คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : สรรพเรื่องราวของ “หนุมาน” ใน “รามายณะ”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งในรามายณะคือ “หนุมาน” ในฉบับไทยๆ อาจเรียกได้ว่ามีบทบาทเป็น “เพื่อนพระเอก” หรือลูกน้องพระเอกที่เป็นทหารกล้า

ที่สำคัญคือ มีนิสัยเจ้าชู้ประตูดิน มากเมีย

บทบาทเช่นนี้เหมือนกับพระเอกในวรรณกรรมไทยเรื่องอื่นๆ เช่น ขุนแผน พระอภัยมณี ฯลฯ จะด้วยเพื่อให้สนุกสนาน เพราะพระรามในรามเกียรติ์ไทยจืดไป ไม่มีตัวชูโรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนำไปเป็นการแสดงก็คงขาดรสชาติ

แต่ในอินเดียไม่ว่าจะรามายณะฉบับไหนๆ หนุมานไม่มีบทบาทแบบนี้แม้แต่น้อย คือไม่มีบทในทางเจ้าชู้

แต่เป็นผู้ทรง “พรหมจรรย์”

 

ที่เป็นเช่นนี้คงด้วยเพราะเหตุผลที่สำคัญสองประการ คือ อย่างแรก รามายณะเป็นวรรณกรรมทางศาสนาเพื่อสถาปนาระบบจริยธรรมทางสังคม ดังนั้น จุดเน้นของเรื่องคือการแสดงให้เห็นคุณค่าของจริยธรรมในแต่ละสถานะของบุคคล

และในขณะเดียวกันก็แสดงโทษของการละเมิดจริยธรรม ดังที่ทศกัณฐ์และบรรดารากษสได้รับ

หนึ่งในจริยธรรมของสังคมที่สถาปนาขึ้นในรามายณะคือเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” นี่แหละครับ ซึ่งรวมไปถึงการ “อดกลั้นในเรื่องเพศ” ด้วย

แน่นอนว่าตัวละครในเรื่องหลายตัว เช่น ท้าวทศรถ ทศกัณฐ์ ต่างก็ไม่ได้มีเมียคนเดียว แต่ตัวละครที่สำคัญที่สุด คือพระราม ซึ่งเป็นบุคคลใฝ่หาจริยธรรมสมบูรณ์ได้ยืนยันหลักการนี้ตลอดพระชนม์ชีพ

มีตำนานชาวบ้านหลายเรื่องที่เล่าว่ามีสตรีหลายคน เช่น นางเวทวตีหรือนางรากษสต่างๆ พยายามจะขอเป็นภรรยาของพระราม แต่ทุกคนล้วนได้รับการปฏิเสธ

บางคนพระรามสัญญาว่าจะเป็นสามีให้ในชาติถัดไป ต่อเมื่อพระวิษณุอวตารไปเป็นพระกฤษณะ พระองค์จึงได้มีภรรยาและคนรักมากมาย ส่วนหนึ่งก็มาจากสัญญาที่ว่านี้

เมื่อพระรามเป็นเช่นนี้ คนใกล้ชิดพระรามโดยมากจึงต้องยึดมั่นในกุลธรรมและศีลธรรมจรรยาไปด้วย โดยเฉพาะสีดา ซึ่งไม่ว่าฉบับไหนต่างก็ยกย่อง “ปดิวรัดา” หรือหญิงที่มั่นคงซื่อตรงต่อมาสามีว่าเป็นคุณธรรมสูงสุดของหญิง

จนบางครั้งนักวิจารณ์ก็ว่า รามายณะออกจะครึไปมากที่เน้นความเป็นกุลสตรี ประเภทผู้หญิงต้องอยู่แต่เหย้าเฝ้าแต่เรือน รักนวลสงวนตัว จนเกินเลยไปถึงขั้นกดขี่สตรีด้วยซ้ำ

เช่น ต้องพิสูจน์ความสัตย์ซื่อขนาดลุยไฟ

 

ส่วนหนุมานทหารเอกของพระราม การทรงพรหมจรรย์ก็ด้วยเพราะหนุมานเป็นบ่าวที่มีความรักภักดีให้แต่เพียงนายของตนเท่านั้น จะมีใจให้สตรีหรือสิ่งอื่นอย่างไรได้ และละเว้นเสียแล้วซึ่งราคะตัณหา

กล่าวคือ เป็นตัวอย่างสาวกที่มีความภักดีสูงสุดนั่นเอง

หนุมานในรามเกียรติ์ของเรามีความสัมพันธ์เหมือนกับเสนากับพระราชามากกว่ามิตรสหายหรือนายบ่าวที่ใกล้ชิด แต่ในฉบับของอินเดียมีหลายต่อหลายครั้งที่ทั้งคู่ได้แสดงความเคารพรักต่อกันอย่างลึกซึ้ง

อันนี้คือความรู้สึกทางศาสนาที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ตามระบบคิดฮินดู

เรื่องราวดังกล่าวในรามายณะมีอยู่หลายตอน จะขอลองนำมาเล่าใหม่พอเป็นตัวอย่างดังนี้

 

ในหัวใจหนุมาน

เมื่อพระรามทรงขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ประทานสร้อยไข่มุกอันมีค่าให้หนุมานหนึ่งเส้น หนุมานพลิกดูสร้อยไปมาและพิจารณาไข่มุกนั้นทีละเม็ดอย่างละเอียด แล้วก็โยนทิ้งไป ประชาชนชาวอโยธยาพากันบ่นว่า “เจ้าลิงโง่ เจ้าไม่รู้คุณค่าของสร้อยไข่มุกหรืออย่างไรจึงได้โยนทิ้ง”

หนุมานตอบว่า “ข้าฯ ไม่เห็นว่าไข่มุกเหล่านี้มีพระนามหรือรูปของพระรามสลักอยู่เลย มันจึงไม่มีค่าอะไร” ฝูงชนตอบว่า “ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ แม้แต่ร่างกายของเจ้าซึ่งไม่มีรูปของพระรามอยู่ก็ต้องไม่มีค่าด้วยซิ”

หนุมานได้ฟังดังนั้นจึงใช้เล็บมือทั้งสองข้างแหวกหน้าอกตัวเองออก ชาวอโยธยาพากันประหลาดใจว่า ที่หัวใจของหนุมานนั้น มีรูปพระรามและสีดาปรากฏอยู่

รูปหนุมานแหวกอกนี้ มักได้รับการวาดขึ้นเพื่อบูชาในหมู่สาวกของพระราม เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระเจ้าเสมอ

 

หนุมานชโลมไล้ผง “สินทูร”

ครั้งหนึ่งหนุมานได้เห็นพระแม่สีดา เจิมผง “สินทูร” สีแดงที่หน้าผาก ซึ่งเป็นประเพณีที่สตรีที่แต่งงานแล้วจะเจิมผงชนิดนี้ในทุกๆ วัน นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและสามี แต่หนุมานไม่เคยเห็นจึงถามพระแม่สีดาว่าทำสิ่งนี้ด้วยเหตุใด

สีดาตอบหนุมานว่า ทำเช่นนี้เพื่อที่จะให้พระรามมีอายุยืนยาว หนุมานได้ฟังก็นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วออกจากห้องนั้น

ครั้นเมื่อพระรามเสด็จออกยังท้องพระโรง หนุมานจึงเข้ามาเฝ้าด้วยร่างกายที่ฉาบทาผงสินทูรแดงไปทั้งตัว พระรามประหลาดใจจึงถามหนุมานว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น หนุมานตอบว่าพระแม่สีดาบอกว่าการทาผงสินทูรจะทำให้พระรามอายุยืนยาว เขาจึงทาผงชนิดนี้ทั้งตัวด้วยปรารถนาจะให้พระรามมีอายุยืนยาวมากๆ พระรามและสีดาต่างมีรอยยิ้มและอวยพรให้หนุมานเป็นอันมาก

นับตั้งแต่นั้น ในเทวสถานของอินเดีย เทวรูปหนุมานมักจะได้รับการฉาบทาด้วยผงสินทูรจากศาสนิกชนเป็นประเพณีบูชาสืบมา

 

หนุมานไม่ไปไวกูณฑ์

เมื่อพระรามครองอโยธยานับพันปี จนถึงเวลาที่พระองค์จะคืนสู่สภาวะพระวิษณุ เสด็จกลับไปอยู่ในไวกูณฑโลกอันเป็นสวรรค์ของพระองค์ตามเดิมแล้ว พระองค์พร้อมด้วยเสนามาตย์และชาวอโยธยาจำนวนมากมายได้เดินไปสู่แม่น้ำสรยู เพื่อกลับไวกูณฑ์ที่ทุกคนจะได้รับบำเหน็จเสวยทิพยสุขด้วยกันทั้งสิ้น

ในบรรดาผู้เสนามาตย์และผู้จงรักภักดีในพระรามนั้น มีเพียงหนุมานที่ไม่ยอมไปไวกูณฑ์ด้วย พระรามรู้สึกประหลาดใจว่าเหตุใดสาวกที่รักพระองค์ที่สุด จึงไม่ยอมตามเสด็จพระองค์ไปเสวยบำเหน็จรางวัลอันพึงได้

หนุมานตอบพระรามว่า ความสุขของเขามีเพียงการได้ยินได้ฟังคนเล่าเรื่องรามายณะ ได้ยินได้ฟังเรื่องราวของพระองค์ เขาปรารถนาจะอยู่ในโลกแห่งมรรตัยชนผู้รู้ตายนี้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือสาวก และได้ฟังรามายณะต่อไป

ดังนั้น ตามประเพณีของอินเดียแล้ว ที่ใดก็ตามที่มีการเทศนารามายณะ จะมีการเว้นที่นั่งไว้หนึ่งที่นั่งเสมอ เพื่อเป็นเกียรติแก่หนุมาน โดยเชื่อว่าหนุมานยังคงมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้เพื่อแอบปลอมตัวเข้าไปฟังรามายณะกับเราด้วย

โอ้ ราม!