คุยกับทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี บทบาทของอิหร่านวันนี้ และ กรณี “คว่ำบาตรจากสหรัฐฯ”

คุยกับทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี บทบาทของอิหร่านวันนี้

“เป็นที่น่าเสียดาย ตั้งแต่คณะบริหารชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ทำเนียบขาว ชาวโลกก็ได้รับรู้เรื่องที่ทำให้แปลกใจรายวัน เพราะสหรัฐปฏิเสธที่จะดำเนินตามข้อตกลงแบบทวิภาคีหรือข้อตกลงระหว่างประเทศดังที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาและอนุสัญญาไว้ อันเนื่องมาจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First)”

นายมุห์เซน โมฮัมมาดี (H.E. Mr. Mohsen Mohammadi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทยกล่าว และเริ่มต้นเล่าถึงมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่โดยสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลสหรัฐได้เริ่มบังคับใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจแบบเต็มรูปแบบกับอิหร่านอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังจากมาตรการคว่ำบาตรครั้งแรกถูกยกเลิกไปเมื่อบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี ค.ศ.2015

โดยสหรัฐอ้างว่า ครั้งนี้เป็นการคว่ำบาตรครั้งรุนแรงที่สุดที่เคยมีมา เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการซื้อขายน้ำมัน รวมถึงภาคธนาคารและการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของอิหร่าน

“สหรัฐอเมริกาได้ละเมิดข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP), ข้อตกลงปารีส (Paris Climate Accord), นาฟต้า (NAFTA), ระบบการค้าต่างประเทศ (global trade system), ข้อตกลงทางการค้าเอเชียแปซิฟิก (Asian-Pacific trade deal), สงครามทางการค้ากับประเทศจีน, งานบางหน่วยในเครือข่ายสหประชาชาติ, การต่อต้านกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ G7, ยุติการเข้าร่วมสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางกับสหภาพโซเซียต (INF) ที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็นตั้งแต่ปี ค.ศ.1987”

ท่านทูตชี้แจง

“ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนของพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการทำลายระบบพหุภาคี กฎหมายระหว่างประเทศ และโอกาสในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศโดยใช้การทูตเข้ามาช่วย อีกทั้งยังได้ทำลายความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่ชาวโลกมีต่อสหรัฐอีกด้วย”

“เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2018 สหรัฐอเมริกาก็ได้ท้าทายต่อคำเตือนจากสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และประเทศที่ได้ลงนามในแผนปฏิบัติการร่วมฉบับครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA) รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศถึงการตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียวและมิชอบด้วยกฎหมายด้วยการถอนตัวของสหรัฐจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎต่อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 2231 รวมทั้ง JCPOA ด้วย”

ข้อตกลงนิวเคลียร์หรือข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (JCPOA) เป็นข้อตกลงระหว่างอิหร่านและ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี หรือที่รู้จักกันในกลุ่ม P5+1 และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.2015

ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ อิหร่านจะจำกัดปริมาณการสะสมและการผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะซึ่งเป็นธาตุยูเรเนียมชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวมถึงใช้ในอาวุธนิวเคลียร์เป็นเวลา 15 ปี เพื่อแลกกับการที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้ต่ออิหร่านก่อนหน้านี้

โดยมีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์

“หลังจากนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ได้อนุมัติคำสั่งคว่ำบาตรประเทศอิหร่านรอบใหม่ (U.S. Sanctions against Iran) ที่ขัดต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน ทั้งประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงนี้ก็ได้สละเวลากว่า 100 ชั่วโมงในการเจรจาแบบทวิภาคีและพหุภาคี นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังเพิกเฉยต่อความพยายามของอิหร่านในการดำเนินตามข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (JCPOA) ซึ่งอิหร่านได้รับคำยกย่องจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แล้ว”

ท่านทูตยืนยัน

“การกระทำดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงได้ขัดต่อข้อตกลงภายใต้ JCPOA, ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 2231, การละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและหมิ่นประมาทกฎหมายระหว่างประเทศ และฝ่าฝืนคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนของรัฐบาลสหรัฐในประกาศแอลเจียร์ (Algiers Declaration) ปี ค.ศ.1981 โดยประกาศอย่างเปิดเผยถึงนโยบายการเข้าแทรกแซงโดยตรงในกิจการภายในของอิหร่าน”

“และยิ่งไปกว่านั้น ประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐยังได้ขู่ทุกประเทศที่ดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 2231 และประเทศที่ไม่ยุติข้อตกลงกับประเทศอิหร่านก็อาจถูกสหรัฐคว่ำบาตรอย่างหนักด้วย”

“แม้แต่ศาลโลก (ICJ) ก็ได้ประณามการกระทำของสหรัฐหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้ถอดถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ร่วมกับอิหร่าน ทั้งยังประกาศด้วยว่าจะทำการคว่ำบาตรคนอิหร่าน”

“ดังที่ประธานาธิบดีโรฮานิกล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติ ที่คำเชื้อเชิญให้ละเมิดกฎหมาย ควบคู่ไปกับการคุกคามผู้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการลงโทษ!”

ในแง่ผลกระทบของการคว่ำบาตร เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทยนายมุห์เซน โมฮัมมาดี แสดงความคิดเห็นว่า

“เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ประชาชนชาวอิหร่านต้องเผชิญอย่างกล้าหาญในการถูกต่อต้านขัดขวางและได้รับความกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงการคว่ำบาตรเดี่ยวแบบนอกเขตอำนาจและแบบพหุภาคีซึ่งรวมไปถึงความพยายามในการทำรัฐประหาร การเข้าแทรกแซงทางทหาร การให้ความสนับสนุนอิรักเพื่อเข้าบุกรุกอิหร่าน ตลอดจนการยิงเครื่องบินพาณิชย์ของอิหร่านโดยเรือลาดตระเวน USS Vincennes ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.1988 ทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 290 คน”

“ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐยังได้สนับสนุน Mossad เพื่อสังหารนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่าน ทำลายแผนการใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติโดยโจมตีทางโลกไซเบอร์ ทำการปลอมแปลงเอกสารเพื่อหลอกชาวโลกเรื่องแผนการใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติของอิหร่าน และอีกมากมาย”

IMM JOURNAL กล่าวว่า มอสซาด (MOSSAD) คือหน่วยปฏิบัติการลับของอิสราเอล ซึ่งมีภารกิจดำเนินการลอบสังหารบุคคลที่มีชื่อเสียงทั่วโลก รวมถึงการลอบสังหาร “Mahmood Mebhouh” ผู้นำคนสำคัญของขบวนการฮามาสในดูไบ ลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ของอิหร่าน และลอบสังหารอิมาด มุฆ์นิยาห์ ผู้นำคนสำคัญของขบวนการฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน หน่วยนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 47 ปีก่อนโดยอาเรียล ชารอน ผู้บัญชาการกองกำลังไซออนิสต์โซนภาคใต้

“ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า เศรษฐกิจของประเทศอิหร่านเติบโตอย่างช้าๆ ขณะที่ประชาชนในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ยารักษาโรคที่ทันสมัย ความปลอดภัยของเครื่องบิน และเรื่องอื่นๆ จึงทำให้เกิดผู้ประสบเคราะห์กรรมดังกล่าวจำนวนมาก”

“แต่เราโชคดี เพราะอิหร่านเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ดังนั้น เราจึงมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสิ่งของและเทคโนโลยีที่จำเป็นแม้ว่าเราจะถูกคว่ำบาตรก็ตาม การคว่ำบาตรเป็นการบีบให้อิหร่านต้องพึ่งตนเองในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการ และสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของเราเอง”

“มีสิ่งหนึ่งที่ควรระลึกก็คือ การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวที่สหรัฐได้ดำเนินการนี้ โดยพื้นฐานแล้วแตกต่างจากการคว่ำบาตรครั้งก่อนๆ วิกฤตการณ์ครั้งนี้จึงไม่ได้ยากลำบากเหมือนครั้งก่อนๆ เนื่องจากมีเพียง 3-4 ประเทศเท่านั้นที่ร่วมกับสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน”

“สหภาพยุโรป รัสเซีย และจีนได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมข้อตกลงในการคว่ำบาตรของสหรัฐ อีกทั้งยังทำการค้าขายกับประเทศอิหร่านอย่างแน่นแฟ้น ไม่มีท่าทีว่าจะดำเนินการตามสหรัฐแต่อย่างใด”

“ในการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 (ASEM12) เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม 2561 กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม สมาชิก 51 ประเทศได้ประกาศว่า การจัดการข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านนั้นสะท้อนให้เห็นถึงการเคารพข้อตกลงระหว่างประเทศ”

“ผมจึงมีความมั่นใจอย่างมากว่า เราจะฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี เหมือนที่เราได้เคยฟันฝ่ามาแล้วเมื่อครั้งก่อน”