‘จาตุรนต์’ เตือน กกต.อย่าทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง ยันปราศรัยต้านเผด็จการไม่ผิดกม.

วันที่ 13 มีนาคม 2562 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกกลุ่ม ‘ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย’ และอดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวถึงกรณี กกต. ตั้งกรรมการไต่สวนแกนนำและสมาชิก ทษช. รณรงค์เทคะแนนให้พรรคการเมืองอื่น ว่า ตนยังไม่เห็นประเด็นว่าจะมาสอบเรื่องอะไรเพราะยังไม่มีอะไรที่เป็นการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กลุ่มก้าวต่อไปเพื่อปนะชาธิปไตยขออนุญาตใช้สถานที่และขออนุญาตชุมนุมก่อนปราศรัยทุกครั้ง แต่ไม่ได้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องหรือคัดค้านอะไร แต่เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนทุกอย่าง อีกทั้งอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคไทยรักษาชาติก็ไม่ได้ถูกเพิกถอนสิทธิอะไร เพียงแต่พ้นจากการเป็นผู้สมัคร ส.ส. และยังมีสิทธิเท่ากับประชาชนทุกอย่าง แล้วก็ที่มาไม่มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เช่น ไม่ได้จัดมหรสพ ไม่สัญญาว่าจะให้ หรือให้เงินใคร รวมทั้งไม่ได้ข่มขู่หลอกลวงหรือใส่ร้ายป้ายสีใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่ผิดกฎหมาย เป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นในระหว่างเลือกตั้งซึ่งก็ได้รับความคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ และกรณีที่ผู้สมัครจะเทคะแนนหรือโหวตโน ตนก็ไม่เห็นประเด็นที่จะผิดกฎหมาย เพราะการเสนอให้โหวตโน เป็นข้อเสนอมาจากประชาชน อดีตผู้สมัครคงจะไม่ไปรณรงค์อะไรได้ ส่วนการเทคะแนนก็ไม่มีคำนิยามตามกฎหมายแปลว่าอะไร คนๆหนึ่งจะเทคะแนนเลือกตั้งก็คือเทคะแนนตัวเอง หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน ส่วนคะแนนของคนอื่นๆ มันเทไม่ได้ ไม่มีอยู่ในสารบบของภาษากฎหมาย และไม่เห็นว่าจะผิดกฎหมายอะไร

“ส่วนการที่อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งจะไปบอกประชาชนว่าอย่าเลือกหรือเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ คนนั้นคนนี้ ก็เหมือนกับประชาชนคนอื่นๆ ทั่วไปที่นั่งคุยกันตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ เดินไปเดินมาคุยกันเขาก็พูดกันได้ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายและไม่เข้าใจว่าทำไม กกต. กระตือรือร้นผิดปกติกับอดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค ทษช. ส่วนการจะชี้นำหรือไม่ชี้นำเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ในการแสดงความคิดเห็นถ้าบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนดีจะผิดกฎหมายหรือชี้นำไหม หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความสามารถก็มีคนพูดถึงกันอยู่ตลอดเวลา นักเขียนหรือนักหนังสือพิมพ์เขียนว่าควรเลือกหรือไม่ควรเลือกพรรคนั้นพรรคนี้เป็นการชี้นำหรือไม่ การจะบอกว่ารัฐบาลดีหรือไม่ดี อย่าไปเลือกรัฐบาล อย่าไปให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจ จะตีความว่าชี้นำหรือไม่ชี้นำก็แล้วแต่ เป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง กกต. ไม่มีหน้าที่อะไรมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้” นายจาตุรนต์ กล่าว

“ปัญหาอยู่ที่ว่าถึงแม้ชี้นำก็ไม่ได้ผิดกฎหมาย คนเราจะไปพูดแนะนำใครก็เป็นสิทธิเสรีภาพ ไม่มีกฎหมายห้ามชี้นำ แต่ว่าเราก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะไปชี้นำใคร เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นใครเห็นด้วยก็ทำตาม ใครไม่เห็นด้วยเขาก็ไม่ทำตาม ก็เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละคน การตั้งประเด็นว่าจะเป็นการชี้นำหรือไม่ การชี้นำผิดกฎหมายหรือไม่แสดงถึงความล้าหลัง ล้าสมัยของกฎหมาย ของประเทศที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ”

ส่วนกรณีที่ กกต. พิจารณาว่า พรรคพลังประชารัฐจัดระดมทุนโต๊ะจีนไม่มีทุนจากต่างประเทศไม่เข้าข่ายถูกยุบพรรค นายจาตุรตน์ กล่าวว่า ถ้าสรุปไปแลบนั้นก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก เพราะที่มีคนร้องและต้องการหลักฐานคือ มีบริษัทที่ขาดทุนมาบริจาค หรือบริจาคเกินกำหนดหรือไม่ รัฐวิสาหกิจมาเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะตามกฎหมายห้ามบริจาค ไม่ใช่ร้องให้สิบเรื่องชาวต่างชาติมาบริจาคหรือไม่ ถือเป็นเรื่องผิดสังเกตว่าทำไม กกต. ถึงสรุปประเด็นแบบนี้ และยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถสมัครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ ก็ยังไม่เห็นทำอะไร ทำไมปช่อยให้ชักช้าแบบนี้ พวกตนเพิ่งปราศรัยวันเดียวต้องตั้งกรรมการสอบกันแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กกต. กำลังวางตัวไม่เป็นกลาง

“คำว่า กกต. ไม่เป็นกลางนี้ เป็นการชี้นำหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ถ้าชี้นำประชาชนบอกว่า กกต. ไม่เป็นกลาง ผมยินดีจะบอกว่าผมกำลังบอกกับประชาชนว่า กกต. กำลังวางตัวไม่เป็นกลาง”

นอกจากนี้นายจาตุรนต์ยังกล่าวว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้น่าเป็นห่วงเนื่องจาก กกต. ทำงานบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในต่างประเทศ และก็ยังไม่รู้ว่าต่อไปในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่จะมีขึ้นจะวุ่นวายสับสนแค่ไหน มีอะไรผิดขาดตกบกพร่องอีกมากน้อยแต่ไหน และในการเลือกตั้งทั่วประเทศจะทำได้ดีแค่ไหน และการที่ กกต. เร่งบางเรื่อง ไม่เร่งบางเรื่อง บางเรื่องทำให้ชัดช้า แล้วก็มาทำในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง มันก็ทำให้คนคิดได้ว่า กกต. วางตัวไม่เป็นกลาง และถ้า กกต. วางตัวไม่เป็นกลางแล้ว การเลือกตั้งก็จะไม่เป็นธรรมและไม่ยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย