ทราย เจริญปุระ : “ใช่ค่ะ คุณแม่จะตาย”

“แม่จะตายมั้ย”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แม่ถามฉันแบบนี้

แต่เป็นครั้งแรกที่ฉันจะให้คำตอบแม่อีกอย่าง

ฉันเคยปลอบ ฉันเคยขอร้อง ฉันเคยหงุดหงิด และฉันเคยโศกเศร้าในการตอบคำถามนี้มาก่อน

ฉันรักแม่

มันไม่ได้เป็นเรื่องของหน้าที่หรือการตอบแทนบุญคุณเพียงเท่านั้น แต่เป็นเหมือนความรับผิดชอบและความห่วงใยในตัวของใครคนหนึ่ง คนที่ดีบ้างร้ายบ้างก็จะอยู่กับเราเสมอ

แม่เปลี่ยนไปเยอะตั้งแต่ป่วยครั้งนี้

มีหลายๆ ทีที่เราทะเลาะกันถึงขั้นแม่ลงไม้ลงมือกับฉัน

แน่นอนฉันโกรธ

ฉันถือว่าฉันมีสิทธิ์ที่จะโกรธ และฉันก็เศร้าใจในความโกรธทั้งของตัวเองและของแม่ไปพร้อมๆ กัน

“มันไม่มีคนดีและไม่มีคนเลวเสมอไป คนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างสองอย่างนี้–หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเรื่องจริงมักให้ความรู้สึกเหมือนเป็นการหลอกลวง–“*

ฉันเคยโกรธตอนที่พ่อป่วย โกรธทุกอย่าง ทำไมมันถึงเกิดขึ้นกับพ่อ โรคยิบย่อยมากมายหลายล้านอย่าง ทำไมพ่อต้องเป็นโรคนี้ โรคที่กัดกินพ่อที่ฉันรู้จัก จนฉันอยากกรีดร้อง เขย่าร่างที่อยู่ตรงหน้า ตะโกนถามว่าเขาคือใคร คืนพ่อของฉันออกมาเดี๋ยวนี้

และพร้อมกับความโกรธเกรี้ยวก็คือความหวาดกลัว

ถ้าพ่อไม่อยู่แล้วใครจะดูแลเรา

ถ้าพ่อไม่อยู่เราจะไม่มีวันนึกถึงกลิ่นน้ำหอมประจำของพ่อได้เหมือนเดิม

ถ้าพ่อไม่อยู่แล้วต้นไม้ในสวนที่เขียวขนัดของเราก็เปล่าประโยชน์

ถ้าพ่อไม่อยู่แล้วสัมผัสสากๆ อันอ่อนโยนของหนวดเคราที่เพิ่งขึ้นจะหายไปจากโลก

ไม่มีใครอยากมองมัน

ไม่มีใครอยากได้กลิ่น

ฉันไม่อยากจดจำ

ฉันไม่รู้ว่าจะเลือกจำอะไรดี

ระหว่างร่างที่ดูจะหดเล็กลงเหลือเกินตรงหน้า

หรือประกายยิ้มใจดีกับเสียงหัวเราะกังวานที่เคยได้ยินมาตลอดชีวิต

สิ่งไหนกันแน่ที่เป็นความจริง

“ใช่ค่ะ คุณแม่จะตาย” ฉันพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ และความเงียบหลังประโยคนั้นดูจะขยายเสียงฉันให้ดังขึ้นไปอีก

“วันนึงคุณแม่จะต้องตาย ทรายก็ต้องตาย ทุกคนก็ต้องตาย แต่ระหว่างที่ยังไม่ตาย คุณแม่ต้องเลือกว่าจะอยู่แบบไหน บอกทรายมาก็แล้วกัน”

นี่เป็นความจริง

เป็นความจริงเดียวกับที่ฉันรู้ตอนก่อนพ่อจะสิ้นใจ

บนนั้น บนฟูกหนาๆ ที่เราวางไว้ข้างประตูกระจก

มองออกไปเห็นต้นไม้เขียวขจีอย่างที่พ่อชอบ

พ่อยังเห็นมันหรือเปล่า

พ่อจะได้ยินไหมตอนที่ฉันบอกว่าฉันเข้าใจแล้ว

อย่าห่วงเลย

เราจะมีกันและกันตลอดไป

แล้วพ่อก็จากไปในแดดยามสายของหน้าหนาวปีนั้น

“เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่ซับซ้อน–คำตอบก็คือมันไม่สำคัญว่าเธอคิดอย่างไร–เพราะความคิดของเธอจะขัดแย้งกันเองนับร้อยครั้งในแต่ละวัน เธออยากปล่อยแม่เธอไป แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้ฉันช่วยแม่เธอ ความคิดของเธอจะเชื่อในคำโกหกที่ช่วยให้สบายใจ แต่ในขณะเดียวกันมันก็รู้ถึงความจริงอันแสนเจ็บปวดที่ทำให้คำพูดโกหกเหล่านั้นกลายเป็นสิ่งจำเป็น และความคิดของเธอจะลงโทษเธอที่เชื่อในทั้งสองอย่าง”*

มนุษย์เรานั้นทั้งยืดหยุ่นและเปราะบางได้เกินคาดคิด

ความจริงที่แสนเจ็บปวดนั้นจะไม่เปลี่ยนรูปร่างและสถานะ

มีเพียงตัวเราเท่านั้นที่จะเปลี่ยนมันได้

ด้วยเวลา

ด้วยความเข้าใจ

ด้วยความพ่ายแพ้

และยอมรับว่ามันคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้น และคงอยู่อย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง

มีแต่เราเท่านั้นที่เปลี่ยนไป

“ผู้มาเยือนหลังเที่ยงคืน” (A Monster Calls) เขียนโดย Patrick Ness แรงบันดาลใจจากแนวคิดของ Siobhan Dowd ภาพประกอบโดย Jim Kay แปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์เวิร์ด วอนเดอร์ จำกัด, กันยายน 2016

*ข้อความจากในหนังสือ