ทำไม ? กระแส “ฮาคีม” บานปลาย ทำไทยเป็น “ตำบลกระสุนตก”

กระแส “ฮาคีม” บานปลาย ไทยเป็น “ตำบลกระสุนตก” ทำอย่างไร #SaveHakeem #SaveThailand

เป็นที่สนใจของคนทั่วโลกสำหรับประเด็นการควบคุมตัว “นายฮาคีม อัล อาไรบี” นักฟุตบอลชาวบาห์เรนวัย 25 ปี ที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองและให้พำนักอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ขณะเดินทางมาฮันนีมูนกับภรรยาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561

โดยเหตุในการเข้าควบคุมตัวนั้น อ้างหมายแดงที่ออกโดยองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือ “อินเตอร์โพล” ในข้อหาความผิดร่วมชุมนุมในเหตุการณ์อาหรับสปริง

“บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตั้งแต่ “ฮาคีม” เข้าประเทศไทย แม้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่ประเทศออสเตรเลีย แต่อีกสถานะหนึ่งมีหมายจับของตำรวจสากลของประเทศบาห์เรน โดยการดำเนินการคุมตัวยึดหลักสากลที่ตำรวจทั่วโลกใช้ โดยใช้อำนาจ ตม.คุมตัว

จากนั้นจึงดำเนินการขออำนาจศาลคุมตัวต่อ แม้ต่อมาอินเตอร์โพลได้ยกเลิกหมายจับแล้ว แต่ทางรัฐบาลบาห์เรนได้ส่งหมายจับผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย (กต.)

ฉะนั้น ในส่วน ตม.จึงต้องประสานอัยการสูงสุดเพื่อทำเรื่องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามขั้นตอน

ผบช.สตม.ยังระบุตอนหนึ่งว่า ในวิธีปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกคุมตัวตามหมายจับอินเตอร์โพล ว่าต้องห้ามเข้าประเทศและผลักดันกลับประเทศที่อยู่ก่อนหน้านี้

แต่ที่ สตม.กักตัว “ฮาคีม” ไว้ เนื่องจาก กต.ได้ทำหนังสือถึง สตม. ให้กักตัวนาย “ฮาคีม” ไว้ โดยมีโทรศัพท์ประสานให้กักตัวไว้เพื่อตรวจสอบว่ามีหมายจับจากบาห์เรนหรือไม่ ก่อนที่ “ฮาคีม” จะเดินทางถึงไทย

เมื่อกระแส ตม.กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” เมื่อเที่ยงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ได้เข้าพบเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย หลังจากนั้นเปิดเผยว่า เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ยอมรับว่าเป็นผู้แจ้งหมายจับแดงของอินเตอร์โพล ให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ควบคุมตัวนายฮาคีม และมีการประสานทางการบาห์เรนเองด้วย เพื่อให้ไทยส่งนายฮาคีมไปยังบาห์เรน

“เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขารู้สึกผิด บอกกับผมว่า ตอนนี้จึงต้องพยายามเป็น 2 เท่า เพื่อกดดันไทยให้ดำเนินการกับนายฮาคีม โดยส่งกลับออสเตรเลีย ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นี่คือคำพูดของเอกอัครราชทูตที่บอกกับผม”

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์กล่าว

ขณะที่ข้อมูลจากคำฟ้องอัยการหลังจากการควบคุมตัว “ฮาคีม” นั้นระบุว่า ตามอำนาจของ ตม.จึงมีการส่งให้อัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา ขอขังตัว “นายฮาคีม” ไว้ชั่วคราวด้วยเป็นเวลา 60 วัน ระหว่างรอคำร้องขอจากบาห์เรน ที่ขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 กระทั่งวันที่ 18 มกราคม 2562 รัฐบาลบาห์เรนถึงได้มีหนังสือพร้อมเอกสารหลักฐานส่งถึงอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ผ่านทางวิธีทางการทูต ให้ส่งตัว “นายฮาคีม” ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติบาห์เรนเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปรับโทษตามคำพิพากษาที่ประเทศบาห์เรน

พนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาวินิจฉัยการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามเเดนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และมีการสอบคำให้การนายฮาคีมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แน่นอนว่า “นายฮาคีม” ได้ให้การปฏิเสธ พร้อมตะโกนระหว่างถูกนำตัวขึ้นศาลว่า “ได้โปรดบอกเขา อย่าส่งตัวผมกลับบาห์เรน”

ศาลอาญามีคำสั่งให้นายฮาคีมและทนายของนายฮาคีมยื่นคำคัดค้านคำฟ้องเข้ามาภายในวันที่ 5 เมษายน 2562 และนัดตรวจสอบพยานทั้งสองฝ่ายในวันที่ 22 เมษายน 2562

ขณะที่นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ยืนยันว่าอัยการได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบแล้วก่อนที่จะตัดสินใจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งขังไว้เพื่อส่งตัวนายฮาคีมกลับไปตามคำขอของบาห์เรน

นายฮาคีม อัล-อาไรบี (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ซึ่งคดีดังกล่าวนั้นไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับการเมือง การทหาร อย่างข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์นั้นเป็นข้อหาในคดีอาญา ซึ่งมีอัตราโทษเกินกว่า 1 ปี และเป็นฐานความผิดที่ประเทศไทยมี ซึ่งจะเข้าเกณฑ์ในการขอส่งตัวในกรณีที่เป็นประเทศไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบบาห์เรน และกระบวนการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนยังไม่ถึงที่สุด

ซึ่งในชั้นพิจารณาของศาลยังเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายอัยการและฝ่ายนายฮาคีมได้นำหลักฐานมาแสดงถึงเหตุที่ไม่ควรถูกส่งกลับไปยังบาห์เรน

ส่วนสถานะผู้ลี้ภัยที่ได้จากทางการออสเตรเลียนั้น อัยการมองว่าต้องแยกออกจากกัน ระหว่างการกระทำความผิดที่ถูกร้องขอกับการเป็นสถานะผู้ลี้ภัย

เรื่องดังกล่าวจึงควรนำไปสู่ในกระบวนการศาล และคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะสามารถพิจารณาได้ถึงศาลอุทธรณ์เป็นที่สิ้นสุด

ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนได้เผยถึงความเหมือนที่แตกต่างระหว่างกรณีนายฮาคิม กับราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนัน หญิงสาวอายุ 18 ปี ที่หนีจากครอบครัวที่ประเทศคูเวต หลังจากที่เธอตัดสินใจออกจากศาสนาอิสลามว่า เรื่องทำนองนี้ท่าทีรัฐบาลไทยที่จะแสดงออกยืนหยัดหลักสิทธิมนุษยชนเพียงใดเป็นเรื่องสำคัญ

แม้กรณีราฮาฟจะได้คำชื่นชมที่ทางการไทยเปิดทางให้ไปประเทศที่สามแม้จะยังไม่มีสถานะผู้ลี้ภัย

แต่กรณีฮาคีม หากประเทศไทยหาทางออกไม่ดี เรื่องนี้จะตอกย้ำถึงความตกต่ำในด้านสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม

ส่วนความต่างระหว่างสองเรื่องนี้ คือกรณีนายฮาคีมได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่อัยการก็ยังยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อศาลที่จะชี้ขาด ซึ่งทางกฎหมายหากเห็นว่าคดีนายฮาคีมที่ขอให้ส่งกลับนั้นเข้าลักษณะคดีทางการเมืองก็สามารถเป็นอีกช่องทางให้ปล่อยตัวได้

“แต่อย่างไรก็ดี รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ ในทางปฏิบัติสามารถให้ความเห็นถึงท่าทีความกังวลและเอาใจใส่ต่อสิทธิของผู้ลี้ภัยตามหลักสิทธิมนุษยชนได้ หาใช่ฝ่ายบริหารจะอ้างเหตุผลใดเพื่อลอยตัวต่อปัญหานี้ เพราะประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกสหประชาชาติ ชื่อเสียงของประเทศอาจต้องถูกประณามในทางลบอย่างแน่นอน” วิญญัติย้ำไว้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักเวลานี้ไทยถูกจับตาจากสายตาชาวโลกว่าสามารถบังคับใช้กฎหมายได้เป็นกลางและถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนหรือไม่ ไม่ว่าจะถูกกดดันหรือผิดพลาดจากสาเหตุอะไรก็ตาม

ช่วงกระบวนการที่เหลือ จึงควรรีบแก้ไข เสมือนแคมเปญที่ติดแฮชแท็ก #SaveHakeem เพื่อเป็นการ #SaveThailand ด้วยหรือไม่