วิเคราะห์ 2สัปดาห์ หลังเหตุ”แผ่นดินไหวทางการเมือง 8 ก.พ.” เช็กอาการ “อาฟเตอร์ช็อก” ใครฟื้น?-ใครทรุด!

“วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562” ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยเรียบร้อย หลังพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จนทำให้มีปรากฏการณ์ต่างๆ ตามมา เป็น “อาฟเตอร์ช็อก” หลายครั้งติดต่อกัน และส่งผลให้เกมการเมืองพลิกผันไปเป็นอย่างมาก

แต่อะไรต่อมิอะไรก็ยังเกิดขึ้นได้ในระยะเวลา 1 เดือนนับจากนี้ ท่ามกลางกระแสข่าวลือ “รัฐประหารซ้อน-ปฏิวัติซ้ำ” ที่ถูกสยบลงไปแล้ว

ส่วนในอนาคตจะมี “รัฐประหาร” อีกหรือไม่นั้น ก็ไม่มีใคร “คอนเฟิร์ม-รับประกัน” คำตอบได้อย่างแน่ชัด

แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่แกว่งตัวเช่นนี้ สามารถผลักให้สถานการณ์ไปถึงจุดที่ “สุกงอม” ได้ โดยอาศัยปัจจัยกระตุ้นให้เกิด “วิกฤต-เงื่อนไข” ขึ้นมา ตามด้วยกระแสข่าวให้จับตาว่าจะมีการ “เลื่อนเลือกตั้ง” อีกหรือไม่

ถ้าไม่มีการเลื่อนเลือกตั้งก็ให้จับตาสถานการณ์ “หลังเลือกตั้ง” ที่มีเรื่องราวให้เคลียร์กันอีกเพียบ อีกทั้งการ “ต่อรองทางอำนาจ” ยังผ่านไปไม่ถึงครึ่งทาง ทำให้หลายพรรคการเมืองเล่นบท “แทงกั๊ก” ไว้ก่อน เพื่อรอลงเรือร่วมกับฝ่ายชนะ

พรรคการเมืองที่กล้าขยับตัวตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ก็มีแนวโน้มจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งเทมาจากบรรดาผู้เคยสนับสนุนพรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ประกาศชัดเจนว่าไม่เอา “นายกฯ คนนอก” ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. และย้ำจุดยืนล้างมรดก คสช.

ความนิยมต่อพรรคอนาคตใหม่จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังกระแสเงียบหายไปพักใหญ่ แต่เรื่องสำคัญคือพรรคจะสามารถประคับประคองกระแสนี้ได้ยาวนานเท่าใด

กระแสในโซเชียลมีเดียจะแปรมาเป็นคะแนนเสียงจริงได้หรือไม่ และอย่าลืมว่าเกมการเมืองไม่ง่ายดายขนาดนั้น เมื่อมีแสงสว่างส่องถึง ก็ย่อมมีขบวนการสกัดดาวรุ่งตามมา

พรรคที่ได้รับผลสะเทือนไม่น้อยคือพรรคเพื่อไทย นำโดย “คุณหญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ที่สงวนท่าทีด้วยการนิ่งเงียบไป ช่วงก่อนและหลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ว่ากันว่า “คุณหญิงหน่อย” ไม่สบายจึงหายตัวไปในช่วงนั้น ท่ามกลางภาวะระส่ำระสายของขั้วต้าน คสช. ใน 2 พรรคใหญ่ ก่อนจะรีเทิร์นกลับมาออกรายการดีเบตและขึ้นเวทีปราศรัย โดยได้กำลังใจสำคัญจากครอบครัว

แต่ความระส่ำยังคงมีอยู่เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบทุกเขต หากชะตากรรมของพรรคไทยรักษาชาติดับสูญไป ย่อมทำให้หมากที่ขั้วต้าน คสช. วางมา ต้องถึงครารื้อแผนกันใหม่

เพราะในการเลือกตั้งรอบนี้ “คะแนนเทน้ำทิ้ง” ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน เพราะแม้ผู้สมัคร ส.ส.เขตนั้นๆ จะแพ้ แต่คะแนนเสียงก็ยังถูกนำมานับรวมเป็นสัดส่วนเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยยังมีคลื่นลมอยู่ภายใน ด้วยแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคมีมากถึง 3 คน แต่แรงหนุนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย

คือฝ่ายที่หนุน “คุณหญิงหน่อย” กับฝ่ายที่เชียร์ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีตรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

โดยเป้าหลักที่พรรคเพื่อไทยถูกโจมตี คือ “ชัชชาติ” เพราะไม่ได้มีชื่ออยู่ในผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงไม่ต่างจาก “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส. ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุห้ามเอาไว้

ส่วนภายในพรรคไทยรักษาชาติที่เป็นต้นเรื่อง ก็ไม่มี “เอกภาพ” ตั้งแต่ก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์แล้ว และหลังจากนั้น ก็ยังแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อย นำโดย “มิตติ ติยะไพรัช” เลขาธิการพรรค และ “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” นายทะเบียนพรรค ซึ่งยังคงเดินหน้าหาเสียง

สวนทางกับรุ่นใหญ่ในพรรค ทั้ง “จาตุรนต์ ฉายแสง” ประธานยุทธศาสตร์พรรค และ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียง ที่ได้แถลงหยุดหาเสียงชั่วคราว

อย่างไรก็ดี ล่าสุดคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติได้ลงมติหยุดหาเสียงชั่วคราว เพื่อทุ่มเทให้กับการต่อสู้คดียุบพรรค ส่วนผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละพื้นที่ สามารถสื่อสารพบปะประชาชนได้ตามปกติ

แต่ในสภาวะเช่นนี้ ก็กระทบ “กำลังใจ” ของฐานเสียงและลูกพรรคไปไม่น้อย

ที่น่าจับตาคือพรรคเพื่อชาติ ซึ่งก็ถูกจัดประเภทอยู่ในขั้วต้าน คสช. เพราะมีกองหนุนอย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” และ “จตุพร พรหมพันธุ์” ทำให้พรรคถูกมองเป็นฐานที่มั่นคนเสื้อแดงแห่งใหม่

ก่อนหน้านี้ “ยงยุทธ” เคยหาเสียงจะ “พาทักษิณกลับบ้าน” โดยให้เหตุผลว่า “ทักษิณ” คือหนึ่งในคู่ขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การพาเขากลับประเทศไทยจึงนับเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ แต่ คสช.ได้ปิดประตูนี้ไป โดยระบุให้อดีตนายกฯ กลับมารับโทษก่อน

พรรคเพื่อชาติยังสร้างปรากฏการณ์ที่อาจไม่ได้เป็นแค่อารมณ์ขันทางการเมือง หลังจากมีผู้สมัคร ส.ส.หลายรายในภาคเหนือ-อีสาน พร้อมใจไปเปลี่ยนชื่อเป็น “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เพราะเชื่อว่าชื่อของสองอดีตนายกฯ ยังขายได้ในพื้นที่

จากชะตากรรมที่ไม่แน่นอนของพรรคไทยรักษาชาติ จึงทำให้คุณค่าราคาของพรรคเพื่อชาติทะยานสูงขึ้นมา

สภาวะหลัง “แผ่นดินไหว” วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ทำให้พรรคพลังประชารัฐพลอยได้แต้มไปด้วย หลัง “บิ๊กตู่” ทำท่าเก๊กหล่ออย่างมั่นใจ เหมือนจะรู้อนาคตบางอย่าง ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้กลุ่มที่ไม่ชอบ “ทักษิณ-เพื่อไทย” เป็นทุนเดิม ซึ่งเคยมีอาการ “เบื่อ คสช.” อยู่บ้าง กลับมารวมพลังกันอีกครั้งเพื่อหนุน “บิ๊กตู่” โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อเหลืองเก่าและ กปปส.เดิม

“สงครามสีเสื้อ” จึงคล้ายจะพัดหวนมาอีกคำรบ ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีโจทย์ซับซ้อนมากกว่าเดิม จากเอาหรือไม่เอา “ทหาร-คสช.” มาสู่เอาหรือไม่เอา “ทักษิณ”

พรรคพลังประชารัฐเอง หลังได้ชื่อ “บิ๊กตู่” มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย เพราะแม้ชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะเรียกคะแนนหรือเรตติ้งได้ แต่ก็มาพร้อม “แรงเสียดทาน” ทางการเมือง

ทว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของ “บิ๊กตู่” ผ่านการชั่งน้ำหนักมาเป็นอย่างดีถึง “ความเสี่ยง” ด้านต่างๆ และหากหัวหน้า คสช. ไม่ยินยอมใส่ชื่อตัวเองลงในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ “ราคา” ของพรรคย่อมไม่ดีดตัวสูงขึ้นเช่นนี้

รวมทั้งไม่มีราคาเท่าพรรคใหญ่อื่นๆ ที่มี “ดาวรุ่ง-ดาวเด่น” มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ

แต่ก็เกิดคำถามว่า เมื่อ “บิ๊กตู่” มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐแล้ว กระแสความนิยมที่หลั่งไหลมานั้นคือของจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงกระแสที่ถูกปั่น

แม้ชื่อ “บิ๊กตู่” จะเป็นตัวเต็งนายกฯ อันดับหนึ่ง ในผลโพลหลายสำนัก แต่น่าแปลกใจว่าพรรคพลังประชารัฐกลับไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่มีความนิยมอันดับหนึ่งตามไปด้วย

ด้านหนึ่ง นี่เป็นจุดบ่งชี้ว่าชื่อของ “บิ๊กตู่” มีส่วนสำคัญต่อพรรคพลังประชารัฐเป็นอย่างมาก แต่ต้องอย่าลืมว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ยัง “ไม่ฟันธง” ว่าจะกากบาทเลือกใคร ก็ยังมีอยู่อีกไม่น้อยเหมือนกัน

ก่อนถึงวันเลือกตั้งอีกราว 1 เดือน สถานการณ์จึงย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

พรรคพลังประชารัฐต้องเร่งเดินเครื่องหาเสียง หวังชนะเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด เพื่อดัน “บิ๊กตู่” ขึ้นเป็นนายกฯ โดยไม่พึ่งพา ส.ว. 250 คน เพราะเชื่อกันว่า คสช.อาจคุม ส.ว.ไม่ได้เต็มร้อย พิจารณาจากสถานการณ์ระยะหลัง ซึ่งจะพบว่าคนที่เคยหนุนและทำงานร่วมกับ คสช. ต่างออกมาวิจารณ์ระบอบทหารอย่างหนัก

ดังนั้น หากพรรคพลังประชารัฐปิดเกมได้ตั้งแต่ก๊อกแรก “บิ๊กตู่” ก็จะมีความชอบธรรมทันทีในการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเดิมพันที่สูงมาก และมีทั้ง “ราคาจริง-ราคาปั่น” ให้ได้เห็นกัน ผ่านกลยุทธ์การหาเสียงของแต่ละพรรคแต่ละขั้วที่งัดไม้เด็ดออกมาเรื่อยๆ

อีกประมาณ 30 วันที่เหลือ ทุกพรรคคงยังมีไพ่อีกหลายใบที่พร้อมจะทิ้งลงมา ส่วนบางพรรคซึ่งเลือก “ทิ้งไพ่ใบใหญ่” ลงมาแล้ว ก็ต้องถามกลับว่ามี “แผนสำรอง” และแก้เกมได้ทันหรือไม่

ใครฟื้น-ใครทรุด ดูอาการกันต่อไป!!