สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนรู้เทคโนโลยีแบบไม่ให้ถูกกลืน

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ครูสร้างคน (3)

ปลดปล่อยศักยภาพเด็กหลังห้องได้สำเร็จ

บริหารโรงเรียนไปพร้อมกับข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ท่ามกลางภูมิประเทศ ภูเขาสูง

ความห่างไกลไม่ใช่อุปสรรคการพัฒนาโรงเรียนและการเรียนรู้ของนักเรียน

เปิดพรมแดนการเรียนรู้ของลูกศิษย์ ทำให้พวกเขามีโอกาสศึกษาต่อต่างประเทศ

การให้โอกาสคนคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

ครูคือความภาคภูมิใจของครูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทสะท้อนคิดจากหัวใจของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในวีดิทัศน์เล่าผลการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี สะกดครูและผู้บริหารโรงเรียนที่ร่วมอยู่ในห้องประชุมปฏิบัติการพัฒนาไอที ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทุกคนนั่งชมและฟังอย่างใจจดใจจ่อ

เสียงที่ได้ยิน ทุกใบหน้าที่เห็น นอกจากทำให้รู้สึกภูมิใจไปกับครูที่ปรากฏภาพในจอแล้ว ทำให้พวกเขามีขวัญ กำลังใจที่จะเดินตามรอยบรรดาครูต้นแบบ ผู้มีจิตวิญญาณเหล่านั้นต่อไป อย่างหนักแน่น มั่นคง

“พลังครูที่เกิดขึ้นจนเป็นเครือข่าย เป็นพระคุณของพระองค์ท่าน” พิธีกรกล่าว หลังวีดิทัศน์จบลง ด้วยเสียงปรบมือของทุกคน

 

ก่อนถึงคิว ดร.กฤษณพงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เล่าให้รับรู้เรื่องราวในหัวข้อ “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและการสร้างศักยภาพให้กับทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย”

“การพระราชทานรางวัลที่ดำเนินมาผ่านไปแล้ว 2 ครั้ง ขณะนี้กำลังจะเริ่มครั้งที่ 3 ให้กับครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของลูกศิษย์ เป็นครูที่สอนคน โดยเฉพาะคนที่อยู่ห่างไกล ชีวิตยากลำบาก ตัวอย่าง ที่ประเทศติมอร์เลสเต พวกเราเดินทางไปเยี่ยมต้องนั่งรถกว่า 8 ชั่วโมงจึงจะถึง ครูที่ฟิลิปปินส์อยู่ในพื้นที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์พยายามรักษาวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ให้คงอยู่กับโลกาภิวัตน์ได้ กลางวันสอนหนังสือ กลางคืนทำงานร่วมกับชาวบ้าน ช่วยต่อน้ำให้มีน้ำใช้ มีแผงโซลาร์เซลล์ แผงเดียวช่วยให้ชาวบ้านได้รับรู้ความเป็นไป ดูข่าวรอบโลก”

“กระบวนการคัดเลือกครู ดำเนินการจากระดับจังหวัดขึ้นมาเหลือ 150 คน จนได้ 1 คนเป็นครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครูที่เหลือ ทำมาแล้วสองครั้งก็จะมีครูรวม 300 คน ครูเหล่านี้มีโอกาสได้มาพัฒนา แลกเปลี่ยนกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ”

“สิ่งที่จะได้รับจากครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทั้งสามคนที่มาร่วมประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ ทำให้ครูนำไปพัฒนาการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน เชื่อมต่อห้องเรียนไปถึงนักเรียนต่อไป พลังของเทคโนโลยีช่วยปลดปล่อยนักเรียน”

“การประชุมปฏิบัติการเป็นกิจกรรมครั้งแรกที่มูลนิธิไอทีตามพระราชดำริกับมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทำร่วมกัน ครูสร้างคนจาก 11 ประเทศ 2 รอบ ก็เป็น 22 คน กับครูอีก 300 คน ช่วยกันสร้างครูรุ่นใหม่ สร้างนักเรียนครู ในพื้นที่ภาคใต้มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลามาร่วมกัน ต้องหาครูดีให้เจอ ให้ครูดีเหล่านี้ไปช่วยต่อ ให้ผู้บริหารสถานศึกษาช่วยด้วย เป็นจุดเริ่มต้น ทำงานด้วยกันระหว่างครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามกับครูอินโดนีเซีย มาเลย์ และครูเฉลิมพร” ประธานมูลนิธิกล่าวปิดท้าย

พิธีกรรับไม้ต่อ “การดำเนิงานของพันธมิตรเพื่อพัฒนาครู ไม่ใช่รับถ้วย รับโล่ แล้วเอาไปเก็บไว้ก็จบ มูลนิธิทำต่อเพื่อให้ได้คำตอบว่า ครูแต่ละท่านได้รางวัลแล้วไปทำอะไรต่อ เรามีองค์การซิมิโอช่วยขยายเครือข่าย ผู้บริหารควรมีมุมมองทำอะไรบ้าง เพื่อเตรียมเด็กให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก”

 

ระหว่างนั้น เสียงสัญญาณมาจากอินโดนีเซียดังขึ้น การเชื่อมต่อการเรียนรู้ไม่มีพรมแดนกำลังดำเนินต่อไป

“สวัสดีครับ” เสียง ดร.กาต๊อด ฮารี พรีโอวีจันโต ผอ.ซีมิโอ วิดีโอคอลมาจากเกาะชวากลาง ทักทายทุกคนในฐานะวิทยากรหัวข้อการเตรียมนักเรียนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามสู่ศตวรรษที่ 21

Connecting Classroom Through Global Issues ภาพค่อยๆ ทยอยปรากฏบนจอ พร้อมคำบรรยายสด

How Teaching is Changing

Challenger of 21st Century Teaching to be addressed by teachers

“โลกทุกวันนี้เด็กๆ สามารถหาข้อมูลและความรู้ได้จากทุกหนทุกแห่งโดยอินเตอร์เน็ต” ครูกาต๊อดย้ำ ก่อนโยงเข้าสู่ประเด็น Stem Integration within Environmental Situation and Proposed Solution

เขาพูดถึงการศึกษาต้องเชื่อมโยงกับปัญหาที่เป็นจริง การศึกษาต้องรับใช้ชีวิตและสังคม อย่างกรณีสเต็มศึกษากับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเทรนเด็กให้เข้าถึงข้อมูลและคิดหาวิธีการแก้ปัญหา

“ขยะในแม่น้ำ 75% ของแม่น้ำในอินโดนีเซีย มีปัญหา River”s Polution ควรปฏิบัติอย่างไร แก้อย่างไร”

การคิดหาแนวทางลดขยะ เช่น เอาลูกมะพร้าวมาทำเป็นที่เพาะกล้าต้นไม้แทนกระถางพลาสติก เอาขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งกระจายกลาดเกลื่อนในแม่น้ำมาทำเป็นที่รองปลูกต้นไม้

สิ่งเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนมุมมองใหม่ เปลี่ยนวิธีการใหม่ เกิดจากการแลกเปลี่ยนกันเป็นกลุ่ม

Share Ideas Work Together และ Present เกิด Connected Classroom

เกิดทีละขั้นตอน จาก Concept ไปสู่ Design ต่อไป Evaluation จนเป็น Production

“เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แต่ต้องไม่ลืมความมีจริยธรรม อย่าลืมสอนเด็กเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้น IT จะกลืนไป ต้องสอนเด็กให้คิดแก้ปัญหา ใช้กระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์มาแก้ ให้มีทักษะ เด็กจะเป็นกระบอกเสียงไปบอกต่อพ่อ-แม่ ทำให้เกิดการปฏิบัติต่อๆ กันไป”

การนำตัวอย่างปัญหาเรื่องขยะในแม่น้ำมาเป็นช่องทางสร้างกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการคิดและลงมือทำ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เวลา 15 นาทีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ภาพประกอบเพียง 8 ภาพ ให้ความคิดรวบยอด จนถึงแนวทางการสร้างทักษะ ประเด็นปัญหาที่เป็นรูปธรรม

ครูและผู้อ่านท่านใดสนใจ อยากเห็นภาพประกอบการบรรยายชุดนี้ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ติดต่อขอไปที่สำนักงานองค์การซuมิโอ 0-2391-0144, 0-2391-8745

หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 0-2564-7000 น่าจะได้นะครับ

 

หลังคำบอกลาจากอินโดนีเซีย “สวัสดีครับ” จบลง พิธีกรกล่าวเสริม “เราดึงมือกระบี่มือหนึ่งของแต่ละประเทศมาพูด เล่าประสบการณ์ให้ครูและผู้บริหารฟัง เป็นประเด็นคิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นเอกลักษณ์เชื่อมโยงกัน มาเลย์ อินโดนีเซีย ไทย อย่าคิดว่ายาก”

ก่อนรายการจะดำเนินต่อไปเป็นคิวของครูwซนุดดิน (Mr. Zainuddin Zakaria) จากประเทศมาเลเซีย

ครูนำเสนอหัวข้ออะไร

เนื้อหาสาระ ลีลา ทักษะการใช้ไอที เพื่อสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ข้ามโลก น่าสนใจ ตื่นเต้นแค่ไหน

ตอนหน้าค่อยว่ากัน