เคยได้ยิน คำว่า “Post-truth” ไหมครับ หนุ่มเมืองจันท์ ถาม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เคยได้ยินคำว่า “Post-Truth” ไหมครับ

ล่าสุด พจนานุกรมอ๊อกซ์ฟอร์ด เพิ่งยกให้คำนี้เป็นคำศัพท์แห่งปี

คำนี้มีการใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1992

แต่ปีนี้มีคนนำคำว่า “Post-Truth” มาใช้เพิ่มขึ้น 2,000%

มากที่สุดตอนที่มีการลงประชามติว่าอังกฤษจะอยู่หรือออกจากอียู

และตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ความหมายของ “Post-Truth” คือ เรื่องหรือสถานการณ์ที่ “ความจริง” ไม่สำคัญหรือไม่มีความหมายเท่ากับอารมณ์และความเชื่อของคน

เป็นคำศัพท์ที่นอกจากอธิบายการเมืองระดับโลกแล้ว

ยังอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้เป็นอย่างดี

เรื่อง “อารมณ์” กับ “เหตุผล”

หรือ “ความเชื่อ” กับ “ความจริง”

“อารมณ์-ความเชื่อ” กับ “เหตุผล-ความจริง” เปรียบเสมือน “มุมแดง” กับ “มุมน้ำเงิน” ของการชกมวย

คือ อยู่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

และคนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าการตัดสินใจทุกอย่างในโลกนี้ต้องใช้ “เหตุผล”

ต้องยึดถือ “ความจริง”

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง บางทีการตัดสินใจของคนก็ขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว

อย่างในทางการตลาด เขาจะให้น้ำหนักกับเรื่อง “อารมณ์ความรู้สึก” เยอะมาก

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าเราตัดสินใจด้วย “เหตุผล”

ซื้อของด้วย “เหตุผล”

ไม่จริงเลยครับ บางจังหวะเราจะตัดสินใจด้วย “ความรู้สึก”

ในวงการช็อปปิ้งออนไลน์ เขาจะบอกเลยว่าในเว็บไซต์ที่ขายของจะต้องมีขั้นตอนการซื้อที่ง่าย

กดไม่กี่ปุ่มก็ซื้อได้เลย

และต้องมีช่องทางการตัดบัตรเครดิต หรือโอนเงินออนไลน์

จ่ายเงินแบบไหนก็ได้แต่ต้องอยู่บนจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ

อย่าเปิดช่องให้คนเดินไปโอนเงินทางตู้เอทีเอ็ม หรือทางธนาคารเด็ดขาด

เพราะตอนที่อยู่หน้าจอ คุณจะถูกเร้าด้วยความรู้สึกอยากได้

แต่ถ้าเปิดโอกาสให้ลุกขึ้น เดินไปตู้เอทีเอ็ม

ช่วงเวลาที่พ้นจากหน้าจอ

“สิ่งเร้า” จะหายไป

และ “เหตุผล” จะกลับมา

ซื้อดีหรือเปล่า เอาเงินไปซื้ออย่างอื่นดีกว่าไหม ฯลฯ

เชื่อไหมครับว่าสุดท้ายคนกลุ่มนี้จะเหลือที่ตัดสินใจซื้อไม่ถึง 50%

หรือในทางการเมือง คุณอานันท์ ปันยารชุน เคยบอกไว้ว่า “ความเชื่อ คือ ความจริง”

คมคายและจริงมากครับ

ถ้านักการเมืองทำให้สังคมเชื่อว่าคุณเป็น “คนดี”

…คุณเป็น “คนดี”

และเมื่อเป็น “คนดี” แล้ว

ทำอะไรก็ไม่ผิด

ในขณะที่ใครที่ถูกสร้างภาพให้เป็น “คนโกง”

หายใจก็ยังโกงเลยครับ

 

“Post-Truth” ในเมืองไทยมีเยอะครับ

ตอนที่เกิดเหตุการณ์ “น็อต กราบรถกู”

คนส่วนใหญ่สะใจที่ต้นสังกัดประกาศเลิกสัญญากับ “น็อต”

ไทยพีบีเอสถึงขั้นยกเลิกรายการที่ “น็อต” เป็นพิธีกร

ถือเป็นการจัดการขั้นเด็ดขาด

ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เยาวชน

กรณีของ “น็อต” นั้นทุกคนเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งผิด

แต่คำถามก็คือ โทษที่เขาได้รับนั้นเหมาะสมหรือหนักหนาสาหัสเกินกว่าสิ่งที่เขาทำหรือไม่

ถ้าใช้หลัก “เหตุผล” มาจับ

ต้องมี “มาตรฐาน” เดียว

นึกถึง “เสก โลโซ” ได้ไหมครับ

ตอนที่เขาเจอเรื่องยาเสพติด

หรือล่าสุดที่ซ้อมผู้หญิงจนกรามหัก

ศาลตัดสินจำคุกแต่รอลงอาญา

เหตุเกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน

ถ้าใช้มาตรฐานเดียวกัน

ความผิดของ “เสก” รุนแรงกว่า “น็อต” หลายเท่า

แต่เขาก็ยังรับงานได้ปกติ

ออกทีวีก็ได้

เพราะอารมณ์ความรู้สึกของสังคมกรณีเรื่อง “น็อต” แรงกว่า “เสก”

หรืออย่างกรณี “สรยุทธ สุทัศนะจินดา”

ก่อนที่เขาจะอำลาจอไปเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินว่าเขาผิดในคดี “ไร่ส้ม”

“สรยุทธ” เป็นคนหนึ่งที่น่าเห็นใจมาก เพราะเขาเจอกระบวนการไล่ล่าอย่างหนัก

ตั้งแต่ชั้นอัยการสั่งฟ้อง ศาลชั้นต้นยังไม่ตัดสินเลยครับ

ก็มีการสร้างกระแสเรียกร้องให้เขาพ้นจากหน้าจอ

เลิกเป็นพิธีกร เพราะความผิดเรื่อง “ฉ้อโกง”

ทั้งสภาวิชาชีพและสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนออกมาถล่ม “สรยุทธ” อย่างหนัก

ทั้งที่คดีเป็นเรื่องธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องประพฤติผิดจรรยาบรรณในฐานะ “สื่อมวลชน”

ผิดพลาดเรื่องธุรกิจ แต่ให้เลิกทำสื่อ

ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้บริหารสื่อยักษ์ใหญ่อีก 2 สำนัก

คนหนึ่งเจอคดีฉ้อโกงแบงก์

อีกกลุ่มหนึ่ง อัยการสั่งฟ้องกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกรณีเรียกประชุมผู้ถือหุ้น

“มาตรฐาน” ที่เคยใช้กลับหายไป

ตอนที่เล่นงาน “สรยุทธ”

ทุกคนเต็มไปด้วยมาตรฐานแห่งจริยธรรม คุณธรรม

และทุก “ธรรม” ที่มีอยู่บนโลก

แต่พอเป็นคนในแวดวงเดียวกัน

“มาตรฐานเดิม” หายเกลี้ยง

ทุกคนยังปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนได้ตามปกติ

ไม่ผิดจรรยาบรรณ

นี่คือ “Post-Truth” ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

 

ยิ่งตอนนี้ “โซเชียลมีเดีย” มีบทบาทมากขึ้น

“ความเร็ว” ของโซเชียลมีเดียจะยิ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของคนมากขึ้น

ทั้งเร็วและแรง

พอเกิด “อารมณ์”

“เหตุผล” ก็หายไป

เอ่อ… ผมหมายถึงเรื่องการเมืองและสังคมนะครับ

อย่าคิดเป็นอื่น

ผมว่าเราต้องรู้เท่าทันโซเชียลมีเดีย

ต้องตั้งสติก่อนตัดสินคน

นึกถึง “ใจเขา-ใจเรา”

อย่างตอนนี้นักข่าวคนหนึ่งที่เป็นหัวหอกกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนที่ระนองใส่ชุดสีแดงในงานรับมอบตำแหน่ง

ตอนนี้ก็เจอชะตากรรมเดียวกัน

เคย “ล่าแม่มด” เล่นงาน ผอ. คนนั้น

ตอนนี้พอสถานการณ์พลิกกลับ เขาก็เจอการ “ล่าแม่มด” เข้าบ้าง

“ใจเขา-ใจเรา” ครับ

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมนึกถึงคำคมหนึ่งขึ้นมา

“อย่าตัดสินใคร จนกว่าจะได้ใส่รองเท้าม็อกคาซีนของเขาเดิน 2 ดวงจันทร์”

เพราะการตัดสิน “คน” ต้องตัดสินด้วย “ความเข้าใจ” และ “เหตุผล”

ไม่ใช่ตัดสินด้วย “อารมณ์”

“ใส่รองเท้าม็อกคาซีนของเขา”

คือ ต้องสมมุติว่า “เรา” เป็น “เขา”

“เดิน 2 ดวงจันทร์”

คือ ทอดเวลาในการตัดสินใจจน “อารมณ์ร้อน” สงบลงเสียก่อน

เห็นดวงจันทร์สัก 2 คืนก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ

ครับ ในโลกยุคใหม่ที่ทันสมัย และรวดเร็ว

คติที่เหมาะจะเตือนสติเราที่ดีที่สุด

มาจากโลกที่ล้าสมัยและช้าที่สุด

คติที่ผมยกขึ้นมานั้น

เป็นของ “อินเดียนแดง” ครับ