จัตวา กลิ่นสุนทร : ความเคลื่อนไหวแบบไม่หยุดพักของศิลปินแห่งชาติ

เขียนรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ศิลปินแห่งชาติ” โดยมีหัวแถวเดินงานแบบต่อเนื่องแทบไม่มีเวลาพัก คือ “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) ปี 2540 และกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ

ทำกิจกรรมเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเรื่องของศิลปะแบบเนื้อๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่ และสร้างความตื่นตัว ตื่นรู้กับการเรียนการสอนศิลปะในทุกๆ สาขา พร้อมเชื้อเชิญนำพา “ศิลปินแห่ชาติ” สาขาต่างๆ สัญจรไปยังหลายจังหวัด ทำเวิร์กช็อป (Work Shop) ซึ่งส่วนมากใช้สถานศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏของจังหวัดนั้นๆ สำหรับจัดงาน เนื่องจากมหาวิทยาลัยดังกล่าวส่วนใหญ่เปิดภาควิชา หรือคณะศิลปกรรมกันเกือบจะทั่วประเทศแล้ว

แต่ต้องมาเว้นวรรคเพื่อเสนอเรื่องของ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” นิตยสารรายสัปดาห์ อายุยืนยาวถึง 65 ปี เสียหลายสัปดาห์ ซึ่งคิดว่าเป็นต้นแบบ หรือเป็นแนวทางของนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับอื่นๆ มาไม่น้อย เมื่อมีข่าวกระจายเต็มโซเชียลมีเดีย (Social Media) ว่าจะปิดตัวลง

ในฐานะเคยเริ่มต้นเดินเข้าสู่อาชีพ “หนังสือพิมพ์” ทุ่มเทศึกษาหาประสบการณ์คลุกคลีอยู่จนได้เป็น “บรรณาธิการบริหาร” อยู่ถึง 10 ปี จึงจำเป็นต้องบอกกล่าวเล่าถึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ขณะเดียวกันนิตยสารฉบับนี้ก็ก่อเกิดคนเขียนหนังสือ เขียน “คอลัมน์ศิลปะ” ส่งเสริมเรื่องของ “ศิลปะ” เป็นฉบับแรกๆ เกี่ยวเนื่องสืบต่อๆ กันมากระทั่งปัจจุบัน

 

ด้านการเมืองก็กำลังเขม็งเกลียวกำหนดวัน “เลือกตั้ง” เป็นวันที่ 24 มีนาคม 2562 และเปิดรับสมัครผู้ที่จะเสนอตัวให้ประชาชนลงคะแนนเลือกเป็นผู้แทนไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562

นับถอยหลังไปอีกห้าสิบกว่าวันท่านจะได้เป็นผู้ “กำหนดชะตากรรม” ของประเทศกันแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรมาก่อน

ยังมีความเชื่อว่าเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสามารถกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองได้ว่า จะให้เดินไปสู่ระบอบการปกครองอะไร แบบไหน

“ประชาธิปไตย” ที่ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง มีเสรีภาพเท่ากัน

หรือจะเอา “เผด็จการ” ที่มาแสดงอำนาจทำท่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ขู่ตะคอก ตวาดชี้หน้าประชาชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่ “ยึดอำนาจ” ประชาชนมา นึกอยากจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้อง ใครก็ขัดขวางโต้แย้งไม่ได้ บริหารประเทศแบบไม่มีฝ่ายตรวจสอบ

แต่กลับพาประเทศย่ำแย่ถอยหลังเรื่อง “เศรษฐกิจ” ไม่มีความสามารถทำให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก อยู่ดีกินดี

 

ได้รับข่าวความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจากกลุ่ม “ศิลปินแห่งชาติ” ว่าสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) (2540) ซึ่งได้กล่าวถึงเสมอๆ ว่ามีถิ่นพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” อยู่ในประเทศไทย เกือบตลอดทั้งปี

ปี 2561 เขาเดินทางกลับยังสหรัฐอเมริกาเพื่อดำเนินการนำพา “ยุวศิลปิน” และ “ครูศิลป์” ครูผู้สอนศิลปะซึ่งได้ทำการคัดเลือกไว้ไปศึกษาดูงานในนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, CaLifornia) และรัฐใกล้เคียง

ตลอดจนเปิดนิทรรศการศิลปะเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของเหล่าศิลปินร่วมสมัยในอีกซีกโลกหนึ่ง

กมลเดินทางจากสหรัฐสู่เมืองไทยเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2561 เพื่อลงไปยังจังหวัดกระบี่ ร่วมเปิดงาน “มหกรรมศิลปะนานาชาติระดับโลก” Thailand Biennale Krabi 2018 ตอนต้นเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่าน

ซึ่งเขาได้ทำประติมากรรมแบบถาวรไว้ด้วย

งาน “สุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์” ทั่วจังหวัดกระบี่ ยังรอผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562

 

กมล ทัศนาญชลี และธงชัย รักปทุม 2 ศิลปินแห่งชาติ ร่วมกันให้การต้อนรับ และกล่าวให้โอวาทแก่นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ที่เข้าร่วม “โครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ.2562” (Yong Artists Talent # 10) จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ เทคนิควิธีการ รวมถึงประสบการณ์สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ในการสืบทอดภูมิปัญญาของ “ศิลปินแห่งชาติ-สาขาทัศนศิลป์” เป็นการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างศิลปิน ของศิลปินรุ่นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการสร้างโอกาสและความเป็นเลิศด้านศิลปะให้กับศิลปินเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ก้าวสู่ศิลปินอาชีพ

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ.2562 จึงมีนักศึกษาศิลปะจากประเทศอาเซียนเข้าร่วมโครงการ 5 ประเทศ อาทิ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

โครงการนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-19 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามัน จังหวัดกระบี่ ก่อนที่จะได้ทัศนะศึกษาชมงาน Thailand Bieannale, Krabi ด้วย

 

กมลพร้อมกลุ่มศิลปินแห่งชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าจากสถาบันเก่าแก่ทรงคุณค่าแห่งนี้ ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดงาน “โครงการทางทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติ” (ครั้งที่ 14) ซึ่ง “วิทยาลัยเพาะช่าง” (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) เป็นผู้ดำเนินการจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 25 มกราคม-25 กุมภาพันธ์ 2562

ภายในงานจะมีผลงานสร้างสรรค์งานศิลปกรรมของศิลปินนานาชาติ 30 ประเทศ

ซึ่งกลุ่มศิลปินแห่งชาติได้ร่วมทำงานศิลปะ ทั้งจิตรกรรม เซรามิก ภาพพิมพ์ และ ฯลฯ

ซึ่งจะว่าไปโครงการต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความคิดของศิลปินแห่งชาติศิษย์เก่าสถาบันแห่งนี้ทั้งสิ้น

ขอเรียนเชิญผู้สนใจไปชมงานได้

 

เคยบอกกล่าวแล้วว่า กมลได้ทุ่มทุนจำนวนกว่า 10 ล้านบาทซื้อที่ดินซึ่งติดต่อกับบ้านเดิมที่เขาเกิดย่าน (ซอยราษฎร์ร่วมเจริญ) วงเวียนใหญ่ ก่อสร้างเป็น “บ้านศิลปินแห่งชาสติ” หรือ “หอศิลป์ร่วมสมัย” เลขที่ 111/1 เป็นอาคารสูง 3 ชั้น

โดยทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการติดตั้งลิฟต์ขึ้น-ลง ชั้น 2-3 เท่านั้น

ผลงานศิลปะร่วมสมัยจำนวนมากที่สร้างสมมาอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีวันหยุดตั้งแต่เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่างในวัยเยาว์ จนกระทั่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาจากสถาบันชั้นนำของสหรัฐ และสร้างผลงานในสหรัฐกว่า 3 ทศวรรษ กระทั่งได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” จะถูกนำมาติดตั้งยัง “หอศิลปะร่วมสมัย” แห่งนี้

ผมมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม “บ้านศิลปินแห่งชาติ” หรือ “หอศิลป์ร่วมสมัย” ดังกล่าวหลายครั้งตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว รวมทั้งครั้งสุดท้ายเมื่อเขาเปิดให้ “ศิลปินนานาชาติ” ที่เดินทางมาร่วมงาน “โครงการทางทัศนศิลป์และนิทรรศการนานาชาติ ครั้งที่ 14” ร่วมกับ “ศิลปินไทย ร่วม 100 ชีวิต” เข้าเยี่ยมชมเมื่อปลายเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา

ก่อนจะมีพิธีเปิดเป็นทางการอย่างยิ่งใหญ่ ราวกลางปี พ.ศ.2562

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา สำนักพระราชวัง สนามเสือป่า กรุงเทพมหานคร เพื่อชมงานกิจกรรมของกลุ่ม “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เฝ้าฯ รับเสด็จฯ พร้อม รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย และนายกมล ทัศนาญชลี เป็นตัวแทน “ศิลปินแห่งชาติ” เป็นผู้นำชมกิจกรรมทั้งหมด เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตร “วีดิทัศน์ศิลปินแห่งชาติสัญจร สอนศิลป์” และการถ่ายทอดงานศิลป์ กับศิลปินแห่งชาติ “ศิลป์ กวี คีตา” 3 สาขาพร้อมกัน “ศิลป์” สร้างสรรค์โดยกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์) “กวี” ขับขานโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) “คีตา” บรรเลงเพลงโดยนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเขียน “ภาพฝีพระหัตถ์” ด้วยเช่นเดียวกัน