วิกฤติศตวรรษที่21 | วิเคราะห์ การศึกสามด้านจีน-สหรัฐ

วิกฤติประชาธิปไตย (43)

การศึกสามด้านจีน-สหรัฐ

ขณะนี้ จีน-สหรัฐกำลังทำสงครามสามด้านที่อันตรายสูงและเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่

(1) สงครามเทคโนโลยี

(2) สงครามเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยสงครามการค้า รวมถึงสงครามเงินตราเพื่อแย่งตลาดการค้า สงครามการเงินเพื่อเพิ่มหรือรักษาบทบาทของเงินตราของตนในการค้าและการเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และสงครามการลงทุนเพื่อการควบรวม-ซื้อกิจการตลอดจนแผ่อิทธิพลไปในพื้นที่การลงทุนเหล่านั้น

และท้ายสุด (3) เป็นการเผชิญหน้าทางทหาร เป็นสงครามทางเคลื่อนกำลังซึ่งเป็นการชี้ขาด

กล่าวจากจุดของจีนนั้นเห็นว่า สหรัฐเป็นผู้ลงมือเปิดฉากทำสงครามก่อน ในขณะที่จีนเป็นฝ่ายทำตามกติกา และกำลังเปิดกว้างเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้นอีก

มองจากจุดสหรัฐเห็นว่าจีนเป็นฝ่ายเอารัดเอาเปรียบ ชอบขโมยเทคโนโลยีตะวันตกด้วยวิธีการต่างๆ และทำผิดกฎหมายของสหรัฐเนืองๆ

มองจากจุดการติดตามสถานการณ์ ก็คือการรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและการทหารของจีนได้เป็นสิ่งที่คุกคามความมั่นคง ผลประโยชน์ และสถานะเป็นอภิมหาอำนาจโลกของสหรัฐอย่างรุนแรง จนจำต้องตอบโต้อย่างเฉียบขาด ว่าใครจะอยู่ ใครจะไป

สงครามเทคโนโลยีนั้นเป็นเรื่องใหม่ เกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายการสื่อสารไร้สาย 5 จีที่จะช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีหลายสาขา มีปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น

ทำให้เกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยีเช่นเดียวกับการแข่งขันอาวุธที่ทำกันมานาน

มีบทความวิเคราะห์ว่า ตลอดปี 2018 ฝ่ายบริหารสหรัฐได้รณรงค์ให้พันธมิตรทั่วโลกกีดกันไม่ให้บริษัทหัวเว่ยและบริษัทด้านสื่อสารอื่นของจีนเข้ามีส่วนในการควบคุมอินเตอร์เน็ตโดยผ่านเทคโนโลยี 5 จี

พันธมิตรที่ถูกกดดันได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี โปแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น

โดยร่วมกันไม่ใช้อุปกรณ์จากบริษัทเหล่านี้

ฝ่ายบริหารสหรัฐเห็นว่าโลกเข้าสู่การแข่งขันทางอาวุธใหม่ ได้แก่ การแข่งขันทางเทคโนโลยี ไม่ใช่การแข่งขันทางอาวุธสงครามเหมือนเดิม แต่ก็ก่ออันตรายแก่ความมั่นคงของชาติไม่แพ้กัน

ในปัจจุบัน อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุด ถ้าไม่นับอาวุธนิวเคลียร์แล้ว ก็ได้แก่การควบคุมไซเบอร์

ซึ่งประเทศใดก็ตามที่มีความเหนือกว่าใน 5 จี ก็จะได้เปรียบทางเศรษฐกิจ งานข่าวกรองและด้านทหารอย่างใหญ่หลวงไปด้วย นี่เป็นการแข่งขันที่จะต้องมีผู้ชนะฝ่ายเดียว ผู้แพ้จะถูกขับออกไป (ดูบทความของ David E. Sanger และคณะ ชื่อ In 5G Race With China. U.S. Pushes Allies to Fight Huawei ใน nytimes.com 26.01.2019)

ในยุคโลกาภิวัตน์ โดยทั่วไปประเทศมหาอำนาจจะไม่ทำสงครามเคลื่อนกำลังอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพราะต่างมีข่ายเศรษฐกิจและโซ่อุปทานเชื่อมโยงจนแยกไม่ออกเหมือนคนแฝดตัวติดกัน เมื่อทำร้ายฝ่ายหนึ่งจนบาดเจ็บถึงตาย ตนเองก็ต้องตายตามไปด้วย

นี่ยังไม่พูดถึงว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายล้างโลกจนตายด้วยกันทั้งหมด

สงครามเทคโนโลยีและสงครามเศรษฐกิจทำหน้าที่ใหญ่สองประการ

ข้อแรก เป็นการแยกคู่หรือแบ่งฝ่ายทางเศรษฐกิจ-การเมืองออกจากกัน สร้างลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจและลัทธิปกป้องทางการค้าขึ้น เพื่อขีดเส้นแบ่งฝ่าย และกำหนดสมรภูมิให้ชัดเจน

ข้อต่อมา เป็นการประหมัดกัน ประลองอำนาจแห่งชาติว่า ของใครจะเหนือกว่า จะใช้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอะไร และแสวงหามิตร/บริวารอย่างไร เพื่อดูว่าฝ่ายตนจะใช้สงครามเคลื่อนกำลังเพื่อเผด็จศึกได้หรือไม่ และในระดับใด มีแบบอย่างว่าการทำสงครามเศรษฐกิจนำมาสู่การปะทะกันทางทหารมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อไปจะกล่าวถึงประเด็นสงครามเทคโนโลยีก่อให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายอย่างไร สงครามการค้าและการเงิน รวมทั้งการลงทุนว่าเป็นอย่างไร และมีผลอย่างไรต่อดุลอำนาจโลกและสงครามใหญ่

สงครามเทคโนโลยีกับการแบ่งฝักฝ่าย

ปรากฏการณ์แบ่งฝ่ายจากการศึกเทคโนโลยี เห็นชัดขึ้นเรื่อย นับแต่จีนประกาศแผนทางสายไหมดิจิตอล และยุทธศาสตร์ “ทำในจีน 2025”

โดยสหรัฐเป็นผู้แสดงหลักในการกดดันเพื่อให้เกิดการแบ่งฝักฝ่าย เช่น การกดดันพันธมิตรของตนให้ต่อต้านบริษัทหัวเว่ยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น โดยอ้างสองประเด็นใหญ่ ได้แก่ เรื่องความมั่นคง และการเป็นประชาธิปไตย สร้างบรรยากาศสงครามเย็นใหม่ขึ้น

มีบทความของนักเขียน นักหนังสือพิมพ์สตรีอาวุโสชาวสหรัฐคนหนึ่ง ที่สะท้อนปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างน่าสนใจ เธอกล่าวว่า บริษัทจีนโดยอาศัยโครงการทางสายไหมดิจิตอลซึ่งเป็นส่วนย่อยของโครงการแถบและทาง ได้ขยายอิทธิพลทางดิจิตอลของตนไปทั่วโลก ได้แก่

(ก) การวางสายเคเบิล (ใยแก้ว) อินเตอร์เน็ตใน 76 ประเทศ

(ข) โครงการ “เมืองฉลาด” และระบบสอดส่องใน 56 ประเทศ

(ค) อุปกรณ์โทรคมนาคมใน 21 ประเทศ

(ง) อุปกรณ์เสริมในการต่อเชื่อมอินเตอร์เน็ต จำนวน 27 ประเทศ มีมูลค่าถึงราว 79 พันล้านดอลลาร์

เป็นที่สังเกตว่าสหรัฐเป็นลูกค้าของบริษัทจีนในทุกประเภท ไทยเป็นลูกค้าในสามประเภท ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคม จีนยังไม่ได้เข้ามามาก

ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีประเทศแซมเบียที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อุดมสมบูรณ์ด้วยทองแดงและโคบอลต์ ที่โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอลเกือบทั้งหมด ก่อสร้างติดตั้งและใช้การเงินจากจีน

จนทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้

และการทำให้ประเทศนี้ที่มีระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคต้องเข้าสู่ตัวแบบระบอบปกครองแบบควบคุมจำกัดสิทธิการแสดงออกแบบจีน

บทความได้กล่าวถึงความพยายามของบริษัทสหรัฐในการขายเทคโนโลยีของตนแข่งกับบริษัทจีนเพื่อครองความเหนือกว่าในเทคโนโลยีแห่งอนาคตและอิทธิพลในโลก แต่ปรากฏว่าบริษัทจีนสามารถเสนออุปกรณ์ที่กว้างขวางกว่า มีค่าใช้จ่ายการเงินที่ถูกกว่าให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ตั้งแต่แซมเบียถึงเวียดนามที่ต้องการทำโครงสร้างทางเทคโนโลยีของตนให้ทันสมัย และสหรัฐต้องตอบโตด้วยการให้พันธมิตรของตนไม่ใช้อุปกรณ์จากบริษัทจีน การแข่งขันนี้นำไปสู่การแบ่งโลกเป็นสองขั้วโดยการสร้างม่านเหล็กทางดิจิตอลของจีน (ดูบทความของ Sheridan Prasso ชื่อ China”s Digital Silk Road Is Looking More Like an Iron Curtain ใน Bloomberg LP 10.01.2019)

แต่โลกที่เป็นจริงมีความซับซ้อนกว่านั้นมาก เป็นต้นว่า

(ก) ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องการเป็นอิสระในการพัฒนาของตน ไม่ต้องการตกอยู่ใต้อิทธิพลไม่ว่าของสหรัฐ-ตะวันตกหรือมหาอำนาจอื่น ซึ่งปัจจุบันได้แก่จีน ความต้องการนี้แสดงออกชัดเจนต่อเนื่องมาตั้งแต่การประกาศเจตนารมณ์บันดุง (1955) ไปจนถึงการตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้น

(ข) ประสบการณ์ที่ขมขื่นในการตกเป็นอาณานิคมของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและบุคคลไปมากมาย โดยที่ไม่มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอะไรมาก

(ค) สหรัฐ-ตะวันตก ได้เสื่อมถอยลงไปมาก ไม่อาจเป็นตัวแบบในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครองและการพัฒนาเศรษฐกิจได้เหมือนเดิม เช่น สหรัฐเองได้เกิดระบอบการเมืองใช้เงินตรา การเมืองหลังความจริง การเมืองเชิงอัตลักษณ์ การชักใยการเลือกตั้ง การสร้างข่าวปลอมไม่ต่างกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ทั้งยังร่วมมือกับประเทศตะวันตกอื่นเป็น “กลุ่มห้าตา” สร้างระบบสอดส่องพลเมืองของตนและพลเมืองของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

(ง) ที่สำคัญคือประเทศกำลังพัฒนาต้องการสร้างชนชั้นกลางเพื่อเป็นฐานความมั่นคงและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมือง แต่ชนชั้นกลางในสหรัฐ-ตะวันตก กำลังทรุดตัวอย่างเร็ว

ดังนั้น การแบ่งฝักฝ่ายในขณะนี้จึงมีลักษณะพลวัตเป็นกระบวนการที่ไม่ได้มีการขีดเส้นแบ่งได้ง่ายๆ ขึ้นอยู่กับแนวทางนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาอำนาจกับประเทศต่างๆ กระบวนการโลกาภิวัตน์ไม่แตกสลายไปง่ายๆ มักปรากฏว่าเมื่อแตกไปแล้วกลับมีการรวมตัวกันใหม่ ทั้งที่คล้ายเดิมและการมีโครงสร้างใหม่

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีนอยู่ในขั้นการประหมัด ยังไม่ใช่ทำสงครามเต็มรูปแบบ ปฏิบัติโดยฝ่ายบริหารสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ชนชั้นนำสหรัฐมีความเห็นพ้องกันว่าจะต้องยุติหรือเหนี่ยวรั้งความเจริญรุ่งเรืองของจีนที่คุกคามต่อความมั่นคงและผลประโยชน์สหรัฐอย่างรุนแรง

แต่ปฏิบัติอย่างโฉ่งฉ่าง ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรขนานใหญ่กับจีนอย่างฉับพลัน เป็นท่วงทำนองเฉพาะของทรัมป์ ไม่มีประธานาธิบดีคนใดทำมาก่อน และต่อไปก็จะไม่มีใครทำตามเพราะจะไม่ได้ผลเท่า และอาจกลายเป็นเรื่องตลกไป

แม้ในปฏิบัติการครั้งนี้ ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็เห็นว่าสหรัฐจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากมาย เพราะว่ามันเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ตึงเครียด

ทรัมป์เปิดฉากรุกด้วยความเชื่อว่าจะบีบให้จีนเข้าสู่โต๊ะเจรจาที่ตนเองเป็นต่อ

ขณะที่ผู้นำจีนประกาศว่าจะไม่เข้าสู่การเจรจาโดยมีปืนจ่อหัว

แต่ทั้งสองฝ่ายก็เข้าสู่โต๊ะเจรจากันอย่างคร่ำเครียดในช่วงปลายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2019 โดยจีนคิดว่าตนมีข้อเสนอที่สหรัฐรู้สึกว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบขึ้น เช่น สัญญาว่าจะซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้นเพื่อลดปัญหาดุลการค้า การเปิดกว้างมากขึ้น ไม่สร้างเงื่อนไขในการเข้ามาลงทุนในจีนเหมือนเดิม แก้ไขปัญหาทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง

เหล่านี้เป็นสิ่งที่จีนปฏิบัติได้ และในบางด้านจำต้องปฏิบัติ เพราะว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนก้าวมาถึงขั้นที่ต้องยืนแข่งขันบนเวทีโลกโดยไม่มีตัวช่วยเหมือนเดิม นอกจากนี้จีนเองก็ได้ประสบปัญหาการร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ถ่านหิน การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ช่วยบรรเทาการร่อยหรอนี้ไปได้

สำหรับสหรัฐ ไม่ชัดเจนว่ามีความต้องการถึงขั้นไหน ที่พอประเมินความต้องการขั้นสูงสรุปได้ว่า

ด้านหนึ่ง ต้องการให้จีนยุติยุทธศาสตร์ “ทำให้จีน 2025” ให้จีนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากสหรัฐ-ตะวันตกต่อไป

อีกด้านหนึ่ง ต้องการฟื้นฐานอุตสาหกรรมการผลิตของตนภายในประเทศ อย่างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นไปได้ด้วยมาตรการลดภาษีครั้งใหญ่แก่บรรษัท ให้ย้ายฐานมาตั้งในประเทศ และการปฏิวัติในการขุดเจาะน้ำมัน เรียกกันหลายชื่อว่า “การปฏิวัติแฟรกกิง” “การปฏิวัติน้ำมันแน่น” หรือ “การปฏิวัติน้ำมันหินดินดาน” ทำให้สหรัฐเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศอีกต่อไป

ความต้องการขั้นสูงของสหรัฐดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถเป็นจริงได้ในเฉพาะหน้า หรือแม้ในระยะยาว ต้องลงแรงเพิ่ม เช่น การก่อรัฐประหารที่เวเนซุเอลาเพื่อหวังครอบงำกิจการน้ำมันที่นั่น ผลการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน จึงขึ้นอยู่กับฝ่ายทรัมป์ว่าจะยอมรับผลได้เฉพาะหน้าในระดับใด เพราะว่าสิ่งที่จีนจะยอมให้นั้น ก็สามารถนำไปกล่าวได้ว่าเป็นชัยชนะที่งดงาม

ไม่ว่าผลการเจรจาจะเป็นอย่างไร สงครามการค้าสหรัฐ-จีนย่อมไม่สงบลง เพราะยังมีความตึงเครียดหลายด้าน ระหว่างสองประเทศนี้

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงสงครามการเงิน การลงทุนระหว่างจีน-สหรัฐ และการเผชิญหน้ากันที่อันตราย