เวียดนามที่เห็นมา ให้ความสำคัญการศึกษา ภาษาต่างประเทศอย่างมาก

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
ลุงโฮ วีรบุรุษกู้ชาติ เป็นรูปปั้นใหม่เพิ่งมาตั้ง

ช่วง 2-18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมและเพื่อนนักวิจัยแห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่ภาคสนามในกลุ่มประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป (Mainland ASEAN อันได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สปป.ลาว สหภาพเมียนมา)

ทีมของเราได้เข้าร่วมประชุมนานาชาติกับนักวิชาการพันธมิตรแห่งมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศเหล่านั้น คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โฮจิมินห์ (Vietnam National University-Ho Chi Minh City University of Social Sciences and Humanities) มหาวิทยาลัยแห่งชาติพนมเปญ (Royal University of Phanam Phen-RUPP) มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว (National University of Laos-NUOL) มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (University of Yangon)

นอกจากการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องงานวิจัยที่ทำร่วมกันกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยพันธมิตรแล้ว พวกเรายังได้ลงภาคสนามทั้งในเขตเมืองและชนบท

มีการเดินทางทางรถยนต์วิ่งออกจากเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผ่านด่านถาวร พะเวต-ม็อกบ่าย (Bavet-Moc Bai border Check point) อันเป็นถนนเส้น 1 ของราชอาณาจักรกัมพูชาต่อกับถนนเส้น 22 ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

เข้าชมตลาดและชุมชน เช่น ชุมชนจีน วัดของชาวฮินดู สำรวจและล่องเรือในแม่น้ำไซ่ง่อนในเมืองโฮจิมินห์ ซิตี้

เยี่ยมชมพิพิทธภัณฑสถานแห่งชาติกัมพูชาในกรุงพนมเปญ

เดินทางไปประชุมวิชาการที่นครเวียงจันทน์ เยี่ยมชมชุมชนถนนพระเจ้าอนุวงค์

เยี่ยมชมโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ห้วยทราย ห้วยซ้อยระหว่างทางนครเวียงจันทน์กับเส้นทางเขื่อนน้ำงำ 1

เข้าเยี่ยมชมดูการเรียนการสอนของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว

เดินทางไปประชุมที่ย่างกุ้ง เมียนมา โดยได้สัมภาษณ์นักโทษการเมืองที่เคยติดคุกนาน 9 ปี

เข้าเยี่ยมและปรึกษาเรื่องประชาธิปไตยและการปฏิรูปการเมืองของเมียนมาร่วมกับสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National Leaque for Democracy-NLD) เยี่ยมชมและปรึกษาเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนในเมียนมา โดยเข้าเยี่ยมและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่บริหารหนังสือพิมพ์ Irrawady หนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการเมืองในเมียนมา

ซึ่งผมจะถ่ายทอดสิ่งที่ผมเห็นมาและสิ่งที่เป็นอยู่ของประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ทราบเป็นตอนๆ ไป

ผมขอเริ่มต้นที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

หน้าไปรษณีย์เมืองไซ่ง่อน อาคารสมัยฝรั่งเศสสร้าง ด้านหน้าคนหนุ่มสาวเวียดนามแต่งตัวทันสมัยมาถ่ายรูปกัน
หน้าไปรษณีย์เมืองไซ่ง่อน อาคารสมัยฝรั่งเศสสร้าง ด้านหน้าคนหนุ่มสาวเวียดนามแต่งตัวทันสมัยมาถ่ายรูปกัน

อาเซียนภาคพื้นทวีป

สงครามและเวียดนาม

ไม่มีพื้นที่ไหนในอาเซียนภาคพื้นทวีปในช่วงก่อนการจัดสรรทางการเมืองและการปกครองจะมีการปกครองและควบคุมพื้นที่โดยฝรั่งเศสมากเท่ากับเวียดนาม

การจัดสรรอำนาจและการปกครองของฝรั่งเศสในเวียดนามได้นำมาซึ่งการสิ้นสุดยุคอาณานิคม (Colonialism) ช่วงเวลานั้น ยุคอาณานิคมเป็นต้นเหตุของสงครามซึ่งยาวนานมากและเป็นสงครามที่สิ้นเปลืองมากที่สุด การแบ่งการปกครองออกเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ และแบ่งระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับระบบทุนนิยมที่ปกครองด้วยระบบอำนาจนิยม (Capitalism by Authoritarianism) รัฐเวียดนาม 2 รัฐเกิดขึ้นหลังจากการถอนตัวของฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1954 และได้สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในสงครามเย็น (Cold war) ในเวลาต่อมา ระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา

หลังจากที่มีการทำสงครามกองโจร (guerrilla) ตามชายขอบเป็นเวลานานถึง 21 ปี สงครามนั้นได้เปลี่ยนไปเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เวียดนามประสบความสำเร็จในการอยู่ในเอกภาพทางการเมืองและพรมแดน

มีการประมาณการอย่างหยาบที่สุดว่า มีคนเวียดนามตายในสงครามเวียดนามมากกว่า 3 ล้านคน

 

การเป็นเอกราชของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์หลังยุคอาณานิคมสิ้นสุดลง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสหพันธรัฐมาเลเซีย มีการเลือกตั้งและผู้นำชาตินิยมได้นำพรรคชาตินิยมขึ้นสู่อำนาจ แม้ว่าจะมีการปกครองในระบบอำนาจนิยมก็ตาม

ส่วนประเทศอดีตอาณานิคมในภาคพื้นทวีปคือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า ทั้งหมดปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์หรือผู้นำที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ หมายความว่า ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสายตาของชาติตะวันตกนับเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลประชาธิปไตยตะวันตกอย่างมาก

กล่าวเฉพาะเวียดนาม เวียดนามหลังยุคอาณานิคมยังมีสงครามต่อเนื่องมา แต่ก็สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1975 ซึ่งเวียดนามต่อมาก็มีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกได้แก่ เวียดนามมีเศรษฐกิจด้อยพัฒนาอย่างมาก ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในบ้านในสลัมแหล่งเสื่อมโทรมเป็นส่วนใหญ่

หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ต่อจากนั้นมาอีกหนึ่งทศวรรษ รัฐบาลที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เข้าควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 การเข้ายึดครองกัมพูชาของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง อีกทั้งการไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้ผู้นำของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามคิดใหม่ต่อนโยบายหลายๆ ด้านของตน

สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามถอนกำลังออกจากกัมพูชา การควบคุมเศรษฐกิจโดยรัฐผ่อนคลายลงในระดับที่สำคัญมาก ด้วยนโยบายการเปิดเสรี (Liberalisation) ทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึงช่วงทศวรรษ 1990 พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามยังคงควบคุมการเมืองอย่างเหนียวแน่นและเข้มแข็งจวบจนปัจจุบัน

ในปี 1995 เวียดนามเป็นสมาชิกอาเซียน ปัจจุบันเวียดนามมีประชากรเกือบ 100 ล้านคน

 

ในประเทศยุโรปตะวันตก ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องจำนวนประชากรซึ่งเพิ่มขึ้นช้ามาก

ส่วนสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นด้วยเหตุของผู้อพยพย้ายถิ่น

แต่สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียมีการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเวียดนามนับเป็นประเทศที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เมื่อปี ค.ศ.2000 มีประชากร 72 ล้านคน

แต่ปี ค.ศ.2015 สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน

ประเทศที่มีประชากรเกือบหนึ่งร้อยล้านคน การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องอีกทั้งยังมีเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคสหรัฐอเมริกาและยุโรปโดยการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) และ Trans-pacific partnership-TPP ย่อมทำให้เวียดนามดึงเอาเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก

ในเวลาเดียวกัน เวียดนามเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ภาษาต่างประเทศ พร้อมทั้งการลงทุนในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก