในหมู่นาซีที่ถอดรหัสเป็น

เริ่มต้นนั้น ผมเพิ่งได้มีโอกาสดูภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์เมื่อปี 2015 คือเรื่อง “The Imitation Game” เมื่อไม่นานมานี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ อลัน ทัวร์ริง นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะชาวอังกฤษผู้สามารถถอดรหัสการสื่อสารของศัตรูคืออีนิกม่าของเยอรมันได้ เดิมทีก็มีทีมที่คอยดักฟังคลื่นวิทยุของศัตรูกันตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่แค่ฟังแล้วจะรู้ได้ง่ายๆ ว่าในข้อมูลที่ส่งมานั้นศัตรูได้แอบส่งข้อความที่เป็นข้อมูลสำคัญทางยุทธวิธีว่าอะไรบ้าง

เพราะไม่ใช่การส่งธรรมดา มันมีรหัสที่รู้กันเองของศัตรูแฝงมาด้วย เขาจึงเรียกว่า “การถอดรหัส” ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่ประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อใช้ถอดรหัสอีนิกม่านี้

ความยากของอีนิกม่าคือ ได้มีการออกแบบรหัสให้ซับซ้อนมากๆ เพื่อป้องกันการถอดได้ง่ายจากศัตรู ขนาดคนเป็นสิบนั่งดักฟังวิทยุอย่างเดียวทั้งวันเพื่อจับข้อมูลที่ผิดสังเกตยังไม่เจอเลย

ฉะนั้น หากมีใครที่คิดเครื่องมือการถอดรหัสได้ก็นับว่า เรารู้เขาแล้ว รบชนะแน่นอน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น คนนั้นต้องเป็น “อัจฉริยะ” ทีเดียว

พระเอกในเรื่อง The Imitation Game นี้ เป็นอัจฉริยะที่สามารถจับสังเกตสิ่งที่คนธรรมดาๆ ไม่มีทางทำได้ แต่เขาทำได้

 

ตอนนั้นก็ทึ่งกับเรื่องราวของการดักฟังและถอดรหัสจากหนังเรื่องนี้แล้ว เผอิญได้มาอ่านหนังสือเรื่อง “701 เจาะจารชนแดนมังกร” ของสำนักพิมพ์มติชนนี่เอง ที่เขียนโดยนักเขียนจีนชื่อ ม่ายเจีย แปลโดย เรืองชัย รักศรีอักษร เข้าอีก

เรื่องนี้แม้เป็นนิยาย แต่ก็เขียนโดยอิงจากข้อมูลจริงๆ ขององค์กรลับในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า “701” เป็นองค์กรลับที่ทำหน้าที่กรองข้อมูลข่าวสารของศัตรูซึ่งตอนนั้นคือ รัฐบาลของ เจียง ไค เช็ก เพื่อจะได้ “รู้เขา รู้เรา”

ที่ “701” นี้ ก็มีการถอดรหัสเช่นกัน แต่บางรหัสก็ถอดไม่ออก หาไม่พบ จนกระทั่งได้เจอคนที่เหนืออัจฉริยภาพมาถอดให้ ซึ่งในหนังสือก็ได้เล่าถึงเรื่องราวของคน 3 คน ที่ไม่ใช่คนปกติธรรมดาเลย แต่มีวิธีการ “จับลม” ตามภาษาในหนังสือจนถอดรหัสได้

คนเหล่านี้มีวิธีการคิด มีพฤติกรรมแปลกๆ ล้วนๆ แต่เพราะความแปลกและพิเศษนี่เองที่ทำให้เขาสามารถถอดรหัสลับอันแสนซับซ้อนของศัตรูได้ สนุกครับ ลองหาอ่านดู

อย่างคนหนึ่งเป็นชายแก่ตาบอด ซึ่งคนตาบอดมักจะหูดี แต่นี่ดีแบบวิเศษขนาดที่ว่า ตอนที่ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนบท เขารู้เลยว่าหมู่บ้านมีขโมยขึ้น ถามว่าเขารู้ได้อย่างไร เขาบอกว่ารู้จากเสียงสุนัขที่อยู่ปลายหมู่บ้านโน่น มันเห่าแบบที่ผิดจากทุกวัน

หรือรู้เลยว่า สุนัขตัวนั้นตัวผู้หรือตัวเมีย เอากับเขาสิ

 

ความบังเอิญต่อมา คือในขณะที่อ่านหนังสือเล่มที่ว่ายังไม่จบ ก็ได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่อง “Snowden” ที่สร้างจากเรื่องจริงของนาย Edward Snowden ชาวอเมริกันที่แฮ็กเข้าไปเอาข้อมูลลับของทางการสหรัฐออกมาแฉโพย จนถูกตามล่าจนถึงตอนนี้

ในหนังเป็นเรื่องของยุคนี้แล้ว แต่ในตอนหนึ่งที่ Snowden ได้เริ่มเข้าไปสัมผัสกับวงการเจาะข้อมูลข่าวสารของรัฐ เขาได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่เป็นมือหนึ่งในการถอดรหัสอีนิกม่านี้ ที่เป็นระบบการถอดรหัสเก่าจากครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

ตอนดูฉากนี้ในหนัง เหมือนผมได้เจอเพื่อนเก่ายังไงยังงั้น ฉันรู้จักๆ ไอ้เครื่องนี้…เสียงในใจมันบอก

ในหนังแม้จะกล่าวถึงการถอดรหัสอีนิกม่าแบบเล่าผ่าน เพราะหัวใจไปอยู่กับเรื่องการแฮ็กข้อมูลของโลกปัจจุบัน

แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าการล่วงรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นสร้างความได้เปรียบไม่รู้เท่าไหร่

 

ความบังเอิญสุดท้าย ก็ได้มาจากการดูหนังแผ่นเรื่อง “A Beautiful Mind” ซึ่งเป็นหนังรางวัลออสการ์เมื่อปี 2001 แต่ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดู

ในเรื่องพระเอกของเราชื่อ จอห์น แนช ก็เป็นพวกอัจฉริยะอย่างเช่นทุกคนที่เล่ามานี่แหละ ฉลาดมาก เก่งคณิตศาสตร์มาก และมีเซ้นส์ในการมองเห็นกลุ่มตัวเลขและอักษรที่คนอื่นไม่เห็น

และด้วยความสามารถพิเศษนี้เองทำให้เขาเพี้ยนจนสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา เป็นโลกของการถอดรหัสที่เขานำข้อมูลจากการตีพิมพ์ในนิตยสาร ในหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาถอดเป็นข้อมูลทางยุทธวิธีให้กับทางการ…ที่เขาคิดไปเอง

หนังดูสนุกและชวนติดตามมาก เหมือนกับอีก 2 เรื่องที่เล่ามาเช่นกัน

เออหนอ ในช่วงเวลาแค่ 2-3 เดือน ผมได้มีโอกาสพบเจอเรื่องๆ หนึ่งที่ต่างที่มาโดยบังเอิญจริงๆ

แม้จะต่างที่มา ต่างวิธีการเล่าเรื่องและเนื้อหา แต่ที่เหมือนกันคือ ความสำคัญของการสื่อสาร ที่เป็นเหมือนอาวุธอันมีอานุภาพร้ายแรงอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

ไม่เชื่อถาม พิธีกรน็อต, สาวเบส, ดีเจเก่ง และ หนุ่มบอล ดูก็ได้