คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา กับหลากเรื่องราวใน “รามายณะ” ที่เราไม่ค่อยรู้ (2)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คนฮินดูเคร่งๆ รุ่นเก่าๆ มักบอกว่า ให้สอนรามายณะกันในบ้าน เพราะเป็นเรื่องของพี่น้องรักกัน เรื่องศีลธรรมของครอบครัวและสังคม นับว่าเป็นสวัสดิมงคล

ส่วนมหาภารตะนั้นเป็นเรื่องญาติวงศ์เข่นฆ่ากันเอง แม้จะเต็มไปด้วยคติธรรมมากมาย แต่ท้องเรื่องหลักโหดร้ายทารุณ เต็มไปด้วยกลโกงนานาชนิด ท่านว่างั้น

ในทางหนึ่ง รามายณะมีลักษณะแบบแฟนตาซีมากกว่า เพราะเต็มไปด้วยเรื่องอมนุษย์ ส่วนมหาภารตะ แม้จะมีเรื่องราวของเทพเจ้าอยู่ตลอด แต่แก่นเรื่องคือสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ผมเห็นว่าสนุกกันคนละแบบ

ในรามายณะมีเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมาย ซึ่งทำให้ผู้ฟังโดยเฉพาะในอินเดียซาบซึ้งใจ ผิดกับของเราที่ไม่ได้เน้นอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้มากนัก

ผมจึงขอเก็บเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าใหม่เล็กๆ น้อยๆ ท่านใดสนใจรายละเอียดโปรดอ่าน The Book of Ram โดย Devdutt Pattanaik คนโปรดของผม แล้วท่านจะได้ทั้งความรู้ ความอิ่มเอมเปรมใจ เพราะเทวทัตต์เขียนง่าย สนุก และเข้าถึงหัวใจของบรรดาเทวตำนาน

รวมทั้งยังชวนเรา “ถอดรหัส” ต่างๆ อีกด้วย

 

งานชุด The Book of … เป็นงานที่เขาเขียนเล่าถึงเทพเจ้าและศาสดาต่างๆ เป็นซีรี่ส์ยาว เช่น เจ้าแม่กาลี พระเทวี พระคเณศ พระพุทธะ นบีโมหัมหมัด หนุมาน พระกฤษณะ คุรุนานักเทพ ฯลฯ น่าตามอ่านทุกเล่ม

ส่วนเล่มนี้เทวทัตต์เล่ารามายณะใหม่ โดยแบ่งออกเป็นบทต่างๆ ตามบทบาทที่พระรามเป็น เช่น ลูกท้าวทศรถ ก็พูดถึงพระรามในฐานะลูก สามีของสีดาก็พูดถึงความสัมพันธ์กับสีดา นายของหนุมาน พี่ของพระลักษมณ์ ฯลฯ

บางเรื่องเราก็เคยได้ยิน บางเรื่องเราไม่เคยได้ยินได้ฟังกันเลย เพราะผู้เขียนนำมาจากรามายณะฉบับต่างๆ กันในอินเดีย รวมทั้งตำนานพื้นบ้านด้วย

จะขอยกมาดังนี้

 

เรื่องพระพรตว่าราชการในกระท่อม

เมื่อพระรามออกจากรุงอโยธยา หลังจากพระบิดาทรงรับคำขอจากนางไกเกยีพระมารดาของพระพรต ให้พระพรตครองราชย์แทน

พระพรตกลับมาพบแต่ความว่างเปล่า จึงออกตามพระรามไป แล้วทูลขอให้กลับมาครองอโยธยาตามธรรมเนียม พระรามปฏิเสธ

พระพรตจึงทูลขอพระรามว่า เมื่อครบกำหนดให้รีบเสด็จกลับมาโดยทันที และขอ “ปาทุกา” หรือฉลองพระบาทของพระราม เอาทูนหัวขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่พระราชอาสน์ในพระราชวัง เสมือนพระรามประทับอยู่

ส่วนตนเองไปครองผ้าย้อมฝาด กินผลหมากรากไม้ ประพฤติยากลำบากเช่นเดียวกับพระราม ไม่ประทับในพระราชวัง

แต่ไปว่าราชการจากกระท่อมเล็กๆ ที่หมู่บ้านนันทิครามตลอดเวลาที่พระรามอยู่ป่า

 

เรื่องพระลักษมณ์ไม่เคยหลับใหล

เมื่อพระรามจะไปสู่ป่า พระลักษมณ์น้องคนละมารดาขอติดตามไปด้วย เพราะเห็นว่าพี่ชายลำบาก ตนก็ควรลำบากเช่นกัน ครั้นเมื่อไปอยู่กับพระรามในป่า ตนเองคอยยืนยามในเวลากลางคืนเพื่อป้องกันภัยจากสัตว์และอมนุษย์ทั้งหลาย

คืนหนึ่งนางนิทราเทวีหรือเทวีแห่งการนอนเข้ามาหาตามปกติวิสัย พระลักษมณ์จับนางมัดไว้ ขอให้นางไม่มาหาตลอดสิบสี่ปี เพื่อพระลักษมณ์จะได้เฝ้ายามได้โดยไม่ง่วง

นางเห็นแก่ความรักที่มีต่อพระรามจึงยอมไป แต่ขอว่า ตามปกติวิสัยสัตว์และมนุษย์ก็ต้องนอนเป็นธรรมดา ถ้าพระลักษมณ์ไม่นอนก็ต้องหาคนนอนแทน

พระลักษมณ์บอกให้ไปหาชายาของตนคือนางอุลมิลลา พระเทวีจึงไปยังอโยธยา นางอุลมิลลาทราบความต้องการของสามีตนจึงยอมรับนิทราเทวีนอนแทนพระลักษมณ์ กลางวันนอนแทนส่วนของพระลักษมณ์ กลางคืนนอนส่วนของตนเอง

จึงเป็นอันว่านางอุลมิลลาต้องนอนทั้งกลางวันกลางคืนตลอดสิบสี่ปีก็ด้วยความรักของสามีที่มีต่อพี่ชายและพี่สะใภ้

 

เรื่องนางศพรีชิมผลไม้

ช่วงแรกที่พระรามเดินดง ได้เดินไปถึงกระท่อมของนางศพรีหญิงบ้านป่ายากจน นางศพรีไม่รู้จะเอาอะไรมาต้อนรับพระราม นางจึงเอาลูกไม้ป่าที่นางเก็บมาได้ให้พระราม

แต่นางทำกิริยาแปลกๆ คือเมื่อจะเอาลูกไม้นั้นส่งให้พระราม นางก็กัดกินก่อน

พระลักษมณ์เห็นดังนั้นก็รู้สึกไม่พอใจ พระรามจึงให้พระลักษมณ์ถามเหตุผล

นางศพรีตอบว่า เหตุที่ต้องกัดชิมก่อนทุกลูกเพื่อจะได้รู้ว่าลูกไหนฝาดลูกไหนหวาน ลูกหวานก็ได้ให้พระรามเสวย ลูกฝาดเก็บไว้กินเอง

พระรามพึงพอใจความภักดีแบบซื่อๆ ที่นางมีต่อพระองค์มาก

 

เรื่องรับโอวาทจากทศกัณฐ์

ก่อนทศกัณฐ์จะสิ้นใจ พระรามเห็นว่าทศกัณฐ์นั้นที่แท้เป็นพระราชาที่ทรงความรู้ เป็นพรหมพงศ์ ทั้งยังได้รับการศึกษามาอย่างดี พระลักษมณ์ควรจะต้องไปขอรับความรู้จากทศกัณฐ์ก่อนจะสิ้นใจ

เมื่อพระลักษมณ์ไปถึง จึงยืนอยู่ข้างศีรษะทศกัณฐ์ ซึ่งนอนทอดกายอยู่บนพื้นด้วยความหยิ่งผยอง พลางเอ่ยว่า “เจ้าทศกัณฐ์! เมื่อโดนศรพระรามเช่นนี้เจ้าก็ต้องตายแน่ แต่ก่อนตายจงมอบความรู้เผื่อว่าเจ้าจะอายุยืนขึ้นสักนิด”

ทศกัณฐ์ไม่ตอบและผินหน้าไปทางอื่น

พระลักษมณ์กลับไปหาพระรามและเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด

พระรามตำหนิว่า อย่างน้อยเมื่อจะไปขอรับความรู้จากผู้ใด แม้ผู้นั้นจะเคยเป็นศัตรู ก็พึงแสดงตนอย่างนักเรียนของเขา คือนอบน้อมและให้เกียรติ พระรามจึงไปหาทศกัณฐ์ นั่งลงที่ปลายเท้าด้านหนึ่งแล้วกล่าวว่า

“พระราชาผู้ประเสริฐของรากษส กรรมที่ท่านได้ทำนั้นก็ได้รับการตอบแทนแล้ว ข้าจึงไม่มีรู้สึกเกลียดชังอันใดต่อท่านอีกในเวลานี้ มีเพียงความเคารพต่อความรู้ที่ท่านมี ข้านั่งเบื้องปลายเท้าท่านดุจศิษย์ ขอท่านให้ความรู้ด้วย”

ทศกัณฐ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวยกย่องพระรามเป็นอันมาก แล้วสอนราชธรรมว่า

“ในเวลาเพียงน้อยนิดก่อนที่ข้าจะตายลงนี้ ข้ามีสิ่งจะสอนจากการพิจารณาความผิดพลาดของตนเอง กล่าวคือ จงจำไว้ว่าใจอันมืดบอดด้วยอวิชชาซึ่งเพ่งมองไปยังสิ่งต่างๆ เป็นเหตุแห่งการประทุษร้าย การหลีกเลี่ยงเสียนับว่าดี จงจำไว้ว่าสิ่งใดทุกอย่างอันกระตุ้นเร้าอาจนำไปสู่ความตกต่ำ สิ่งใดที่เราละอายหรือไม่เร่งร้อนที่จะทำก็อาจช่วยทำให้เราเจริญขึ้น” แล้วทศกัณฐ์ก็สิ้นใจ

พระรามจึงก้มศีรษะแสดงความเคารพต่อ “ครู” ของเขาในวาระสุดท้าย

เรื่องราวทำนองนี้ยังมีอีกมากในรามายณะของอินเดีย

จะค่อยๆ นำมาเสนอในโอกาสต่อไปครับ

นาร้ายณ์ นารายณ์!