กรองกระแส / 2 แพร่ง การเมือง ไม่เอาประยุทธ์ ไม่เอาเพื่อไทย ของประชาธิปัตย์

กรองกระแส

2 แพร่ง การเมือง

ไม่เอาประยุทธ์ ไม่เอาเพื่อไทย

ของประชาธิปัตย์

 

แม้จะสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากจากคำประกาศไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจ ไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์มิได้ปฏิเสธการร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ

หากเทียบกับท่าทีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงออกต่อพรรคการเมืองที่มิได้อยู่ในแนวทาง “ประชาธิปไตยสุจริต” พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธพรรคเพื่อไทยรุนแรง แข็งกร้าวมากกว่า

คำประกาศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมิได้เป็นความขัดแย้งชนิดแตกหัก

ในความเป็นจริง พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคพลังประชารัฐยังมีความเป็นมิตรระหว่างกันอยู่เมื่อเทียบกับพรรคเพื่อไทย ในความเป็นจริง พรรคประชาธิปัตย์เพียงแต่ปฏิเสธตัวบุคคลคือ การสืบทอดอำนาจโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

ลักษณะผ่อนปรนก็คือ เมื่อใดที่พรรคพลังประชารัฐไม่เอาหรือไม่ยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสืบทอดอำนาจผ่านตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อนั้นพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังสามารถร่วมกันได้

แท้จริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์มิได้ถอยออกจากพรรคพลังประชารัฐ แท้จริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ยังคงจับมือกับ คสช. เพียงแต่ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

 

กลยุทธ์ เบียดขับ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

การต่อต้านของพรรคประชาธิปัตย์โดยคำประกาศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมิได้เป็นการต่อต้านสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบ คสช.” หากเสมอเป็นเพียงการตัดเนื้อร้ายออกไปโดยถือเอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเป้า เป็นประเด็น

เป็นการเบียดขับเพื่อเสนอตัวเองคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าไปแทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้นเอง

ความคิดทำนองนี้หากติดตามอย่างต่อเนื่องก็จะสัมผัสได้

สัมผัสได้ 1 จากบทสรุปที่ว่า “กองหนุน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถดถอยและน้อยลงเป็นลำดับ จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สัมผัสได้ 1 จากบทความขนาดยาว “8 เหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป” ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

เหล่านี้คือรูปธรรมสะท้อนให้เห็นว่า เวลาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะหมดลงแล้วภายหลังจากแสดงฝีมือมาเกือบ 5 ปี

จากเงื่อนไขนี้เองที่พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เสนอตัวเข้ามา

คำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์จึงเหมือนกับเป็นความขัดแย้งและเหมือนกับจะเสนอทางเลือกใหม่ แต่หากเป็นความขัดแย้งก็เสมอเป็นความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มอำนาจนำด้วยกัน มิได้เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงแข็งกร้าว

เป็นสัญญาณจบสำหรับตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่มิได้หมายถึงบทสุดท้ายของระบอบ คสช.ในทางเป็นจริง

 

ระบอบ รัฐประหาร

ฐานอำนาจ “คสช.”

 

แม้ว่าภายหลังการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมิได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากเป็นของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทย

แต่นั่นก็มิได้แสดงว่าอำนาจของ คสช.จะหมดไป การสืบทอดอำนาจจะยุติลงเพียงเพราะไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ยังอยู่

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ก็ยังอยู่โดยหันมาเสพสามัคคีรสร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ส.ว. 250 คนที่มาโดย คสช.ก็ยังอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถกำชัยในการเลือกตั้งได้ตามความปรารถนาของตนหรือไม่ ยิ่งกว่านั้น พรรคพลังประชารัฐจะงอก่องอขิงสยบยอมให้กับข้อเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

ยิ่งไกว่านั้น ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะสามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ จะสามารถสยบกระแสของพรรคอนาคตใหม่ได้หรือไม่ในทางเป็นจริง

เพราะในที่สุดแล้วคำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้ทำให้กลายเป็นขั้วที่ 3 ในทางเป็นจริง หากแต่ยังอยู่ขั้วเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น

 

หมาก ประชาธิปัตย์

อาจรุ่งโรจน์ พ่ายพัง

 

คําประกาศของพรรคประชาธิปัตย์อาจเสมอเป็นทางเลือก แต่ทางเลือกนี้ก็ไม่กระทบต่อฐานเดิมของพรรคเพื่อไทย และไม่แน่ว่าจะสามารถกลบกระแสของพรรคอนาคตใหม่ได้หรือไม่

ยิ่งกว่านั้น การช่วงชิงระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์ก็จะปะทุขึ้น

กลายเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่ต้องสู้กับพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ หากแต่ยังต้องสู้กับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทยอีก

พรรคประชาธิปัตย์จึงอยู่บนทางเลือกที่อาจจะรุ่งโรจน์หรืออับจนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง