ย้อนดู หญิงไทย(ในวรรณคดี) ที่ใจสู้

ญาดา อารัมภีร

สมัยยังเด็กคุณครูให้ท่องบทอาขยานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ในแบบเรียนภาษาไทย

นอกจากจะช่วยให้อ่านหนังสือแตกแล้ว

ยังทำให้คุ้นเคยกับจังหวะจะโคนที่เกิดจากสัมผัสคล้องจองและจำนวนคำที่แน่นอนในแต่ละวรรคของบทอาขยานไปโดยอัตโนมัติ

สิ่งเหล่านี้ช่วยให้จำบทอาขยานได้ง่าย และจำได้แม่นยำตั้งแต่เด็กจนแก่

มีอาขยานอยู่สองบทที่เห็นปุ๊บก็จำได้ปั๊บ เพราะจำนวนคำและสัมผัสช่างลงตัว ทั้งความหมายก็โดนใจ ทำให้ตระหนักถึงความเก่งกาจห้าวหาญของหญิงไทยในอดีตที่ต่อกรกับกองทัพพม่าสุดชีวิตเมื่อครั้งศึกถลาง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพรรณนาคำเริงสดุดี สตรีไทยนักรบ ไว้ในหนังสือเรื่อง นารีเรืองนาม ดังนี้

เปลก็ไกวดาบก็แกว่งแข็งหรือไม่

ไม่อวดหยิ่งหญิงไทยมิใช่ชั่ว

ไหนไถถากกรากกรำไหนทำครัว

ใช่รู้จักแต่จะยั่วผัวเมื่อไร

แรงเหมือนมดอดเหมือนกากล้าเหมือนหญิง

นี่จะจริงเหมือนว่าหรือหาไม่

เมืองถลางปางจะจอดรอดเพราะใคร

เพราะหญิงไทยไล่ฆ่าพม่าแพ้

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนภาพของหญิงไทยที่ไม่ธรรมดา ใจสู้ ไม่อู้งาน สวมหมวกหลายใบ ทำหลายหน้าที่ แต่ละบทบาทก็อาศัยความสามารถและความชำนิชำนาญต่างๆ กันไป เป็นทั้งแม่ ทหาร ชาวนา แม่ครัว และเมีย

เวลาปกติไกวเปลเลี้ยงลูก คราวจำเป็นยามศึกสงครามก็วางมือจากลูกมาจับดาบต่อสู้ข้าศึกได้

ในแต่ละวันยังต้องลำบากตรากตรำทำไร่ไถนา

ถึงเวลาก็เข้าครัวเตรียมข้าวปลาอาหาร

เรื่องบนเตียงก็ต้องพร้อมไม่บกพร่อง

งานเยอะขนาดนี้ แม้เรี่ยวแรงน้อยนักก็สู้ไหวเพราะใจกล้า

ดังที่เสด็จในกรมทรงเอาแรงน้อยนิดของ “มดตัวกระจ้อยร่อย” มาเปรียบเทียบ ต่อให้ผู้หญิงมีแรงเหมือนมดก็ยังสามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้อย่างราบคาบ

เห็นภาพพม่าหนีตายกันอลหม่านในศึกถลาง

ดังข้อความว่า เมืองถลางปางจะจอดรอดเพราะใคร เพราะหญิงไทยไล่ฆ่าพม่าแพ้

วีรกรรมสาวเมืองย่าโมสู้ศึกลาว “เจ้าอนุวงศ์” ในแบบเรียนภาษาไทยสมัยผู้เขียนเรียนชั้นมัธยมปลาย ถ่ายทอดด้วย “ภุชงคประยาตฉันท์ 12” ที่แสนจะคึกคักกระฉับกระเฉงว่องไว มองเห็นการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ดังที่พระยาอุปกิตศิลปสารบรรยายไว้ในวรรณคดีเรื่อง ฉันท์ยอเกียรติชาวนครราชสีมา ว่า

มนัสไทย / ประณตไท้ นรินทร์ไทย / มิท้อถอน

มิผูกรัก / มิภักดิ์บร มิพึ่งบา / รมีบุญ

ถลันจ้วง / ทะลวงจ้ำ บุรุษนำ / อนงค์หนุน

บุรุษรุก / อนงค์รุน ประจญร่วม / ประจัญบาน

อนงค์เพศ / มนัสพี- รชาติศรี / ทหารชาญ

มิได้ดาบ / ก็คว้าขวาน มิได้หอก / ก็คว้าหลาว

มิได้มีด / ก็เอาไม้ กระบองใหญ่ / กระบองยาว

กระหน่ำฟาด / พิฆาตลาว เตลิดแล่น / ณ แดนดง

ผิอยู่เหย้า / สิอรชร ฤทัยอ่อน / ระทวยองค์

ผิยามยุทธ์ / สิยรรยง เผยอยศ / อนงค์สรรพ์

นิกรลาว / มลายชน- มเกลื่อนกล่น /อนาถครัน

ประมาณศพ / ก็สองพัน พินาศพ่าย / กระจายไป

ตัวอย่างที่ยกมานี้ถ้าอ่านในใจจะไร้รสชาติ ถ้าอ่านออกเสียงตามจังหวะที่แบ่งไว้ให้ จะรู้สึกถึงจังหวะที่รุกเร้าเข้ากับการต่อสู้ สื่อถึงความเข้มแข็งองอาจของสตรีที่สู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษ ตระหนักถึงความอ่อนโยนมิใช่อ่อนแอ เป็นความอ่อนโยนที่ผสมผสานกับความเป็นนักสู้อย่างลงตัว ดังข้อความว่า

ผิอยู่เหย้าสิอรชร ฤทัยอ่อนระทวยองค์

ผิยามยุทธ์สิยรรยง เผยอยศอนงค์สรรพ์

เลือดนักสู้มิได้มีเพียงหญิงสาวชาวบ้านธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังมีเต็มดวงพระราชหฤทัยของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระอัครมเหสี ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้จะทรงรู้ดีว่าไม่มีทางสู้ แต่ก็ทรงสู้ตามวิถีทางของพระองค์

ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรยายไว้ใน โคลงภาพพระราชพงศาวดาร* รูปที่ 10 แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ภาพพระสุริโยไทยขาดคอช้าง (* อักขรวิธีตามต้นฉบับเดิม)

รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มด้วยการกล่าวถึงบุเรงนอง กษัตริย์พม่ายกทัพใหญ่มอญพม่ามาประชิดกรุงศรีอยุธยา

บุเรงนองนามราชเจ้า จอมรา มัญเฮย

ยกพยุหแสนยา ยิ่งแกล้ว

มอญม่านประมวลมา สามสิบ หมื่นแฮ

ถึงอยุธเยศแล้ว หยุดใกล้นครา

จอมทัพไทยในครั้งกระนั้น คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ หลังจากทรงเตรียมการพร้อมแล้วก็ทรงยกทัพไทยไปหยั่งกำลังข้าศึก สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงปลอมพระองค์เป็นชายทรงเครื่องรบครบครัน ประทับช้างแฝงไปในขบวนโดยไม่มีผู้ใดรู้เห็น

บังอรอรรคเรศผู้ พิศไมย ท่านนา

นามพระสุริโยไทย ออกอ้าง

ทรงเครื่องยุทธพิไชย เช่นอุป ราชแฮ

เถลิงคชาธรคว้าง ควบเข้าขบวนไคล

ปรากฏว่าช้างทรงของจอมทัพไทยเผชิญหน้าในระยะประชิดกับช้างทรงของพระเจ้าแปรและเสียทีถอยหนี ฉิวเฉียดจะถูกพระเจ้าแปรไล่ตามทัน

สารทรงซวดเซผัน หลังแล่น เตลิดแฮ

เตลงขับคชไล่ใกล้ หวิดท้ายคชาธาร

ทันใดนั้นสมเด็จพระศรีสุริโยทัยก็ทรงไสช้างเข้าขวางอย่างรวดเร็ว เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีโดยไม่มีใครคาดคิด

นงคราญองค์เอกแก้ว กษัตริย์

มานมนัสกัตเวที ยิ่งล้ำ

เกรงพระราชสามี มลายพระ ชนม์เฮย

ขับคเชนทรเข่นค้ำ สอึกสู้ดัษกร

ผลก็คือคมง้าวพระเจ้าแปรฟันฉับลงมาต้องพระวรกายขาดสะพายแล่ง ซบสิ้นพระชนม์บนคอช้าง การสละพระองค์เองเพื่อรักษาพระชนม์ชีพของพระสวามีผู้เป็นพระประมุขของชาติ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญมาจนทุกวันนี้

ขุนมอญร่อนง้าวฟาด ฉาดฉะ

ขาดแล่งตราบอุระ หรุบดิ้น

โอรสรีบกันพระ ศพสู่ นครแฮ

สูญชีพไป่สูญสิ้น พจน์ผู้สรรเสริญ

หญิงไทยในอดีตจึงมิใช่เกิดมาเพื่อเป็นลูก เป็นเมีย และเป็นแม่เท่านั้น

แต่เป็นได้ทุกอย่างเคียงข้างชายไทยอย่างน่าภาคภูมิใจ

ความแข็งแกร่งจึงมิอาจวัดเพียงสรีระที่บ่งบอกเพศ

แต่ยังรวมไปถึงจิตใจและการกระทำอีกด้วย

ดังที่กวีชายทั้งสามล้วนเห็นพ้องต้องกันและถ่ายทอดไว้ในวรรณคดีสามเรื่องข้างต้น