สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ส่งเสริมครูให้เชื่อมั่นในการสอนด้วยเทคโนโลยี

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ไม่มีอะไรยากกว่าความพยายาม

ซาลามัด ปากี สวัสดีค่ะ

วันที่สองของการอบรมปฏิบัติการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีแก่ครูโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.ทินสิริ พิธีกรอินเตอร์ เปิดเวทีทักทายทุกคน

บ่ายวานหลังจากครูเฉลิมพรบรรยายจบ ครูเฮอร์วินและครูไซนุดดินช่วยกันปฏิบัติการให้ครูโหลดแอพพลิเคชั่นแนะนำการใช้โปรแกรม มีข้อมูลความรู้ทั้งหมวดวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ รวม 12 เรื่อง

ว่าด้วยเรื่องของน้ำหนัก การชั่งเครื่องชั่งสปริง เครื่องชั่งสองแขน เครื่องชั่งที่เอาสิ่งของมาถ่วง เรื่องการออกแบบ ขนาด พื้นที่ การคิดคำนวณ จำนวน การคูณ ทศนิยม เรื่องอิเล็กทรอนิกส์ การต่อวงจรเพิ่มตัวต้านทาน การวัดมาตรปริมาณ ยีน ดีเอ็นเอ ฯลฯ

กระตุ้นให้ครูมีความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าพื้นฐานอยู่ในระดับไหนสามารถพัฒนาได้ถ้าบรรยากาศสนุกสนาน เป็นกันเอง ทำให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน

 

เช้าวันใหม่เป็นการลงมือปฏิบัติการของทุกกลุ่ม ครูของครูทั้งสามคนและเจ้าหน้าที่เทคนิคขององค์กรพันธมิตรคอยช่วยกันแนะนำ แก้ปัญหาติดขัดในการเข้าสู่โปรแกรมต่างๆ

ฝึกสกัดความรู้จาก Virtual lab วิเคราะห์ออกมาเป็นผังความคิด Mind Map และทำผังก้างปลา โดยใช้นวัตกรรมเก่าต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เสร็จแล้วเชื่อมโยงไปสู่เครือข่าย Microsoft One Note

วิทยากรมอบหมายให้ทำตามลำดับคือ จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ เขียนแผนการสอน (Lesson Plan Format) ส่งเข้าสู่โปรแกรม One note online สร้างกระบวนการคิด การทำโครงงาน เพื่อนำไปทำกับนักเรียน

“ในแผนการสอน ต้องคิดว่า 1 คาบจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง การวางแผนที่ดีทำให้งานสำเร็จไปครึ่งหนึ่ง แล้วที่เหลือเป็นการปฏิบัติ” ครูเฉลิมพรย้ำ และว่า

แผนการสอน 7 ขั้นตอน เริ่มจาก

1. กลุ่มสาระการเรียนรู้ (Subject) อะไร

2. หัวข้อที่จะทำ เรื่องอะไร การหาหัวข้อให้คิดถึงปัญหาในท้องถิ่น ในชุมชนและเชื่อมโยงกับวิชาที่ครูสอนกลุ่มสาระไหน

การเขียนวัตถุประสงค์ทำเพื่ออะไร ควรได้ครบ 4 ส่วน 1.ความรู้ 2.กระบวนการ 3.คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 4.สมรรถนะ Competency ซึ่งมีทั้งหมด 5 ด้าน ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตการทำงานร่วมกัน และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

3. ภาระงาน ให้นักเรียนทำใบงานที่กำหนดและสร้างชิ้นงาน

4. กิจกรรมการเรียนรู้ ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นสำรวจและค้นหาปัญหา ก่อนคิดหาวิธีการแก้ไข

5. ออกแบบตัวนวัตกรรมที่จะนำมาแก้ปัญหา โดยเริ่มจากภาพ 3 มิติ ดึงวัสดุที่เอามาใช้

6. ลงมือสร้างนวัตกรรม ขั้นทดลองใช้/ปรับปรุงชิ้นงาน ขั้นแสดงผลงานโดยสื่อการเรียนรู้ อาจเป็นโปสเตอร์ สื่อลงในอินเตอร์เน็ต

7. ประเมินผล วัดผล และบันทึกหลังสอน

 

หลังจากแนะนำลำดับขั้นตอน การทำแผนการสอน ครูให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดหัวข้อเรื่องที่จะฝึกปฏิบัติ ทำโครงงานเรื่องอะไร ต้องคิดถึงหลัก เริ่มจากปัญหาในชุมชน สุดท้ายได้บทสรุปตรงกันว่าควรทำเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม Environment Issue ในโรงเรียน

โดยโครงงานต้องปรากฏนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาคืออะไร

ปรากฏว่าหัวข้อเรื่องของแต่ละกลุ่มได้แก่ ขยะในโรงเรียน ขยะเศษอาหารในโรงเรียน การบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำภายในโรงเรียน กลุ่มครูอินโดนีเซียใช้ชื่อว่า Waste Organic Management

ระหว่างกลุ่มครูกำลังง่วนกับการฝึกใช้โปรแกรม คิดหัวเรื่อง เขียนผังก้างปลา หานวัตกรรม ครูเฉลิมพรเอ่ยแซว “งานเลี้ยงต้องเลิกรา สัมมนาต้องเลิกเร็ว” นักเรียน ครูพากันหัวเราะสนุกสนาน

 

ผมนั่งสังเกตการณ์แล้วคิดถึงนักศึกษาครูในมหาวิทยาลัย ถ้าได้มาร่วมเวที และถอดบทเรียนการฝึกปฏิบัติออกมา คงเป็นประโยชน์ไม่น้อย

เพราะสิ่งที่ครูของครูฝึกก็คือเทคนิคการเรียนวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ สอนวิธีคิด ขั้นตอนการทำซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับวิชาอื่นๆ ได้หมด เพราะหัวใจของมันก็คือ การสอนให้คิด วิเคราะห์ หาเหตุและผล ปัญหาและทางออก คิดนวัตกรรมใหม่เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา ไม่ว่าต่อยอดจากของเดิมหรือคิดขึ้นใหม่ก็ตาม

“เคยเอากระบวนการนี้ไปอบรมครูทุกสาระไม่เฉพาะแต่กลุ่มครูวิทยาศาสตร์ ผลการนำไปใช้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ปัญหายังมีอยู่ ทำอย่างไรให้ครูกลุ่มสาระต่างๆ นำกระบวนการนี้ไปพัฒนาการเรียนการสอน”

ติดตามการฝึกครู แล้วอดเกิดคำถามไม่ได้ว่า ฝึกเพื่อใช้ในการเรียนการสอน กับทำให้เกิดการลงมือปฏิบัติจริง จนพฤติกรรมของคน ของนักเรียน ของครูเปลี่ยนไปจริงๆ หรือไม่

“คะแนนเพิ่ม ขยะลด หรือคะแนนเพิ่ม ขยะเพิ่ม” ผมตั้งประเด็นการสอนกับชีวิตจริง ระหว่างสนทนากับคุณเยาวลักษณ์ คนคล่อง นักวิชาการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งนั่งสังเกตการณ์ฝึกปฏิบัติอยู่ด้วย

ฝึกปฏิบัติการทำโครงงานให้นักเรียนมีความรู้ ทำได้ผลก็ยากแล้ว สอนให้ลงมือทำ นำผลไปใช้ในชีวิตจริงยิ่งยากกว่า

นวัตกรรมที่ได้จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือกลไก กระบวนการ ประสานความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา เป็นความสำเร็จในเบื้องต้นแล้ว

 

“การฝึกปฏิบัติ ครูทำให้เกิดกระบวนการคิดกับเด็ก จากครูที่เคยชินกับการสอนแบบ Passive Learning คอยบอกความรู้ นักเรียนคอยรับสิ่งที่ครูบอก มาเป็นการเรียนรู้โดยเน้นให้ผู้เรียนลงมือทำ Active Learning” พิธีกรย้ำ หลังจากครูทุกกลุ่มเสร็จสิ้นภารกิจ

ขอให้ทุกกลุ่มนำผลงาน นวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไปปรับ แล้วส่งออนไลน์มาในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ให้วิทยากรประเมินและแชร์ให้รับรู้ทั่วกัน ก่อนปิดท้ายเวทีด้วย นิทานเรื่องรถไฟขบวนเล็ก ขนถ่านหินขึ้นภูเขาสูง

เริ่มแรกคนขับแหงนมองขึ้นไปก็รู้สึกท้อ คงไม่ไหวแน่ แต่ก็เริ่มเคลื่อนขบวนไปทีละน้อยๆ ความคิดค่อยๆ เปลี่ยนไป

I Think I Can วันหนึ่งฉันต้องทำได้ รถเคลื่อนไป คิดไปตลอด I Think I Can จนถึงยอดเขาได้ในที่สุด

“เป้าหมายไม่ใช่แค่ยอดเขา แต่คือความภูมิใจในสิ่งที่เราทำ ฉะนั้น ไม่มีอะไรยากไปกว่าความพยายาม” พิธีกรกล่าวปิดท้าย

เวทีฝึกปฏิบัติการจบลงด้วยเสียงปรบมือ เสียงหัวเราะ และความหวังว่า 18 สิงหาคม วันวิทยาศาสตร์ปีต่อๆ ไปจะปรากฏนวัตกรรมเข้าสู่เวทีการแข่งขันโครงงานดีเด่นแห่งปี เป็นเกียรติประวัติแก่นักเรียน ครู และโรงเรียนเพิ่มขึ้นๆ