นักวิชาการจัดหนัก! คน 3 ประเภทที่โลกไม่ต้องการ หลังปลุก “หนักแผ่นดิน” เพาะความเกลียดชัง

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกระแสความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง หลังพรรคการเมืองบางพรรคเสนอนโยบายตัดงบประมาณ ลดกำลังพลและยกเลิกการเกณฑ์ทหารจนสร้างไม่พอใจให้กับผู้นำในรัฐบาล คสช.และผู้บัญชาการทหารบก จนถึงกับพูดว่า เพลง “หนักแผ่นดิน” เหมาะสมกับสถานการณ์นี้ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกระแสดังกล่าวกลับนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์และล้อเลียนพาดพิงกลับไปยังรัฐบาล คสช. ทั้งจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียและพรรคการเมืองออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด

โดยนายอนุสรณ์กล่าวว่า คนแบบไหนที่โลกไม่ต้องการ

1. คนที่เบี่ยงเบนประเด็น ชวนให้ไขว้เขว เพราะนโยบายพรรคการเมืองดังกล่าวเป็นเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กร เป็นการเสนอให้มีการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นการลดต้นทุนหรือภาระทางสังคมของกลไกรัฐ รวมถึงเป็นการพยายามทำให้กลไกรัฐมีบทบาทหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น

หากไม่เห็นด้วยก็ต้องหาข้อมูลมายันหรือใช้เหตุผลหักล้าง มิใช่ตอบโต้ด้วยการกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นศัตรูของชาติหรือเป็นพวกหนักแผ่นดิน เพราะนอกจากจะชวนให้คนทั่วไปเข้าใจผิดคิดว่ากองทัพคือชาติหรือแผ่นดินที่ทุกคนต้องปกปักรักษา การเบี่ยงเบนประเด็นเช่นนี้ยังทำให้สังคมไม่สามารถนำปัญหาเกี่ยวกับกองทัพมาร่วมกันขบคิดพิจารณาได้

2. คนที่จับแพะชนแกะ เอาอดีตมาโยงกับปัจจุบันจนมั่วไปหมด เพราะเพลงหนักแผ่นดินแต่งขึ้นในบริบทของสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็นสองค่าย เป็นช่วงเวลาที่คอมมิวนิสต์ถูกวาดภาพให้เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของประเทศไทย ทว่าโลกและประเทศไทยผ่านยุคสงครามเย็นมานานแล้ว ประเทศคอมมิวนิสต์เปลี่ยนโฉมไปมาก เป็นที่คบค้าทำมาหากินของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองอย่างไร ประเทศไทยก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะกล่าวได้ว่าตกอยู่ในสภาวะถูกคุกคามจากภัยภายนอกได้อีก

การเอาวิธีการเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วมาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันจึงเป็นการจับแพะชนแกะที่สะท้อนความไม่สำเหนียกในประวัติศาสตร์และความอับจนปัญญาในการเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ซึ่งจะฉุดรั้งให้ประเทศไม่ไปไหนเสียที

3. คนที่ปลุกเร้าความโกรธแค้นเกลียดชัง สร้างเงื่อนไขให้เกิดการใช้ความรุนแรง เพราะเพลงหนักแผ่นดินเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยไม่สามารถรับมือกับความขัดแย้งได้อย่างสันติ และชี้ให้เห็นว่าความโหดเหี้ยมอำมหิตเป็นไปได้ในสังคมนี้หากว่าได้รับการปลุกเร้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยผ่านกลไกรัฐรวมถึงสื่อหลัก

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอยู่ในความขัดแย้งที่ลุกลามเป็นความรุนแรงหลายครั้งภายใต้เงื่อนไขที่ต่างกันออกไป การปลุกผีเพลงหนักแผ่นดินที่ปลุกเร้าความโกรธแค้นเกลียดชังจึงรังแต่จะสร้างเงื่อนไขให้สถานการณ์เลวร้ายลงอีก อีกทั้งยังไม่เข้ากับห้วงเวลาที่ประเทศกำลังจะอาศัยการเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการคลี่คลายความขัดแย้งอย่างสันติและมีอารยะร่วมกัน

คนแบบนี้แหละที่สมควรถูกประณาม