จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (2)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
หุ่นขี้ผึ้งขงจื่อ

โดยสรุปแล้ว สังคมจีนทุกวันนี้รู้จักถ้อยคำ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” นี้ใน 2 สถานด้วยกัน

สถานหนึ่ง รู้จักในฐานะปรากฏการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่จริงในยุควสันตสารทและยุครัฐศึก

อีกสถานหนึ่ง รู้จักในฐานะความทรงจำอันเลวร้ายทางการเมืองเมื่อครั้งที่มีการรณรงค์ “ขบวนการร้อยบุปผา”

เหตุฉะนั้น “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” แม้จะเป็นถ้อยคำที่ถูกนำมาวางเคียงคู่กันในยุคสมัยใหม่นี้ก็ตาม แต่การวางเคียงคู่กันนี้ก็หาได้ทำลายความหมายเดิมที่แท้จริงไม่

เป็นอยู่แต่ว่าในยุคสมัยใหม่นี้จีนยังไม่อาจทำให้ความหมายของถ้อยคำนี้เป็นจริงได้ และจำต้องปล่อยให้เป็นจริงได้ก็แต่ในยุควสันตสารทและยุครัฐศึกเท่านั้น

ควรกล่าวด้วยว่า สำหรับภาษาไทยแล้วถ้อยคำ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” นี้มีผู้แปลต่างออกไปอยู่ด้วย เช่น “ร้อยบุปผาบานพร้อมพรัก ร้อยสำนักประชันเสียง”, “ร้อยสำนักประชันปัญญา ร้อยบุปผาประชันโฉม” เป็นต้น

และครั้งหนึ่งก็เคยถูกนำมาแปลงเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องของนักแต่งเพลงอดีตฝ่ายซ้ายบางคน

สุดท้ายนี้ก็จะเห็นได้ต่อไปว่า จากที่มาที่ไปของถ้อยคำ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” จากที่กล่าวมานั้นถือเป็นถ้อยคำที่สื่อความหมายไปในทางที่ดี และพึงเป็นถ้อยคำที่ถูกใช้ในทางสร้างสรรค์ทางปัญญาอย่างแท้จริง

ฉะนั้น หากถ้อยคำนี้จะเกิดเป็นปรากฏการณ์ขึ้นมาในสังคมใดก็ย่อมนับว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย ชั่วอยู่แต่ว่าจากความเป็นจริงที่ผ่านมานั้นมักชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์จากถ้อยคำนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ก็แต่ในยามที่สังคมนั้นๆ ได้เสื่อมถอยจนถึงที่สุดแล้วเท่านั้น

จากที่มาที่ไปเกี่ยวกับถ้อยคำ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” จากที่กล่าวมานี้คงทำให้เข้าใจได้ว่า เฉพาะถ้อยคำ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” เท่านั้นที่ตรงกับยุคสมัยที่การศึกษาในที่นี้กำลังกล่าวถึง

ส่วนถ้อยคำ “ร้อยบุปผาบานเบ่ง” เป็นเพียงถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมสมัยราชวงศ์ชิง และมิได้มีปฏิสัมพันธ์อันใดกับถ้อยคำ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” ทั้งสิ้น

แต่ที่ถูกนำมาให้มีปฏิสัมพันธ์ก็ด้วยเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ ซ้ำร้ายยังเป็นการเมืองที่สร้างความทรงจำที่เลวร้ายให้แก่สังคมจีนยุคใหม่ (ยุคคอมมิวนิสต์) อีกด้วย

ที่สำคัญ เป็นความทรงจำที่ขัดแย้ง สวนทาง หรือล่อลวง ด้วยการนำเอาถ้อยคำทั้งสองมาเคียงคู่กัน แต่มิได้ทำเยี่ยงความหมายที่ถ้อยคำทั้งสองต้องการสื่ออย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้ ในที่นี้จึงใช้เฉพาะถ้อยคำ “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” เป็นชื่อสำหรับบทนี้ ซึ่งจากนี้ไปจะได้ละจากการ “ออกนอกเรื่อง” กลับมา “เข้าในเรื่อง” อันเป็นเรื่องราวของเราอีกครั้งหนึ่ง

จาก “ร้อยสำนัก” ที่เกิดขึ้นมากมายดังกล่าวก็ใช่ว่าจะเป็นที่ยอมรับไปเสียทั้งหมด จะมีเพียงไม่กี่สำนักเท่านั้นที่มีชื่อเสียง และที่มีชื่อเสียงนี้หมายถึงเป็นที่กล่าวขานกันเท่านั้น มิได้หมายความว่ากลุ่มคนในระดับชนชั้นปกครองจะให้การยอมรับเสมอไป

ชนชั้นปกครองที่เป็นผู้นำรัฐในบางรัฐอาจให้การยอมรับ แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับมิอาจทำได้ หรือทำได้ในระดับหนึ่ง หรือไม่ก็ปฏิเสธที่จะทำก็มี

ทั้งนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า สำนักที่ได้รับการยอมรับจากชนชั้นปกครองค่อนข้างสูงมักจะเป็นสำนักนิตินิยม อันเป็นสำนักที่มีแนวคิดที่สามารถนำมาปฏิบัติและเห็นผลได้จริง โดยไม่จำเป็นว่าการปฏิบัตินั้นจะอิงกับหลักจริยธรรมหรือคุณธรรมหรือไม่

ด้วยเหตุดังนั้น สำนักที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสังคม แต่มิได้รับการยอมรับจากผู้นำรัฐในขณะนั้น จึงมักเป็นสำนักที่ให้คุณค่ากับจริยธรรมและคุณธรรม ซึ่งมีความเป็นอุดมคติสูง

จนทำให้ผู้นำรัฐต่างๆ เห็นว่ายากแก่การปฏิบัติในโลกที่เป็นจริง

ข้อน่าสังเกตต่อมาคือ แม้สำนักที่มีชื่อเสียงจะได้รับปฏิกิริยาเช่นว่า แต่ก็พบเช่นกันว่ามีศิษย์ของบางสำนักได้เป็นขุนนางในบางรัฐ ซึ่งก็คือตัวผู้นำรัฐปฏิเสธอาจารย์ผู้เป็นเจ้าสำนัก แต่ไม่ปฏิเสธผู้เป็นศิษย์ของสำนัก (ดังที่ศิษย์บางคนของขงจื่อได้เป็นขุนนางในบางรัฐ) กรณีเช่นนี้อาจทำให้มีคำถามว่า ศิษย์ที่ได้เป็นขุนนางผู้นั้นได้ใช้หลักคำสอนของสำนักไปในทางใด จึงทำให้ผู้นำรัฐนั้นให้การยอมรับ ในขณะที่กลับปฏิเสธอาจารย์ผู้เป็นเจ้าสำนัก

แน่นอนว่า หากได้ศึกษาถึงแนวคิดหรือปรัชญาของสำนักต่างๆ แล้ว ย่อมจะทำให้เข้าใจภาพรวมของสภาพปัญหาได้ไม่มากก็น้อย แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาดังกล่าวย่อมมิอาจทำได้กับทุกสำนัก

ทั้งนี้ มิใช่เพราะสำนักเหล่านี้มีมากจนเกินความจำเป็นที่จะศึกษาให้ครบถ้วนเท่านั้น หากแต่ยังอยู่ตรงความจริงที่ว่า ถึงที่สุดแล้วสำนักที่มีอยู่มากมาย “ร้อยสำนัก” นี้ต่อมาได้ถูกกาลเวลากลืนกินจนเหลือเพียงไม่กี่สำนัก

และในไม่กี่สำนักที่เหลืออยู่นี้ก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับเสมอกันไปหมดไม่

เพราะในความเป็นจริงแล้วบางสำนักก็ได้รับการยอมรับเป็นกระแสหลัก

บางสำนักก็ได้รับการยอมรับเป็นกระแสรอง

ซ้ำบางครั้งของการยอมรับนี้ก็ยังขึ้นอยู่กับบางช่วงบางสมัยอีกด้วย

ขงจื่อกับสำนักหญู

ในบรรดาปรัชญาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในยุควสันตสารทและยุครัฐศึกนั้น ปรัชญาของสำนักหญูนับว่ามีชื่อเสียงในระดับต้นๆ และเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ การอธิบายถึงสำนักนี้จึงมีเนื้อความที่มากกว่าสำนักอื่น แต่กระนั้นก็ตาม การมีชื่อเสียงกับการเป็นที่ยอมรับที่ว่านี้มีนัยเฉพาะโดยตัวของมันเอง

กล่าวคือ ที่ว่ามีชื่อเสียงนั้นก็เพราะภูมิความรู้ของเจ้าสำนักเป็นที่ร่ำลือกันทั่วไป จนผู้คนต่างพากันมาเป็นสาวก ในแง่นี้จึงเท่ากับเป็นการยอมรับของสังคมโดยรวม

แต่การยอมรับนี้กลับมิได้มีกับหมู่ผู้นำรัฐต่างๆ ในขณะนั้นไปด้วย บทบาทของสำนักนี้ในทางการเมืองจึงมีขอบเขตที่จำกัด

และกว่าบทบาททางด้านนี้จะสูงเด่น เวลาก็ล่วงเลยไปอีกหลายร้อยปีนับแต่ที่สำนักนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น

ซึ่งก็ย่อมหมายความว่า ผู้ให้กำเนิดปรัชญาของสำนักนี้ไม่มีโอกาสได้ลิ้มรสความสำเร็จของตนแต่อย่างไร

ถึงแม้จนถึงตอนนั้นผู้คนจะรู้จักชื่อของเจ้าสำนักหญูแล้วก็ตามว่ามีชื่อว่า ขงจื่อ

ขงจื่อ (551-479 ปีก่อน ค.ศ.)¹ เป็นคำเรียกที่มาจากคำเต็มว่า ข่งฟูจื่อ ที่หมายถึง ท่านครูข่งหรือปรมาจารย์ข่ง (Master Kong) ที่ศิษยานุศิษย์ของเขาใช้เรียกขาน และคำว่า ข่งฟูจื่อ นี้บัณฑิตฝ่ายจีนใช้ภาษาละตินมาทับศัพท์ว่า Confucius จนเป็นคำที่ทางตะวันตกใช้เรียกขานขงจื่อมาจนทุกวันนี้

แต่กระนั้น คำเรียกขานว่า ขงจื่อ หรือ ข่งฟูจื่อ นี้หาใช่ชื่อจริงของปราชญ์ผู้นี้ไม่² ชื่อจริงที่เป็นชื่อตัวมาแต่เกิดคือ ชิว และมีนามรองว่า จ้งหนี³ ส่วนสถานที่เกิดของขงจื่อก็คือ รัฐหลู่ อันเป็นพื้นที่ในบริเวณแหลมซานตงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐเล็กๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านกับรัฐฉี ซึ่งเป็นรัฐทรงอิทธิพลในขณะนั้น

บิดาของเขาเป็นนายทหารมีชื่อตัวหรือชื่อจริงว่า เหอ ชื่อรองว่า ซูเหลียง แต่งานเขียนเกี่ยวกับขงจื่อมักเรียกบิดาของเขาว่า ซูเหลียงเหอ ส่วนชื่อสกุลของขงจื่อก็คือ ข่ง สกุลนี้สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ซางหรืออิน

ด้วยเหตุนี้ ขงจื่อจึงเป็นชาวอิน


¹เป็นบุคคลเดียวกับที่ไทยเราเรียกขานด้วยสำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า ขงจื๊อ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ได้มีการเรียกเพี้ยนเป็น ขงจื้อ (ตรงคำว่า จือ ได้เปลี่ยนวรรณยุกต์จากไม้ตรีมาเป็นไม้โท) กันอย่างแพร่หลายทั้งเอกสารภาครัฐและเอกชน โดยมิสามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้ริเริ่มเรียกเพี้ยนเช่นนี้ ปรากฏการณ์นี้คงไม่ต่างกับการใช้ภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่เอาง่ายและเร็วเข้าว่า จนหลายฝ่ายเข้าใจว่าที่ผิดเพี้ยนไปนั้นคือถูกต้อง

²การเรียกขานชื่อสกุล (แซ่) ของบุคคลในตระกูลของขงจื่อเป็น ขง หรือ ข่ง ในที่นี้เป็นไปตามหลักการผันวรรณยุกต์ในหลักภาษาจีน ดังนั้น เวลาที่ระบุว่า ขงจื่อ กับ ข่งฟูจื่อ ที่แตกต่างกันตรงที่มีวรรณยุกต์ไม้เอกกับไม่มี (ขง และ ข่ง) หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับขงจื่อจึงมิใช่การสะกดผิดหรือพิมพ์ผิด ทั้งนี้ งานศึกษานี้ได้ใช้หลักนี้โดยตลอด และได้เคยชี้แจงหลักนี้ไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ที่ต้องชี้แจงย้ำในที่นี้ก็เพราะกรณีนี้มีการระบุคำว่า ขง กับ ข่ง สลับกันไปมาอยู่หลายที่ จึงชี้แจงมาเพื่อมิให้ผู้ที่มิรู้ภาษาจีนเกิดความสับสน

³นามหรือชื่อของชาวจีนจะแบ่งเป็น 3 ลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรก เป็นชื่อตัว (หมิง) โดยชื่อตัวนี้ยังอาจแยกย่อยเป็นชื่อจริงกับชื่อเล่นได้อีก โดยชื่อจริงจะใช้เรียกขานอย่างเป็นทางการ เช่น ในสถานศึกษา ที่ทำงาน หรือที่ราชการ เป็นต้น ส่วนชื่อเล่นจะเรียกขานเฉพาะคนในครอบครัวหรือญาติสนิทมิตรสหายเท่านั้น ลักษณะที่สอง เป็นชื่อรอง (จื้อ) มักจะตั้งให้มีความหมายล้อกับชื่อจริง ชื่อรองเป็นชื่อที่ใช้เรียกขานในสังคมวงกว้าง และใช้เรียกขานบุคคลที่ตนไม่คุ้นเคยหรือสนิทด้วย อันถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งของสังคมจีน ซึ่งหากเรียกชื่อจริง (ในลักษณะแรก) จะถือว่าเสียมารยาท ด้วยเหตุนี้ ชื่อรองจึงมักถูกตั้งขึ้นเมื่อเจ้าตัวได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว โดยชนชั้นสูงในสมัยราชวงศ์โจวได้กำหนดให้วัยผู้ใหญ่ของชายอยู่ที่อายุ 20 หญิงอายุ 15 และเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วก็สามารถเข้างานสังคมได้ ซึ่งในวงสังคมนี้เองที่ทำให้เจ้าตัวที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่พึงมีชื่อรองเป็นของตนเอง ลักษณะที่สาม เป็นฉายา (เฮ่า) ซึ่งมักจะตั้งตามบุคลิกภาพ ความรู้ความสามารถ หรือความโดดเด่น ฯลฯ ของเจ้าตัว ฉายาจึงอาจเกิดขึ้นจากการตั้งเองของเจ้าตัวหรือไม่ก็ผู้อื่นตั้งให้ ดังนั้น ฉายาจึงไม่มีกันทุกคน สำหรับกรณีคำเรียกขานว่า ขงจื่อ หรือ ข่งฟูจื่อ นี้ไม่นับเป็นฉายา เพราะเป็นคำเรียกในเชิงยกย่องเชิดชูในความเป็นปรมาจารย์ของเจ้าตัว คล้ายกับธรรมเนียมไทยที่เรียกบุคคลบางคนว่า อาจารย์ ด้วยยกย่องในความรู้ความสามารถ ทั้งที่เจ้าตัวมิได้เป็นอาจารย์ในชีวิตจริง