จรัญ มะลูลีม : มรรค 7 ของซูฟี

จรัญ มะลูลีม

ท่านศาสดาแห่งอิสลามและมุสลิมในสมัยแรกๆ เป็นจำนวนมากชอบสวมเสื้อผ้าเรียบๆ มากกว่าเสื้อผ้าสีฉูดฉาดแม้กระทั่งในโอกาสที่มีงานฉลองคำว่า “อัสวาฟ” (พหูพจน์ของสุฟ) มีใช้ในคัมภีร์อัล-กุรอานด้วย

ทีนี้ขอให้เรามาดูคำว่า “วะลี” (Wali) บ้าง เพราะสองคำนี้ (ซูฟีกับวะลี) นั้นใช้แทนกันอยู่เสมอๆ

“วะลี” หมายถึง “ใกล้” และ “วิลาอิต” (Wilait) หมายถึง “ความใกล้” หรือ “ความใกล้ชิดกับพระเจ้า”

วิลาอิตมีอยู่สองระดับ ระดับหนึ่งหมายถึงผู้ศรัทธาโดยทั่วไป ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวว่า “พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ หรือเป็นมิตรกับบรรดาผู้มีศรัทธา (และ) ทรงนำพวกเขาออกมาจากความมืดมาสู่แสงสว่าง”

ส่วนอีกระดับหนึ่งสงวนไว้สำหรับผู้ที่ทำลายตัวเองลงในพระเจ้า

เพราะฉะนั้น “วะลี” ที่แท้จริงก็คือผู้ที่ศรัทธาในพระองค์และตายไปในพระองค์

ดังที่ครั้งหนึ่ง อิบรอฮีม บิน อาดัม (Ibrahim bin Adam) เคยกล่าวแก่ผู้หนึ่งที่อยากเป็นวะลีว่า

“จงอย่าเอนเอียงเข้าหาอะไรในโลกนี้หรือโลกหน้า และจงรักษาตัวเองให้จำกัดอยู่แต่ในพระผู้อภิบาลผู้สูงส่งของท่านและในที่สุดก็จงซึมซาบเข้าไปในพระองค์เถิด”

 

อะบุล กอซิม อัล-กุชัยรี (Abul Qasim al-Qushairy) ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อริซาละอีกุชัยรียะฮ์ (Risala-i-Qushairiyah) ซึ่งเป็นหนังสือเก่าแก่ที่สุดที่มีอยู่เกี่ยวกับลัทธิซูฟี เขียนเมื่อปี 1040 ว่า คำว่า “วะลี” นั้นอาจถือว่าเป็น

ก) กรรมวาจก (Passive Voice) หมายถึง “ผู้ซึ่งถูกรักโดยพระเจ้า” ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวว่า “แน่แท้ผู้คุ้มครองฉันนั้นคือพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยพระคัมภีร์”

หรือ ข) วาจก (Active Voince) หมายถึง “เขาผู้ที่รักการบูชาและอุทิศตนแด่พระเจ้า” และอะบู อับดุลลอฮ์ คอฟิฟ (Abu Abdullah Khafif) กล่าวว่า “ซูฟีคือผู้ที่พระเจ้าทรงทำให้บริสุทธิ์เพื่อพระองค์เองเนื่องด้วยความรัก”

นักอรรถาธิบายมุสลิมมักจะแบ่งมนุษย์ออกเป็นระดับดังนี้

1) ผู้มีความสำเร็จซึ่งบรรลุจุดหมายปลายทางเป็นอย่างดีแล้ว

2) ผู้มีคุณสมบัติกลางๆ ซึ่งกำลังเดินทางอยู่ตามหนทางที่นำไปสู่จุดหมายปลายทาง

3) ผู้ไร้ค่าซึ่งหยุดนิ่งอยู่

 

บุคคลระดับที่ 1 นอกจากท่านศาสดามุฮัมมัดและศาสดาอื่นๆ ถูกแบ่งออกไปอีกเป็น (ก) ซูฟีผู้ซึ่งบรรลุถึงจุดหมายปลายทางโดยการเดินตามรอยเท้าศาสดาทั้งหลาย และได้กระทำหน้าที่อันสูงส่งคือนำมวลชนไปสู่ทางที่เที่ยงธรรมด้วย

(ข) ฟากิร (Faqir) ผู้ซึ่งหลังจากบรรลุถึงความสมบูรณ์แล้วก็ได้ทำตัวเองให้หายไปในความลืมเลือน ซูฟีย่อมเหนือกว่าฟากิร เนื่องจากฟากิรมุ่งที่จะไปให้ถึงจุดหมายโดยอาศัยความยากจนและการสละโลก ในขณะที่ซูฟีมิได้ใช้หนทางหรือวิธีการใดๆ และมั่นใจว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ซูฟีซึมซาบอยู่ในจุดหมายปลายทางของเขาเสียจนแยกไม่ออกระหว่างวิถีทางกับจุดปลายทาง ยิ่งกว่านั้น นอกจากจะหาความสมบูรณ์ให้แก่ตนเองแล้ว

ซูฟียังพยายามที่จะทำให้ผู้อื่นสมบูรณ์ด้วยโดยนำพวกเขาไปยังการกระทำที่ถูกต้อง ในเมื่อฟากิรมุ่งอยู่แต่ตัวเองเท่านั้น

ทฤษฎีพัฒนาจิตวิญญาณของซูฟีตั้งอยู่บนการสละตัวตนโดยสิ้นเชิงและดูดซึมอยู่ในการคำนึงถึงพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ ซูฟีเชื่อว่า ด้วยการดูดซึมและการมุ่งสำรวจจิตนี้เขาอาจได้ติดต่อกับพระเจ้าอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และได้รู้ถึงสัจจะอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ความเชื่อนี้ ในขณะที่มันทำให้ผู้เคร่งในศาสนาอุทิศชีวิตของเขาเพื่อศาสนา

แต่ในขณะเดียวกันก็อาจก่อให้เกิดความเพ้อเจ้อขึ้นได้

 

การรู้จักพระเจ้าโดยญาณวิสัยหรือตะอัรรุฟ (Taamuf) นั้นมีแฝงอยู่ในความศรัทธาแล้ว ความตั้งใจ (นิยาต) ที่จะ “เข้าถึง” กุรบัต (Kurbat) และมีการติดต่อกับพระเจ้าเป็นหลักเบื้องต้นอันสำคัญของการอุทิศตนอย่างแท้จริง

ไม่เพียงแต่ว่าพระเจ้าตรัสกับหัวใจของมนุษย์ผู้แสวงหาความช่วยเหลือและการนำทางของพระองค์อย่างจริงใจและกระตือรือร้นเท่านั้น แต่ความรู้ทุกอย่างยังมาจากปรีชาฌานอันสูงส่งของพระองค์อีกด้วย มันถูกส่งมาถึงท่านศาสดาโดยการเปิดเผย (Revelation-วะฮีย์) โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านสื่อกลาง การติดต่อโดยตรงเช่นนี้ในอิสลามเรียกว่า “อิลมิ ลาตุนนี” (IImi-Laduni) คำสัญญาของพระเจ้าได้พบการสนองตอบในหัวใจของมนุษย์เมื่อ (หัวใจ) ถูกยกขึ้นสูงในการวิงวอนถึงพระองค์

ผู้นิยมความลี้ลับของทุกเชื้อชาติศาสนาเปรียบความก้าวหน้าของชีวิตด้านจิตวิญญาณว่าเป็นการเดินทางหรือการไปแสวงบุญ มีการใช้สัญลักษณ์อย่างอื่นๆ เหมือนกัน แต่ที่ใช้กันมากคืออย่างนี้

ซูฟีผู้เริ่มต้นแสวงหาพระเจ้ามักจะเรียกตัวเองว่า “ผู้สัญจร” หรือซาลิก (Salik) ไปตามทาง (เฏาะรีเกาะฮ์) เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางคือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความจริงแท้ (ฟะนาฟิลฮักก์)

“หนทาง” นั้นประกอบด้วยขั้นตอน 7 ขั้นตอนด้วยกัน

แต่ละขั้นตอน (นอกจากขั้นตอนแรก) ต่างก็เป็นผลของขั้นตอนที่อยู่หน้าถัดมันไป

 

ขั้นตอนทั้งเจ็ดมีดังนี้ (1) ความสำนึกผิด (2) การงดเว้น (3) การสละโลก (4) ความยากจน (5) ความอดทน (6) ความไว้วางใจในพระเจ้า (7) ความพอใจ

“ขั้นตอน” เหล่านี้ก่อให้เกิดวินัยแบบฤๅษีและด้านจริยธรรมของซูฟี

หนทางของซูฟีจะไม่หมดลงจนกว่าเขาจะผ่านขั้นตอนทั้งหมดไปเสียก่อน เขาต้องการทำตัวให้สมบูรณ์ในแต่ละขั้นตอนก่อนที่จะก้าวไปสู่ขั้นตอนใหม่

เขาจะได้รับความสำเร็จในขั้นตอนไหนก็ได้ถ้าพระเจ้าทรงพอใจและมอบความสำเร็จให้แก่เขา ตรงนั้นแหละที่เขาจะถูกยกขึ้นไปสู่ความสำนึกในระดับสูงอย่างถาวรซึ่งซูฟีเรียกว่า “มะอ์ริฟาต” (Marifat) และ “ความจริงแท้” (ฮะกีกัต)

ตรงจุดนี้ผู้แสวงหา (ฏอลิบ) ก็จะกลายเป็น “ผู้รู้” หรือสิ่งที่ผู้นั้นรู้ (อะรีฟ) ไปและประจักษ์แจ้งว่าความรู้ ผู้รู้และสิ่งที่ผู้นั้นรู้ก็คือสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวกัน

พระเจ้าในอัล-กุรอานได้ถูกบรรยายว่าเป็น “แสงสว่างแห่งฟากฟ้าทั้งหลายและของผืนแผ่นดิน” นั้นไม่อาจแลเห็นได้ด้วยตากาย การให้ความหมายแบบลี้ลับของข้อความที่มีชื่อเสียงข้อความหนึ่งในอัล-กุรอาน ซึ่งเปรียบแสงสว่างของพระเจ้าเป็นเหมือนเทียนไขที่ลุกอยู่ในดวงโคมที่ทำด้วยแก้วใสซึ่งวางอยู่ในช่องในผนัง ช่องผนังนั้นก็คือหัวใจของผู้มีศรัทธาที่แท้จริง

เพราะฉะนั้น พระวจนะของพระองค์ก็คือแสงสว่าง การงานของพระองค์ก็คือแสงสว่าง และพระองค์ทรงเคลื่อนไหวอยู่ในแสงสว่าง แสงสว่างที่ส่องสว่างอยู่ในหัวใจของซูฟีผู้มีแสงสว่างแล้วจะทำให้เขามีพลังอำนาจเหมือนมนุษย์ในการมองเห็น (ฟุรูซัต) พระเจ้าได้

จากแสงสว่างที่รุ่งโรจน์เพิ่มขึ้นๆ ซูฟีก็จะขึ้นไปสู่การใคร่ครวญถึงคุณลักษณะของพระเจ้า และในที่สุดเมื่อความสำนึกในตัวตนของเขาละลายหายไปหมด เขาก็เปลี่ยนรูปไป (ตะเญาฮัร) อยู่ในรังสีแห่งตัวตนอันแท้จริงของพระเจ้า

นี่คือ “จุดหมาย” ของการทำดี เพราะว่า “พระเจ้าทรงอยู่กับผู้กระทำดี”

 

ซูฟีเชื่อว่า เมื่อตัวตนส่วนบุคคลสูญไป

เขาก็จะได้พบตัวตนสากล

หรืออาจกล่าวได้ว่า ความปีติซาบซึ้งเป็นทางเดียวที่ดวงวิญญาณจะสื่อความหมายกับพระเจ้าได้โดยตรงและสามารถเข้ารวมกับพระองค์ได้

ทฤษฎีเรื่องการบำเพ็ญตนแบบฤๅษีก็ดี

การชำระจิตใจบริสุทธิ์ก็ดี

ความรัก ความรู้อันเป็นพิเศษ

หรือความเป็นวะลีก็ดี ซึ่งเป็นความคิดสำคัญๆ ของลัทธิซูฟี

ทั้งหมดนี้ต่างก็มาจากหลักการอันสำคัญนี้ทั้งสิ้น