แพทย์ พิจิตร : ทัศนะปฏิกิริยานิธิต่อ “ธรรมชาติ” vs “ขนบธรรมเนียม” กรณี “ศรีธนญชัย”

จากที่ผู้เขียนได้นำเสนอการศึกษาความคิดทางการเมืองไทยที่บุกเบิกโดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ ที่ปรากฏเป็นตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2523 (แต่อาจารย์ชัยอนันต์ได้เปิดสอนวิชานี้มาก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะออกมาอยู่หลายปี!)

และก่อนจะตีพิมพ์เป็นหนังสือ อาจารย์รัฐศาสตร์ทั้งสองได้ให้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ประวัติศาสตร์อ่านและเขียนบทวิจารณ์ที่ปรากฏอยู่ตอนท้ายของหนังสือภายใต้หัวข้อ “ปฏิกิริยา”

โดยอาจารย์นิธิได้ให้ความเห็นบางประการว่า ในการศึกษาหรืออีกนัยหนึ่ง “การอ่านและตีความ” ตัวบทที่อาจารย์รัฐศาสตร์ทั้งสองท่านจัดว่าเป็น ตัวบทหรือ “text” ที่สะท้อนความคิดทางการเมืองไทยนั้น เป็นการอ่านและตีความที่มองผ่านทฤษฎีการเมืองตะวันตกมากกว่าที่จะเป็น “การอ่านและตีความ” ให้ถึงและเข้าใจในนัยของความคิดทางการเมืองแบบไทย

และถ้าจะพูดถึง “แบบไทย” จริงๆ แล้ว อาจารย์นิธิในฐานะนักประวัติศาสตร์ก็ยังมีข้อสงวนที่จะไม่ฟันธงว่า มันมีความคิดทางการเมือง “แบบไทย” จริงๆ

และจะว่าไปแล้ว นักประวัติศาสตร์ที่เคร่งครัดในข้อมูลรายละเอียดและบริบท ก็มักจะชี้ให้เห็นว่า ความเป็นไทย ความเป็นชาตินั้นเป็นสิ่งที่จินตนาการสร้างกันขึ้นมา และมักจะถูกสร้างจากชนชั้นปกครองหรือผู้ผูกขาดศูนย์อำนาจ ซึ่งพยายามจะทำให้วัฒนธรรมของตนที่เป็นเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะกลุ่มครอบงำเหนือวัฒนธรรมความคิดของภาคส่วนอื่นๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสังคม

 

อาจารย์นิธิได้ตั้งข้อสังเกตการอ่านและตีความ “ศรีธนญชัย” ของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติว่าเอาแนวคิดฝรั่งมาอ่านและตีความ ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้คือ แนวคิดของความขัดแย้งระหว่าง “nomos” และ “physis” หรือ “ขนบประเพณีกฎหมายที่สังคมกำหนด” กับ “ธรรมชาติ” ที่ปรากฏในความคิดทางการเมืองกรีกโบราณ

ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายขยายความและลองอ่านและตีความศรีธนญไชยผ่านแนวคิดไปก่อนหน้านี้

แม้ว่าผู้เขียนจะพยายามตีความเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างมีเหตุมีผลที่จะอ่านและตีความศรีธนญชัยตามกรอบแนวคิดกรีกโบราณดังกล่าว แต่ก็เชื่อว่า นักวิชาการสายประวัติศาสตร์แนวท่านอาจารย์นิธิก็คงจะยังยากที่จะคล้อยตาม

ไม่ทราบเป็นเพราะการตีความของฝ่ายอาจารย์รัฐศาสตร์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือพอ หรือเป็นเพราะจุดยืนในแนวทางการศึกษามันต่างกันชนิดที่ไม่สามารถรับอะไรกันได้เลย เพราะมีจุดตั้งต้นและมองกันคนละโลก (ทัศน์) อยู่แล้ว หรือดีไม่ดี อาจจะใหญ่ถึง จักรวาลทัศน์เลยก็ได้

ฝ่ายรัฐศาสตร์โดยเฉพาะปรัชญาการเมืองจะมีฐานคิดเรื่องความเป็นสากลของการเมืองอยู่ และเมื่อพูดถึงความคิดทางการเมือง ก็ย่อมจะมองหานัยยะที่สะท้อนความเป็นสากลของการเมือง ที่ไม่ว่าจะที่ไหนเมื่อไร การเมืองก็คือการเมือง จะมีประเด็น ปัญหาความขัดแย้งที่ไม่ต่างกันนัก

 

ส่วนฝ่ายประวัติศาสตร์ ที่จริง ก็ไม่ได้จะตั้งหน้าปฏิเสธความเหมือนกันของนัยยะทางการเมืองในแต่ละที่แต่ละช่วงเวลา เพียงแต่จะไม่ตั้งฐานคิดเรื่องความเป็นสากลไว้ตั้งแต่แรก แต่จะตั้งฐานคิดว่าเรื่องราวแต่ละที่แต่ละช่วงเวลา มันจะมีเนื้อหาสาระเฉพาะของมันอยู่

ซึ่งนักประวัติศาสตร์ที่ดีควรจะศึกษาในรายละเอียดลึกลงไปจริงๆ และพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้เป็นภาพใหญ่อย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราวาดฝันอยากให้มันเป็น

และถ้ามันเกิดได้ภาพรวมที่มีความคล้ายคลึงกันกับเรื่องราวของที่อื่นและในช่วงเวลาอื่น ก็ค่อยสรุปให้เห็นถึงความคล้าย

แต่นักประวัติศาสตร์จะยืนยันว่า มันไม่มีทางเหมือนกันหรือเป็นสากลอย่างที่นักรัฐศาสตร์ฝ่ายปรัชญาการเมืองเชื่อ เพราะกาละและเทศะมันมีพลังของมัน และคนก็แตกต่างกันไปตามพื้นที่และยุคสมัย

ผู้เขียนเคยหยิบยกการเปรียบเทียบวิธีมองหรือศึกษาของนักปรัชญาการเมืองกับนักประวัติศาสตร์ที่นำเสนอโดยคลิฟฟอร์ด เกียทซ์ (Clifford Geertz) นักมานุษยวิทยาชั้นนำของโลกไปแล้ว นั่นคือ เกียทซ์บอกว่า การมองเรื่องราวของนักปรัชญาการเมืองเปรียบได้กับคนที่อยู่บนเครื่องบินที่บินอยู่ระดับสูงและมองลงมาที่พื้นดิน ก็มักจะมองเห็นอะไรเป็นกลุ่มก้อนๆ ใหญ่ๆ และเหมือนๆ กันไปในทุกที่

ส่วนการมองของนักประวัติศาสตร์หรือรวมทั้งนักมานุษยวิทยาแบบเกียทซ์คือ ไม่ได้บินสูงแต่อยู่ติดหรือใกล้ชิดกับเรื่องราวหรือสิ่งที่กำลังศึกษา อันจะทำให้เห็นรายละเอียดปลีกย่อย และก็จะพบว่า มันไม่ได้เหมือนๆ กัน

พูดง่ายๆ ก็คือ เกียทซ์กำลังบอกว่า นักปรัชญาการเมืองมองหยาบ ส่วนนักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาอย่างเขามองละเอียด

พูดอีกทีก็คือ เกียทซ์บอกว่า นักปรัชญาการเมืองมองไม่เห็น “ความจริงอย่างที่มันเป็น”

 

ทีนี้ คำถามคือ จะมองยังไงถึงจะถูก?

มองแบบใกล้ๆ หรือมองแบบไกลๆ?

เพราะถ้ามองไกลๆ ยังไงมันก็เห็นภาพแบบนั้น และถ้ามองใกล้ๆ มันก็จะเห็นอีกแบบหนึ่ง

จากคำถามนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำกรีกโบราณคำหนึ่ง นั่นคือ คำว่า theorein ที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า theory หรือที่ภาษาไทยเราแปลว่า ทฤษฎี

โดยคำว่า theorein มีความหมายดั้งเดิมหมายถึง “การมอง หรือ to look at” และที่น่าสนใจก็คือ คนที่แปลคำว่า theory ว่า ทฤษฎี ก็น่าจะมีความเข้าใจในคำว่า theory ดี และอาจจะพลอยเข้าใจไปถึงคำว่า theorein ด้วยซ้ำ

เพราะคำว่าทฤษฎี เดิมทีมีความหมายไม่ต่างกับคำว่าทิฐิ นั่นคือ หมายถึง “ความเห็น” และ “ความเห็น” หรือ “การเห็น” นี่ มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องสัมพันธ์กับ “การมอง” นั่นเอง

แต่จะมองด้วยตาหรือมองด้วยปัญญาหรือกรอบคิดอะไรก็แล้วแต่จะว่ากันไป

จำได้ว่า เคยมีผู้รู้เล่าให้ฟังว่า คำว่า theory นี่ในปรัชญาความคิดกรีกโบราณนั่น ต้องการสื่อถึงการมองให้เห็นถึงความจริงแท้ของความรู้ในสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่สักแต่ว่ามองเห็นเฉยๆ

และการมองให้เห็นและได้ความรู้ถึงความจริงแท้ของสิ่งนั้นๆ ก็จะต้องมองจากระยะห่างที่พอเหมาะพอสม ไม่ใช่มองไกลไปหรือมองใกล้ไป

ยกตัวอย่างของที่เป็นวัตถุ เช่น ทัมป์ไดรฟ์สีขาว ถ้ามองไกลไป เราก็จะเห็นมันเป็นแท่งหรือจุดดำๆ อะไรสักอย่างหนึ่งที่แยกไม่ออกจากยางลบ

ขณะเดียวกัน ถ้ามองเสียใกล้ไป ก็จะเห็นแต่อะไรไม่รู้ที่ดำใหญ่คับตา และมองไม่เห็นหัวและปลายของมัน และถ้ามองยางลบใกล้ๆ ก็จะได้ภาพไม่ต่างจากที่มองทัมป์ไดรฟ์สีขาว

ดังนั้น การจะมองให้ “เห็น” ความจริงของทัมป์ไดรฟ์หรือยางลบ คงต้องมีระยะห่างที่พอดีพอเหมาะ ไม่งั้นก็เหมือนตาบอดคลำช้าง บ้างว่า ช้างมีรูปร่างยาวๆ เพราะไปจับที่งวง เป็นต้น

ดังนั้น การมองให้ “เห็น” คือ ต้องเห็น “องค์รวม” ของสิ่งนั้นให้ได้ และยังจะต้องเห็นความจริงของมัน โดยเฉพาะสิ่งที่มีชีวิต

เราจะไปดูลูกแมว แล้วบอกว่า นี่คือความจริงของความเป็นแมว ก็น่าจะยังไม่ได้ เพราะลูกแมวที่เพิ่งคลอดก็ไม่ต่างจะทำอะไรได้แตกต่างจากลูกหมา ลูกเสือ ลูกสิงโต เพราะการมองที่ลูกแมวก็ดูจะไม่ต่างจากการมองที่ปลายข้างหนึ่งของทัมป์ไดรฟ์ ดังนั้น เราจึงต้องมองให้เห็นปลายอีกข้างหนึ่งของลูกแมวด้วย นั่นคือ เมื่อมันโตเป็นแมวที่สมบูรณ์

แต่กระนั้น การบอกว่า ต้องมองให้เห็น “องค์รวม” คือตั้งแต่ต้นจนปลาย ก็มีปัญหาอยู่ดี เพราะถ้าเชื่อในการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ปลายมันไม่เคยปิด องค์มันไม่เคยจะรวมได้เลย ดีไม่ดีมันไม่เคยอยู่นิ่งให้ “มองเห็น” ได้ ไอ้ที่ “มองเห็น” นั่น มันแค่ส่วนเสี้ยวเดียวของสิ่งนั้น ขณะนั้น เวลานั้น แต่ก็จินตนาการไปว่าได้เห็นแล้วได้เข้าใจแล้ว ได้เข้าถึงความจริงแล้ว อัญญาสิ ยุเรคา!!

พูดไปแบบนี้ ดูเหมือนจะไม่มีทางไป ต้องละโลก เลิกศึกษามันไปเสีย เพราะยังไงก็ไม่มีทางเข้าถึงได้ นักวิชาการจำนวนหนึ่ง เมื่อมาถึงจุดนี้ ก็มักจะเข้าใจว่า เห็นสัจธรรมของวิชาการที่ไม่สามารถหาความจริงอะไรได้ จึงละทิ้งวิชาการไป และบางทีก็ถึงกับไปบวชเลยก็มี

แต่จริงๆ แล้ว มันมีทางออก!