นงนุช สิงหเดชะ : ‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ได้มาฟรีๆ อยากมีต้อง ‘รีดภาษี’ สูงปรี๊ด

‘รัฐสวัสดิการ’ ไม่ได้มาฟรีๆอยากมีต้อง ‘รีดภาษี’ สูงปรี๊ด

ตอนนี้นโยบายของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคที่อ้างว่าอยู่ซีกประชาธิปไตย (ซึ่งบางคนแซวว่าเรียกซีกทักษิณจะตรงกว่า) ที่กำลังหวือหวามาแรง ก็คือนโยบาย “เลิกเกณฑ์ทหาร” กับ “รัฐสวัสดิการ”

แน่นอนว่าประชาชนฟังแล้วก็ต้องหูผึ่ง เพราะถ้ามีรัฐสวัสดิการชีวิตจะสบาย ไม่ต้องทำงานทำการก็มีเงินมีใช้เพราะรัฐจะดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย  ส่วนการเลิกเกณฑ์ทหารย่อมถูกอกถูกใจผู้ชายที่ยังอยู่ในวัยเกณฑ์ทหารแน่ๆ

นโยบายเลิกเกณฑ์ทหาร เห็นชัดว่าพรรคการเมืองเหล่านี้พุ่งเป้าไปที่คนหนุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก

หากมองอีกมุมหนึ่งก็เป็นนโยบายเอื้อประโยชน์ให้กับลูกเศรษฐี คนมีฐานะและคนชั้นกลางทั่วไป เพื่อจะได้ไม่ต้องลำบากลำบนนอนกลางดินกินกลางทราย สุดท้ายแล้วก็คงจบลงด้วยการที่มีแต่ลูกชาวบ้านเท่านั้นที่ต้องไปเป็นทหาร

หากไม่มีการเกณฑ์ทหาร ก็หมายถึงว่าต่อไปนี้การเป็นทหารต้องเป็นไปโดยสมัครใจ เมื่ออยากให้คนสมัครใจก็ต้องเพิ่มค่าตอบแทนหรือค่าจ้างสูงกว่าปัจจุบันหลายเท่า นั่นก็หมายถึงว่าจะเกิดภาระงบประมาณในการจ้างบุคลากรมหาศาล

ดังที่มีข้าราชการกระทรวงการคลังคนหนึ่งคำนวณว่า หากต้องการกำลังพลเพียง 50,000 นาย ก็ต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อเป็นค่าจ้าง ถึงขั้นที่ต้องยุบข้าราชการ 1 กระทรวงเล็กๆ ทิ้งเลยทีเดียว

การกล่าวอ้างว่าปัจจุบันไทยไม่มีภัยคุกคามดินแดนที่ถึงกับต้องเกณฑ์ทหาร ก็ดูเป็นการด่วนสรุป เพราะยังเกิดภัยคุกคามใหม่ๆ ตลอดเวลา หากไม่มีกำลังพลสำรองไว้เพียงพอ เมื่อถึงเวลาคับขัน ค่อยเกณฑ์คนไปฝึกรบ จะทันกินหรือ

 

ในประเด็นของรัฐสวัสดิการ (welfare state) เรื่องนี้ถูกใจคนส่วนใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย แต่จะมีสักกี่คนคิดละเอียดไปกว่านั้นว่า รัฐสวัสดิการไม่ใช่สิ่งที่ได้มาฟรีๆ โดยที่ไม่เสียสละอะไรออกไป

การเป็นรัฐสวัสดิการ หมายถึงว่าเรามอบรายได้หรือเงินของเราผ่านสิ่งที่เรียกว่าภาษีให้กับรัฐไปทำหน้าที่ดูแลชีวิตเรา ทั้งเรื่องการศึกษา สาธารณสุข เลี้ยงดูบุตร ชีวิตหลังเกษียณ ฯลฯ เกือบทุกอย่างฟรีตั้งแต่เกิดจนตาย

ประเทศที่ได้รับการกล่าวถึงมาก ในฐานะต้นแบบรัฐสวัสดิการที่ดีเลิศก็คือกลุ่มสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะสวีเดน แต่การที่ประเทศเหล่านี้จะเป็นรัฐสวัสดิการได้ รัฐต้องมีรายได้จากการเก็บภาษีต่างๆ คิดเป็น 40-50% ของจีดีพี ซึ่งการจะเก็บให้ได้เท่านี้ก็ต้องไปรีดภาษีจากประชาชนสูงมากเช่นกัน

โดยสวีเดนนั้นภาษีเงินได้บุคคลขั้นต่ำอยู่ที่ 29% สูงสุดอยู่ที่ 60% สูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากเดนมาร์ก

เท่านั้นยังไม่พอ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมในประเทศเหล่านี้ก็สูงมากเช่นกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 25%

 

เมื่อหันมามองประเทศไทย รัฐเก็บภาษีต่างๆ ได้เพียง 15-18% ของจีดีพีเท่านั้น ส่วนภาษีเงินได้บุคคลของไทยขั้นต่ำ 5% สูงสุด 35% (เดิม 37% แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปรับลงเหลือ 35%)

ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มของไทยก็จัดเก็บเพียง 7% ทั้งที่นับจากปี 2540 เมื่อไทยต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ทางไอเอ็มเอฟแนะนำให้จัดเก็บ 10% แต่ทว่าภาษีมูลค่าเพิ่มกลายเป็นของแสลงของทุกรัฐบาลตั้งแต่นั้นมา ไม่มีใครเป็นหน่วยกล้าตายแม้แต่รัฐบาลเดียวเพราะเกรงเสียความนิยมทางการเมือง เพราะเป็นการจัดเก็บจากประชาชนทุกระดับ

หากไทยต้องการเป็นรัฐสวัสดิการก็ต้องยกเครื่องการจัดเก็บภาษีให้ได้มากกว่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ความกล้าอย่างมาก กลุ่มคนที่จะโดนแตะก่อนก็คือคนรวย แต่คนรวยก็คือกลุ่มที่ผูกติดเป็นทุนให้กับพรรคการเมือง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

ที่ผ่านมาแม้แต่อดีตพรรคที่เคยได้คะแนนเสียงท่วมท้นล้นหลามจนสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ก็ไม่เห็นจะกล้าทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในเรื่องนี้ เพราะสุดท้ายแล้วก็ห่วงตัวเองและพวกพ้อง รวมทั้งธุรกิจของตัวเองเป็นหลัก ไม่เห็นฟ้าจะสีทองผ่องอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินแต่ประการใด

ความท้าทายยิ่งกว่านั้นคือ คนไทยจะเต็มใจเสียภาษีสูงๆ แล้วไว้ใจให้รัฐจัดการดูแลชีวิตทุกอย่างหรือ เพราะอุปสรรคสำคัญคือนักการเมืองของเราส่วนใหญ่คอร์รัปชั่น จนทำให้ไทยได้คะแนนต่ำในเรื่องความโปร่งใส ไม่สามารถทำให้ประชาชนไว้ใจเรื่องความโปร่งใสว่าภาษีทุกบาทที่จ่ายไป จะได้รับผลตอบแทนกลับมาให้สมกับที่จ่ายไป

ในขณะที่คนยุโรปหรือสวีเดนนั้น พวกเขาแฮปปี้ที่จะจ่ายภาษีสูงๆ เพราะไว้ใจเรื่องความโปร่งใสของรัฐ ซึ่งก็เป็นข้อสังเกตสำคัญว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำรัฐสวัสดิการนั้น จะมีคะแนนความโปร่งใสอยู่อันดับต้นๆ ของโลก

แต่คนไทยนั้นมีนิสัยชอบเลี่ยงภาษีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย เมื่อบวกกับความไม่ไว้ใจรัฐ ดังนั้น การจะไปรีดภาษีสูงๆ คงยากมาก

นอกจากนี้ข้อเสียของรัฐสวัสดิการก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำให้คนไม่กระตือรือร้นในการหางานทำ เพราะรัฐสวัสดิการนั้นในขณะตกงาน รัฐจะจ่ายเงินให้กับบุคคลนั้นมากพอควร บางทีก็จ่ายในอัตราใกล้เคียงกับเงินเดือนครั้งสุดท้ายที่ได้รับ จึงทำให้ผู้ตกงานไม่รีบร้อนหางานใหม่

รัฐสวัสดิการ ในระยะยาวจะสร้างภาระงบประมาณอย่างมาก และเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนประเทศนั้นๆ ขาดศักยภาพในการแข่งขันเพราะรัฐอุ้มชูมากเกินไป จึงขาดความดิ้นรนกระตือรือร้น

พรรคการเมืองใดอวดอ้างจะทำรัฐสวัสดิการ ต้องชี้แจงให้ชัดว่าจะหาแหล่งเงินมาจากไหน โดยไม่ต้องไปเก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน

ไม่ใช่มาพูดง่ายๆ ว่าแค่ตัดงบฯ ทหาร ตัดงบฯ กลาโหมแล้วจะมีเงินมาทำรัฐสวัสดิการ

นักการเมืองที่มีความรับผิดชอบต้องทำให้ประชาชนอยู่บนโลกของความจริง ไม่มีอะไรได้มาฟรีโดยตัวเองไม่ต้องเสียสละหรือได้รับผลกระทบ