เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : จากเลียงผาถึงเต่ามะเฟือง

คุณเชวง เหล็กกล้า ชวนไปอ่านกวีงาน “บ้านเลียงผา ป่าหินปูน” ที่แก่งคอย สระบุรี เมื่อวันอาทิตย์ 20 มกราคมที่ผ่านมา

เป็นงานกลางแจ้งสนามหน้าโรงเรียนพระพุทธบาทน้อย ที่อยู่ท่ามกลางเขาหินปูนรายเรียงว่ามีถึงสิบกว่ายอดเขา

บรรยากาศงดงามสดชื่น ปลอดพิษภัยจากฝุ่นหินปูน แม้อยู่ท่ามกลางดงเขาหินปูน

เพราะผู้รักษาบรรยากาศเหล่านี้ไว้ตัวจริงก็คือ เลียงผา

เลียงผาคือแพะภูเขา ที่เวลานี้หายากเต็มทีแล้ว

“ถ้าไม่อนุรักษ์ก็คงหมดละครับ”

คุณเชวงบอกกับเรา

“…หมดทั้งฝูงเลียงผาและภูเขาหินปูนที่สวยงามนี้แหละครับ”

คุณเชวงเล่าว่า เคยมีชาวบ้านล่าเลียงผาและเคยมีเลียงผาถูกหมาล้อมล่ากัดตายแถวเนินเขา ซึ่งเกิดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว จากนั้นมีบริษัทปูนซีเมนต์จะมาขอสัมปทานผลิตปูนจากเขาหินปูนละแวกนี้ ชาวบ้านไม่ยอมด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเลียงผาและที่อยู่อาศัยของมัน คือเขาหินปูนเหล่านี้นี่เอง

นี่คือ บ้านเลียงผา ป่าหินปูน

ที่กลายเป็นอาณาบริเวณสำคัญของชุมชนในละแวกนี้ด้วย

จึงเกิดพันธสัญญาคือ ข้อตกลงร่วมกันทั้งสามฝ่ายคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน คือบริษัทปูนทั้งหลายบรรดาที่มาตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันในอาณาบริเวณนี้ กับภาคสุดท้ายคือ ชุมชน หรือประชาชนละแวกนี้

นี้คือที่มาของงานคืนนี้

นอกจากวงดนตรีสมัครเล่นของกลุ่มคุณเชวงแล้วก็มีศิลปินเดี่ยวคือคุณมาโนช พุฒตาน และวงใหญ่เต็มวงของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ หรือ “น้าหมู” ของเรา

ขณะอ่านกวีประกอบดนตรี มีแสดงเขียนรูปโดยคุณไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ หรือครูเบิ้ม เติมศิลป์ ประกอบ ตามบทกวีข้างต้นนั้น

เต็มลานสนามคือฟ่อนฟางที่จัดวาง ทั้งเป็นโต๊ะและที่นั่งกลางดินให้นั่งดื่มกินดูการแสดงบนเวที ขณะกลางฟ้ากว้างมีจันทร์แจ่มดวง

“ปีนี้เป็นปีที่สาม ตั้งใจให้สื่อสารกับสังคมวงกว้างออกไปด้วย

คุณเชวงผู้มุ่งมั่นกับงานนี้ นอกจากเป็นผู้ประสานงานแล้ว ยังเป็นผู้จัดงานรำลึกแก่งคอยสมัยสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย เพราะแก่งคอยเป็นชุมชนสำคัญ มีทางรถไฟผ่าน เป็นชุมทางแก่งคอยอันนับเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์สำคัญของสงครามครั้งนั้น

ความทรงจำของบุคคลและสถานที่ฝากเรื่องราวเป็นประจักษ์จึงนำมาสู่เรื่องเล่าผ่านศิลปะการแสดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านแก่งคอยนี้เอง ประกอบแสงสีเสียงริมฝั่งลำน้ำป่าสัก

เป็นงานที่ตรึงตราประทับใจงานหนึ่งเมื่อมีโอกาสร่วมงานที่ผ่านมา

สองงานเท่านี้ แก่งคอยก็เจิดจรัสล้ำ

ประวัติศาสตร์ที่เป็นดั่งภูมิเมือง

ภูมิศาสตร์ที่เป็นดั่งภูมิทัศน์และภูมิธรรม

แก่งคอยจึงเป็นตัวอย่างนำร่อง กระบวนการนำเสนอ “ภูมิบ้าน-ภูมิเมือง” ผ่านงานศิลปะที่น่าสนใจ

น่าสนใจคืองานเชิงประวัติศาสตร์กับงานเชิงอนุรักษ์ ที่บอกเล่าด้วยกระบวนการศิลปะ แม้เพียงด้วยการละครและการดนตรีกวีศิลป์

ขอบคุณคุณเชวง เหล็กกล้า ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานชุมชน ที่ทำให้เรารู้จักและรักแก่งคอยมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่น่าเชื่อว่าจะมีเลียงผาอยู่ดีมีสุขกับชุมชน

ไม่น่าเชื่อว่าชุมชนจะรักเลียงผาด้วยการถือว่าเลียงผาคือพาหนะทรงขององค์อินทร์ อันเป็นเทพผู้ดูแลแผ่นดินถิ่นนี้

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าหินปูนนี่แหละคือองค์เทพผู้พิทักษ์แผ่นดินแท้จริง

ทุกชุมชนมีเรื่องราว ทุกเรื่องราวมีเรื่องเล่า แต่มักขาดการเล่าเรื่อย โดยเฉพาะการเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะ

เรื่องราวสำคัญจึงมักไม่ปรากฏ หาไม่ก็ปรากฏอย่างไม่สำคัญ คือมักถูกทำให้ปรากฏอย่างจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา

แย่สุดคือการนำความสำคัญเหล่านั้นมาค้าขายหากำไรเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งมักชอบทำกันอยู่จนกลายเป็นเรื่องปกติ

คือจัดงานเพื่อหาเงิน และหาเงินเพื่อจัดงาน

โดยอ้างเอางานวัฒนธรรมเป็นหลักสำคัญ

งานสำคัญเชิงอนุรักษ์ นอกจาก “เลียงผา-ป่าหินปูน” ที่แก่งคอย สระบุรีนี่แล้ว ก่อนหน้านี้มีอีกงาน แม้ไม่ได้จัดแสดงอย่างงานเลียงผา แต่เป็นงานสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ งานอนุรักษ์หาดทรายบ้านของเต่ามะเฟืองที่พังงา โดยเฉพาะที่หาดท้ายเหมือง

รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คือ คุณจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านแถวนั้นดีใจที่พบว่าชายหาดบ้านเขามีเต่ามะเฟืองตัวใหญ่มาวางไข่อีกแล้ว โดยธรรมชาติเต่ามะเฟือง ซึ่งเป็นเต่าทะเลขนาดใหญ่จะโตเต็มที่ยาวถึงสองเมตร และนานๆ ปีซึ่งรอบนี้ถึงห้าปีที่เต่าจะวนรอบมาวางไข่สักทีหนึ่ง แต่ละครั้งจะออกไข่ถึงราวร้อยกว่าใบ ซึ่งรอบนี้วางแล้วสามครั้ง ได้เวลาลูกเต่ามะเฟืองตัวน้อยก็จะตะกุยทราย คลานลงทะเลต่อไป

เวลานี้ชาวบ้านรอเวลาตั้งตาคอยวันลูกเต่ามะเฟืองจะออกเดินทางอีกครั้งจากท้องของแม่เต่าที่อุ้มไข่มาวางในหลุมทราย ร่มไม้ชายฝั่งอันเป็นดั่งร่มไม้ชายคาคูหาห้องออกมาด้วยขาของตัวเองสู่มหาสมุทรแห่งชีวิตซึ่งต้องรอราวสองเดือนครึ่ง

เป็นวัฏจักรชีวิตน่าพิศวง โดยเฉพาะของเต่ามะเฟือง

เต่ามะเฟืองจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทั้งของทะเลแถบถิ่นนี้ รวมทั้งชุมชนของหาดที่เต่ามอบความไว้วางใจให้ดูแลทายาทสืบสายพันธุ์

นี่เป็นเรื่องราวดีๆ ที่รองจเรศักดิ์ นันตะวงษ์ นำมาบอกเล่า เหมือนเมื่อครั้งอยู่ป่าไม้เคยเล่าเรื่อง “จำปีหลวง” อายุร้อยปีบนดอยที่ลำปางให้ฟัง

ก็เรื่องราวเหล่านี้แหละที่รอการ “เล่าเรื่อง” ผ่านงานศิลปะอย่างมีชีวิตชีวา

ความผูกพันของสรรพชีวิตกับธรรมชาติที่ทำให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข นี่แหละคือภาระของการรักษาอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล ที่เราสมมติเป็นเทพ ดังเราเรียกว่า

เทพารักษ์

บ้านเลียงผา ป่าหินปูน

๐ รากทุกรากให้เสบียงเลี้ยงแม่ไม้

ใบทุกใบให้ร่มห่มสาขา

ต้นทุกต้นให้คงพงพนา

ป่าทุกป่าให้ถิ่นแผ่นดินงาม

ให้ดอกไม้ประดับไพรเป็นชัยชื่น

ให้แผ่นพื้นภูมิไผทอุไรอร่าม

ให้ภูมิภูผาผ่องเรืองรองราม

บันดาลความร่มเย็น เป็นนิรันดร์

ภูมิแผ่นดินสระบุรีที่เรารัก

ร่วมพิทักษ์ภูพนาดุจป่าสวรรค์

เลียงผาพาหนะทรงองค์เทวัญ

คือมิ่งขวัญสัญลักษณ์พิทักษ์ประชา

ดินคู่ฟ้า ป่าคู่คน สวนบนเขา

แหล่งย่านเหย้าหลวงพ่อใหญ่ในคูหา

สร้างหัวใจให้คงพงพนา

ร่วมสร้างบ้านเลียงผา ป่าหินปูน ฯ