จิตต์สุภา ฉิน : จุดจบของ Cyberbullying โดยฝีมือของ AI

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

โลกของคนสมัยนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองโลก

คือโลกออฟไลน์กับโลกออนไลน์ เรามักจะคิดว่าสองโลกนี้ถูกแยกขาดออกจากกัน อะไรที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตก็ปล่อยให้มันเป็นเรื่องของอินเตอร์เน็ต และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ตัวตนของเรายืนอยู่

แต่เอาเข้าจริงๆ สองโลกนี้ก็ได้ผสมผสานรวมกันเป็นโลกเดียว เราใช้เวลาอยู่กับโลกออนไลน์เยอะไม่แพ้โลกออฟไลน์ แถมเรายังเทข้อมูล ความคิด ความรู้สึก ใส่เข้าไปในอินเตอร์เน็ตอยู่แทบจะทุกวินาที ดังนั้น จึงน่าจะพอสรุปได้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจเราบนอินเตอร์เน็ต มันจะต้องตามออกมาหลอกหลอนในทุกย่างก้าวราวกับเงาทะมึนที่ไม่ยอมจากไปไหน

ปัญหาการกลั่นแกล้งกันบนโลกไซเบอร์ หรือ cyberbullying จึงเป็นเรื่องที่แม้จะเป็นเพียงตัวอักษรไม่กี่คำ หรือภาพไม่กี่ภาพบนโลกอินเตอร์เน็ต

แต่อาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรงและนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่เราได้รับข้อความที่แสดงความเกลียดชัง การแบล๊กเมล การละเมิดทางเพศ หรือการขู่ทำร้ายร่างกาย ทั้งหมดนี้สามารถทิ้งบาดแผลระยะยาวเอาไว้ และทำให้ชีวิตนอกอินเตอร์เน็ตของเหยื่อไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

การกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ควบคุมและห้ามปรามได้ยาก การใช้มนุษย์มาคอยช่วยสอดส่องตรวจตรานั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะวันหนึ่งๆ มีการสร้างคอนเทนต์มหาศาลขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะใช้คนจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอ

ปัญญาประดิษฐ์จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยจัดการปัญหาเรื่องนี้ค่ะ

 

ที่ผ่านมาปัญหาของการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยสอดส่องหาสัญญาณของการกลั่นแกล้งกันทางไซเบอร์มักจะพบอุปสรรคทางด้านภาษา เพราะการกลั่นแกล้งกันไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่หยาบคายเสมอไป

บางครั้งคำสุภาพๆ หรือคำธรรมดาๆ ไม่กี่คำนี่แหละที่สามารถทิ้งรอยแผลบาดลึกให้กับคนที่ได้อ่านได้

ในขณะที่ภาษาหยาบคายก็ไม่ได้แปลว่าจะมีเนื้อหาที่แย่หรือมีจุดประสงค์ของการทำลายล้าง คำหยาบบางคำถ้าหากอยู่ถูกที่ถูกเวลาก็กลับกลายเป็นศิลปะที่งดงามได้

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม็กกิลในแคนาดาจึงได้ปิ๊งไอเดียว่าถ้าอย่างนั้นเราน่าจะสามารถฝึกฝนให้อัลกอริธึ่มตรวจจับคำพูดที่ส่องถึงความเกลียดชังได้แม่นยำขึ้นโดยเจาะจงเป็นกลุ่มๆ ไปเลย ด้วยการดูว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีคนกลุ่มไหนบ้างที่อาจตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง

อย่างเช่น ผู้หญิง คนผิวสี หรือคนอ้วน และผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มนั้นมีการเลือกใช้คำว่าอะไรบ้างในการที่จะกลั่นแกล้งคนเหล่านั้น วิธีนี้ก็จะทำให้สามารถมองหาการกลั่นแกล้งกันได้ง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างคำว่า animal หรือสัตว์ ซึ่งหากอยู่ด้วยตัวมันเองโดดๆ ก็อาจจะไม่ได้มีความหมายไปในทางลบหรือเหยียดหยามใคร

แต่คำนี้มักจะถูกหยิบมาใช้เพื่อลดความเป็นมนุษย์ของคนอื่น (อาจจะคล้ายๆ กับสัตว์ หรือสัส บนโลกอินเตอร์เน็ตบ้านเรา แต่แตกต่างตรงที่ว่าคำนี้ของเราถูกนำมาใช้เป็นคำอุทานที่ปนความขำขันเข้าไปได้ด้วย ในขณะที่ในบริบทภาษาอังกฤษยังเป็นคำด่าที่รุนแรง)

ผลการสำรวจปี 2017 ทำให้เราได้รู้ว่า อินสตาแกรม คือโซเชียลมีเดียที่ผู้ใช้งานวัยรุ่นถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด โดยมีอัตราส่วนสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานที่ทำการสำรวจ ซึ่งนับว่าสูงกว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นๆ มาก

เหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งก็มีตั้งแต่คนธรรมดาทั่วๆ ไป ไปจนถึงดารา เซเลบ คนดังทั้งหลาย ที่วันๆ หนึ่งไม่รู้ถูกโจมตีกี่สิบกี่ร้อยครั้ง

 

อินสตาแกรมเองก็มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยกลั่นกรองข้อความหรือภาพที่มีลักษณะของการกลั่นแกล้งกันด้วยเหมือนกัน โดยจะตรวจจับเนื้อหาของภาพ วิดีโอ หรือคำบรรยายใต้ภาพ ไปจนถึงคอมเมนต์ เพื่อที่จะกำจัดเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งอินสตาแกรมบอกว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลบเนื้อหาเหล่านี้ออกไปนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็น เนื่องจากเหยื่อจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรีพอร์ตการถูกกลั่นแกล้งนั้นๆ และระบบนี้ยังสามารถช่วยเอื้อให้มีการดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดด้วย

นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดการกลั่นแกล้งรังแกกันบนอินเตอร์เน็ตแล้ว ก็ยังเข้ามาช่วยลดปัญหาเรื่องเดียวกันนี้ในโลกออฟไลน์ด้วยเหมือนกัน

อย่างเช่น Botler AI ซึ่งเป็นแชตบ็อตที่สามารถพูดคุยโต้ตอบได้ด้วยภาษาธรรมชาติ จะทำหน้าที่ช่วยพูดคุยให้คำปรึกษาเหยื่อที่ถูกละเมิดทางเพศในโลกออฟไลน์ ประเมินสถานการณ์ว่าในทางกฎหมายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถนำไปดำเนินคดีได้หรือไม่ และช่วยดำเนินการแจ้งความเพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์รับเรื่องต่อ ซึ่งการทดลองเป็นระยะเวลาหกเดือนพบว่ามันสามารถทำงานได้ด้วยความแม่นยำที่สูงถึง 89 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบหาการกลั่นแกล้งกันบนโลกอินเตอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การลดปัญหาการฆ่าตัวตายของเหยื่อได้

โดยที่ตัวปัญญาประดิษฐ์เองก็ได้รับการฝึกฝนให้สามารถสอดส่องหาแนวโน้มของการที่ผู้ใช้งานจะฆ่าตัวตายได้ด้วยเหมือนกัน

 

บีบีซีรายงานผลการวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือการวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ที่สามารถระบุได้ว่าใครกำลังมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยมีความแม่นยำสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์

วิธีการทดลองก็คือนักวิจัยจะถามอาสาสมัคร 34 คน ให้ลองนึกถึงด้านบวกและด้านลบของการมีชีวิตอยู่และความตาย ในขณะที่ใช้เครื่อง fMRI สแกนสมองของพวกเขาไปด้วย จากนั้นจึงใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาช่วยประมวลผล

การทดลองนี้ทำให้นักวิจัยสามารถแยกความแตกต่างได้ว่าคนที่มีสุขภาพจิตปกติ กับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายมองคอนเซ็ปต์ของ “ความตาย” และ “ความเป็นอิสระ” แตกต่างกันอย่างไร แล้วจึงชี้ไปได้ว่าคนไหนบ้างที่มีวิธีคิดแบบมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายโดยดูจากความแตกต่างเหล่านี้

วิธีทั้งหมดนี้อาจจะดูเป็นวิธีตั้งรับที่ทำได้เพียงแค่การระบุตัวเหยื่อและเข้าไปช่วยเหลือ

ไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะมีเทคโนโลยีที่เก่งกาจกว่านี้ที่พร้อมจะเข้าไปแทรกแซงกระบวนการของการกลั่นแกล้ง และช่วยกำจัดให้สูญพันธุ์ไปจากโลกอินเตอร์เน็ตได้

แต่ก็น่าคิดต่อไปว่ามนุษย์ที่มักจะมีกลวิธีในการหลบหลีกไหลซ้ายขวาและวิวัฒนาการไปเรื่อย

ก็น่าจะสามารถค้นพบวิธีทำลายมนุษย์ด้วยกันวิธีใหม่ๆ ได้อยู่ดี