วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /มติชน เดินหน้าสู่ความถูกต้อง

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์    

มติชน เดินหน้าสู่ความถูกต้อง

 

งานหนังสือพิมพ์เมื่อเริ่มออกฉบับแรกจะไม่มีการหยุดชะงักตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเกิดอุปสรรคขัดข้องอย่างไรต้องดำเนินการไปกระทั่งหนังสือออกจากเครื่องพิมพ์ถึงมือผู้อ่านให้ได้ ช้าเร็วแล้วแต่ว่าเกิดเหตุขัดข้องอย่างไร ต้องแก้ไขได้ในที่สุด เช่น มติชนฉบับแรก 9 มกราคม 2521 ฉบับปฐมฤกษ์

ฉบับต่อมา การพิมพ์ต่อเนื่องส่งถึงมือผู้อ่านได้ตามเวลากำหนด

การจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ครั้งที่ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ กำหนดให้เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับบ่าย แต่ฉบับแรกๆ กว่าจะพิมพ์ออกตามกำหนดได้เลยเวลาเที่ยงไปอักโข ทำให้กลายเป็นฉบับเย็น

จากนั้นไม่นานนัก คณะผู้จัดการจึงดำเนินการให้ออกเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า คือก่อน 06.00 น. ต้องถึงผู้อ่านให้ได้ตามเวลา ซึ่งจะมีอุปสรรค เช่น เครื่องพิมพ์เกิดขลุกขลักบ้าง ทำให้หนังสือพิมพ์ถึงมือผู้อ่านสายกว่าปกติ

สินค้าหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นสินค้าที่เสนอข่าวสารประจำวัน ส่วนหนึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระบทความสารคดี และคอลัมน์จากนักเขียนที่ท่านผู้อ่านชื่นชอบ

ส่วนที่จำเป็นสำหรับงานหนังสือพิมพ์คือ “ข่าว” จึงมีการพูดกันว่า “หนังสือพิมพ์ขายข่าว” ดังนั้น “ข่าว” ต้องเร็ว และต้องเป็นจริง ครบถ้วน เมื่อเกิดเหตุขึ้นที่ใด นักข่าว-ช่างภาพต้องไปถึงที่เกิดเหตุทันที เพื่อนำข่าวและภาพส่งกลับมายังกองบรรณาธิการ จัดการเรียบเรียงพิมพ์เข้าหน้าตามที่เตรียมไว้และลักษณะของข่าว เว้นแต่ข่าวด่วน ข่าวเด่น ข่าวดี (ที่กล่าวกันว่าคือข่าวร้าย) ต้องนำเสนอในหน้าแรก หรือข่าวหน้า 1

นับแต่พาดหัวข่าวใหญ่ ลงไปถึงข่าวรองและข่าวขนาดเล็กตามลำดับความสำคัญซึ่งในที่ประชุมข่าวเป็นผู้กำหนด เช่นเดียวกับภาพข่าวต้องพิจารณาแต่ละวันว่ามีภาพใดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาขึ้นหน้า 1 แม้แต่ข่าวกีฬา เช่น มวย มีโอกาสขึ้นหน้า 1 คือมวยคู่ชกชิงแชมเปี้ยนโลกที่คู่ชิงเป็นนักมวยไทย เป็นต้น

ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ตั้งแต่เริ่มต้นทำหนังสือพิมพ์ฉบับแรก คือการเตรียมเนื้อหาสาระ บทความ สารคดี คอลัมน์ ดังงานเขียนในฉบับพิเศษ “วันต่อวัน” บอกไว้ว่า

ในเวลาอันจำกัด วันต่อวัน เราทำงานกันอย่างไร

 

เริ่มตั้งแต่ผู้สื่อข่าวทุกคนจะคอยป้อนข่าวเข้ามายังบรรณาธิการแต่ละฝ่าย…เพื่อพิจารณาคัดเลือกตัดต่อแต่งเติมความสมบูรณ์ในเนื้อหาสาระของข่าว หรือบทความได้รับการตรวจความเรียบร้อย ส่งตรงไปยังฝ่ายบรรณาธิกร ซึ่งจะคำนวณตัวอักษรทุกตัวอย่างแม่นยำก่อนคิดจัดวางหน้า การพาดหัว หรือตัดส่วนสำคัญน้อยกว่าทิ้งไปเมื่อเห็นเนื้อที่ไม่พอ แล้วจะสั่งขนาดตัวเรียง สั่งขนาดคอลัมน์ ก่อนส่งตรงไปยังหัวหน้าช่างเรียงแจกงานให้ช่างเรียงทุกคน

หลังจากนั้นจะจัดส่งปรู๊ฟแรกไปยังฝ่ายพิสูจน์อักษรตรวจตราอย่างละเอียด ทั้งคำผิด ตัวเลข ข้อมูล และประโยคที่ไม่ได้ใจความ (ซึ่งช่างเรียงอาจเรียงเกินหรือเรียงขาด) โดยให้ถือตามต้นฉบับอย่างเคร่งครัด

เมื่อข่าวทุกชิ้นได้รับการตรวจตราอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ช่างเข้าหน้าทั้งหมดจะจัดเข้าหน้าตามดัมมี่ที่บรรณาธิกรสั่ง แล้วปรู๊ฟแก้วจะไหลออกมาจากเครื่องพิมพ์ปรู๊ฟเพื่อส่งไปยังช่างตกแต่งหน้า ก่อนส่งไปยังช่างถ่ายฟิล์มและอัดแผ่นเพลตส่งให้ช่างพิมพ์หรือช่างแท่นตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือพิมพ์

เมื่อครบถ้วนทุกหน้า และเมื่อช่างพิมพ์เดินเครื่องพิมพ์ หมายถึงว่า “มติชน” เริ่มออกเป็นฉบับพร้อมจัดส่งไปบริการผู้อ่าน ฝ่ายจัดจำหน่ายจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงนี้เพื่อทำงานแข่งกับเวลาให้หนังสือพิมพ์ส่งถึงมือผู้อ่านเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

กระนั้น ก่อนที่ “มติชน” จะออกมาเป็นเล่มได้ ยังมีจุดสำคัญที่น่าสนใจอีก 2 จุดที่ต้องพูดถึงประกอบด้วย

การประชุมบทบรรณาธิการ หรือ “บทนำ” ซึ่งถือเป็นนโยบายหรือจุดยืนของ “มติชน” ที่มีทัศนะต่อปัญหานั้นๆ อันเป็นปัญหาใหญ่

บทบรรณาธิการจะพูดถึงเหตุการณ์หรือข่าวหรือปัญหาที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันทันด่วน เพื่อเสนอทางออกแต่ละปัญหาต่อผู้อ่านให้ได้กระจ่าง ตรงไปตรงมา สั้น และกระชับต่อการทำความเข้าใจ

ผู้เข้าร่วมประชุมบทบรรณาธิการ ประกอบด้วยบรรณาธิการ บรรณาธิการฝ่าย และผู้สันทัดกรณีในปัญหานั้นๆ เพื่อจะชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดทุกแง่มุมเท่าที่จะทราบได้ ไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์

ผู้สันทัดกรณีประกอบด้วยผู้สื่อข่าวที่ออกไปประสบเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงนอกกองบรรณาธิการ ซึ่งบางครั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแต่ละสาขาจะมาให้คำปรึกษาร่วมประชุมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ความกระจ่างแต่ละปัญหา

หลังจากสรุปประเด็นด้วยการมอบหมายให้ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเหมาะสมที่สุดเรื่องนั้นนำไปเขียนตามนั้น

 

อีกจุดหนึ่ง นอกจากการประชุมบทบรรณาธิการ “มติชน” ถือว่าข่าวที่จะนำเสนอในหน้า 1 ของทุกวันเป็นนโยบายสำคัญ จะต้องมีการประชุมร่วมกันกลั่นกรองจากหลายฝ่ายเช่นเดียวกับบทบรรณาธิการ

การประชุมข่าวหน้า 1 เริ่มขึ้นเมื่อใกล้สิ้นสุดของวันเพื่อสรรหาข่าวที่ดีที่สุดมานำเสนอเป็นข่าวนำ หรือข่าวพาดหัว ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยบรรณาธิการ ฝ่ายข่าวในประเทศ ฝ่ายข่าวต่างประเทศ ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจ ฝ่ายบรรณาธิกรข่าวหน้า 1 และฝ่ายที่มีข่าวของตนเกี่ยวข้อง อาทิ ข่าวกีฬา ข่าวบันเทิง เป็นต้น

ที่ประชุมจะร่วมกันตัดสินว่าข่าวใดประเด็นใดควรเป็นข่าวพาดหัวใหญ่ พาดหัวรอง จากนั้นบรรณาธิกรจะรับข่าวจากฝ่ายข่าวที่ตกลงกันนำไปจัดลงหน้าหนังสือพิมพ์พร้อมภาพให้สวยงามน่าจับต้องและน่าอ่าน

ดังนั้น ข่าวทุกข่าว บทความ และสารคดี คอลัมน์ที่นำไปตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ “มติชน” จะผ่านการกลั่นกรองอย่างละเอียด ตั้งแต่ผู้สื่อข่าว จนถึงที่ประชุมข่าวเพื่อเสนอต่อผู้อ่านอย่างเที่ยงตรงที่สุด

 

อีกปัญหาหนึ่งของการทำหนังสือพิมพ์คือการจดทะเบียนไว้กับตำรวจสันติบาลแผนกหนังสือพิมพ์ แต่หัวหนังสือพิมพ์มติชนยังไม่มีชื่อที่จดทะเบียนไปกับตำรวจสันติบาลแผนกหนังสือพิมพ์ จึงใช้ชื่อเข็มทิศรายวันฉบับ “มติชน” ซึ่งมีพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เป็นบรรณาธิการรักษาการ มีแสงไทย เค้าภูไทย เป็นเจ้าของ บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา อยู่เดือนเศษ ตั้งแต่ 9 มกราคม 2521 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2521

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2521 จึงใช้ชื่อเป็น “มติชน” พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ยังเป็นบรรณาธิการรักษาการ

แต่เปลี่ยนเป็นนางสาวสุภาณี สุวณิชชาติ เป็นบรรณาธิการ เจ้าของ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา