บทวิเคราะห์ : อีกวิบากกรรมอสังหาฯ ระวังแรงงานก่อสร้างขาด

อาจเป็นประเด็นที่ขัดกับสามัญสำนึกอยู่หน่อยหนึ่งว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ต้องระมัดระวังปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่า ระยะนี้ธุรกิจอสังหาฯ บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม เป็นช่วงขาลง ยอดจองไม่พุ่งฉิว และที่หนักหนาสาหัสจริงๆ ก็คือเรื่องผู้ซื้อที่อยู่อาศัย กู้ไม่ผ่าน สถาบันการเงินไม่อนุมัติ

แต่ขอยืนยันว่า ต้องระวังเรื่องแรงงานไม่เพียงพอจริงๆ

แม้ธุรกิจอสังหาฯ ภาพรวมจะชะลอตัวลง บริษัทอสังหาฯ ชะลอการเปิดตัวโครงการ ทำให้มีการใช้แรงงานเกี่ยวกับการก่อสร้างน้อยลง

แต่โครงการขนาดใหญ่ภาครัฐที่มีการเร่งอนุมัติโครงการในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน ก็จะเริ่มมีการลงมือก่อสร้างซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมหาศาล

การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ยักษ์ภาคเอกชน ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว ก็จะมีความต้องการใช้แรงงานก่อสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่า โครงการ ONE BANGKOK ที่ถนนพระราม 4 และถนนวิทยุ โครงการเดียวก็มีขนาดพื้นที่รวมที่ต้องก่อสร้าง 1.6 ล้านตารางเมตร

คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงก่อสร้างและอสังหาฯ อาจนึกภาพไม่ออกว่า 1.6 ล้านตารางเมตรใหญ่ยักษ์ขนาดไหน ที่ผ่านมาห้างสรรพสินค้าที่เห็นว่าใหญ่ๆ ที่มีการก่อสร้างกันมา ก็จะมีขนาดหลักแสนตารางเมตรเท่านั้น

ธุรกิจอสังหาฯ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะถูกปัญหาขนาบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

 

ด้านหน้า ยอดจองใหม่ ยอดขายใหม่ ทำได้ยากขึ้นเพราะปัญหากำลังซื้อชะลอตัวต่อเนื่องหลายปีและยังไม่มีท่าทีว่าจะเงยหัวขึ้น

ระหว่างกลาง ลูกค้าที่จองไปแล้วอยู่ระหว่างผ่อนชำระเงินดาวน์ ถึงกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ สถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยสินเชื่อ หรือกู้ไม่ผ่าน

ด้านหลัง ยอดขายที่ไม่มากอยู่แล้ว แต่ในงานก่อสร้างอาจเจอปัญหาแรงงานไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะแรงงานถูกดึงไปที่โครงการขนาดใหญ่ยักษ์ภาครัฐและเอกชน

ปัญหาลักษณะนี้ นับเป็นเรื่องแปลกที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย

ไม่รู้จะเรียกว่า เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในวงการก่อสร้างอสังหาฯ ได้รึเปล่า (ฮา)

เป็นปัญหาแปลกชวนพิศวง

เงินสดหรือสภาพคล่องล้นแบงก์ แต่ธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กทั่วไป กู้ได้ยากมาก

หลายปีมานี้ คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เท่าเดิม คนในภาคเกษตรมีรายได้ลดลง เพื่อรักษาระดับการครองชีพให้อยู่ในระดับเดิม คนเหล่านี้ใช้เงินกู้เพื่อซื้อปัจจัย 4 บ้าน รถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้เกิดปัญหา “หนี้ครัวเรือน”

“หนี้ครัวเรือน” ถูกกล่าวโทษว่าเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจ แต่ถ้าคนกลุ่มใหญ่ไม่ก่อหนี้ครัวเรือนการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าพื้นฐานจะเหลือเท่าไหร่

ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้มากขึ้นจากการทำมาหากิน มิใช่เงินรับบริจาคยังชีพชั่วครั้งชั่วคราว

ไตร่ตรองให้ดี ให้รอบคอบ แล้วไปตัดสินใจกันที่คูหาเลือกตั้ง

คิดจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย อย่าแค่บ่น