สุรชาติ บำรุงสุข : การเมืองหลังเลือกตั้ง Grand Scenarios 2562

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การเมืองหลังเลือกตั้ง (1) Grand Scenarios 2562

“บัตรออกเสียงเลือกตั้งแข็งแรงกว่าลูกกระสุน”

“The ballot is stronger than the bullet”

ประธานาธิบดีลินคอล์น

ยุทธบทความขอต้อนรับรับปีใหม่นี้ด้วยคำกล่าวที่ถือเป็นหนึ่งใน “วรรคทอง” ของวงการเมือง และเป็นหนึ่งในประโยคสำคัญของประธานาธิบดีลินคอล์น ผู้นำที่พาประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านข้ามสงครามกลางเมือง และสามารถรักษาความเป็นเอกภาพของประเทศไว้ได้

วรรคทองนี้มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเตือนสติผู้นำในระบอบอำนาจนิยม ที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการค้ำประกันของ “อำนาจปืน” เสมอ

เพราะไม่ว่า “ปืน” จะช่วยค้ำอำนาจเพียงใดก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วความชอบธรรมมาจาก “บัตรเลือกตั้ง”

บทความนี้ยังขอต้อนรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และคงต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านที่จะตั้งชื่อบทความเป็นภาษาอังกฤษ โดยผู้เขียนต้องการนำเสนอการมองสถานการณ์หลังการเลือกตั้งจากตัวแบบจำลองในภาพรวมที่เป็นมหภาค

และอยากเรียกการจำลองนี้ว่าเป็น “grand scenarios” คือมองผ่านปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (factors) 12 ประการ ที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์การเลือกตั้ง (outcomes) ออกมา 2 รูปแบบ

และผลเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหา (problems) 2 ประการ อันจะนำไปสู่สถานการณ์ (scenarios) 2 ตัวแบบ

ดังนั้น หากทดลองสร้างออกมาในรูปแบบของสมการกึ่งคณิตศาสตร์ จะเป็นดังนี้ 12 ปัจจัย (F) x 2 ผลลัพธ์ (O) x 2 ปัญหา (P) = 2 ตัวแบบสถานการณ์ (S)

12 ปัจจัย

1)ความเข้มข้นทางการเมือง การแข่งขันทางการเมืองด้วยการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 นี้จะมีความเข้มข้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ อันเป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนานของการต่อสู้ของความคิดทางการเมือง 2 ชุดคือ “เสรีนิยม vs เสนานิยม” (Liberalism vs Militarism)

แม้ฝ่ายเสนานิยม (ซึ่งมีนัยรวมถึงฝ่ายอนุรักษนิยมด้วย) จะเป็นผู้ชนะด้วยการทำรัฐประหารถึง 2 ครั้งต่อเนื่องกันคือ ในปี 2549 และ 2557 แต่ก็เป็นชัยชนะที่ไม่มีความมั่นคงในตัวเอง (เป็นข้อสังเกตว่าในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี เกิดรัฐประหารในการเมืองไทยถึงสองครั้ง)

ดังจะเห็นได้ว่าหลังรัฐประหาร 2549 แล้ว ฝ่ายเสนานิยมก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2550 และตามมาด้วยรัฐประหาร 2557 แต่การสร้าง “รัฐทหาร” อย่างยาวนานเช่นในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน

และในที่สุดแล้วรัฐบาลทหารต้องกลับสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง

การเลือกตั้ง 2562 จึงเป็นเสมือน “การเดิมพัน” ครั้งสำคัญของฝ่ายเสนานิยมและอนุรักษนิยม อันส่งผลให้การแข่งขันครั้งนี้มีความเข้มข้นในตัวเอง

การแข่งขันทางการเมืองครั้งนี้จึงเห็นได้ชัดถึงความพยายามอย่างมากของรัฐบาลทหารที่จะต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป

จนหลายฝ่ายกังวลว่าความต้องการเช่นนี้จะทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่มีความโปร่งใส

และด้วยบริบทของประวัติศาสตร์ทหารกับการเมืองไทย ไม่มีใครเชื่อว่ารัฐบาลทหารจะยอมถอยออกไป เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

2)แรงต้านและผลสืบเนื่อง แรงต่อต้านรัฐบาลทหารเป็นผลมาจากหลักการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า “แรงกด=แรงต้าน” (action=reaction)

ดังนั้น การปิดกั้นทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร จึงเป็นการสะสมแรงต้านในตัวเอง

และจะส่งผลโดยตรงต่อสภาวะทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ที่เมื่อการเมืองถูกเปิดออกแล้ว จะเป็นเสมือนกับการเปิด “กล่องแพนโดรา” (Pandora Box)

กล่าวคือ ปัญหาและความขัดแย้งที่ถูกเก็บไว้ในกล่องย่อมจะระเบิดออกมา ในระดับหนึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับการเปิดกล่องนี้หลังการล้มลงของรัฐบาลทหารในปี 2516 ที่ตามมาด้วยการเรียกร้องและการประท้วงเป็นจำนวนมาก

แต่เมื่อการเมือง 2562 เปิดด้วยการเลือกตั้งแล้ว การปิดกั้นที่เคยใช้อำนาจของมาตรา 44 และการดำเนินการแบบอำนาจนิยม เป็นสิ่งที่ไม่อาจทำได้

การสิ้นสุดอำนาจในการควบคุมทางการเมืองจะนำไปสู่สภาวะ 3 ประการคือ

1) การเรียกร้องของกลุ่มต่างๆ ที่ถูกกดไว้

2) การประท้วงในเรื่องที่ถูกปิดกั้นซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่ผู้นำรัฐบาลทหาร

และ 3) การเปิดโปงในเรื่องที่ถูกปิดไว้ด้วยอำนาจของรัฐบาลทหาร และคาดไม่ยากนักว่า ผลสามประการเช่นนี้จะกระทบอย่างมากกับผู้นำรัฐบาลทหารเดิม

แม้ในบางเรื่องพวกเขาจะอ้างว่ามีอำนาจของมาตรา 44 คุ้มครองก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำเหล่านี้หลังการเลือกตั้งแล้วจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน

3)พลังเงียบ ผลการเลือกตั้งในทุกประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างยาวนานเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก

เพราะหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อาจจะไม่ปรากฏเป็นตัวเลขบนโพลก็คือ เสียงของพลังเงียบ (silent majority) ที่พวกเขาเฝ้าดูการเมือง และมีคำตัดสินอยู่ในใจตนเอง

แต่อาจจะไม่ใช่คนที่ตอบโพล

การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะเห็นถึงเสียงของคนในส่วนนี้ และอาจรวมถึงคนที่เป็นพลังเงียบที่พวกเขาไม่อาจแสดงออกได้ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร

โดยเฉพาะคนในส่วนหลังนี้เป็นเสียงที่ละเลยไม่ได้

เพราะในช่วงของการมีอำนาจของรัฐบาลทหารนั้น ความเห็นต่างกลายเป็น “อาชญากรรม” จึงทำให้คนเป็นจำนวนหนึ่ง “ปิดปาก” ในการแสดงออก

แต่คนเหล่านี้น่าจะไม่ “ปิดปากกา” ในวันลงเสียง

4)วันพิพากษา ดังได้กล่าวแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการ “เดิมพัน” ครั้งสำคัญของรัฐบาลทหาร ที่มีพรรคทหารเป็นเครื่องมือหลักในการแข่งขัน

ฉะนั้น การกำเนิดของ “พรรคพลังประชารัฐ” จึงเป็นดังการหลอมรวมจิตวิญญาณครั้งใหญ่ของพรรคเสรีมนังคศิลา+พรรคสหประชาไทย+พรรคเสรีธรรม

การตั้งพรรคทหารครั้งนี้จึงเป็นการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของผู้นำรัฐประหาร

และคาดหวังอย่างมากถึงชัยชนะไม่ต่างจากผู้นำทหารในยุคก่อน

แต่สุดท้ายแล้วผลการเลือกตั้งจะพิพากษาว่า พรรคทหารจะยังควรมีที่ยืนต่อไปในสังคมไทยหรือไม่ เพราะพรรคเช่นนี้เป็นเพียง “พรรคเฉพาะกิจ” ที่รองรับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหาร

ไม่ได้มุ่งประสงค์ที่จะทำงานการเมืองในระยะยาวแต่อย่างใด

5)บทบาททหาร สิ่งที่เป็นคำถามอย่างมากในปัจจุบันก็คือ

ทหารจะมีบทบาทต่อการเลือกตั้งเพียงใด แม้คำถามนี้อาจจะตอบอย่างชัดเจนไม่ได้

แต่วันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าสถาบันทหาร (กองทัพ) กับรัฐบาลทหารไม่ใช่เนื้อเดียวกันเช่นในช่วงหลังรัฐประหาร

ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นผู้นำทหารที่ยังเป็นทหารประจำการออกมากระทำการให้เกิดการเสื่อมเสียต่อภาพลักษณ์ของทหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตเช่นในตัวแบบของการโกงการเลือกตั้งในปี 2500 น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

หรือโอกาสที่กองทัพจะเป็น “กลไกเลือกตั้ง” ของรัฐบาลทหารอย่างเต็มที่ ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด

แม้นอาจจะ “ทหารนอกแถว” บางส่วนเสี่ยงทำ

แต่พวกเขาก็ต้องเสี่ยงกับการถูกเปิดโปงและร้องเรียน และผู้นำกองทัพต้องตระหนักอย่างมากถึงผลของการกระทำเช่นนั้นต่อสถานะของสถาบันทหารในอนาคต

6)บทบาทสื่อใหม่ บทบาทของสื่อโซเชียลปรากฏให้เห็นชัดเจนจากกรณีอาหรับสปริง

แม้สื่อนี้ในการเมืองไทยจะยังไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่เช่นในโลกอาหรับ

แต่ผลของสื่อนี้มีส่วนอย่างมากต่อกำหนด “ภูมิทัศน์ใหม่” ที่ทำให้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญของการแข่งขันทางการเมือง

และทั้งยังมีส่วนต่อการสร้างพื้นที่และประชามติเช่นตัวอย่างของเพลง “ประเทศกูมี” ที่ส่งผลสะเทือนต่อสถานะของรัฐบาลทหารอย่างเห็นได้ชัดมาแล้ว

และปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อนี้มีส่วนทำให้ “เครดิต” ของรัฐบาลทหารตกต่ำลง

ดังนั้น เมื่อการเมืองเปิดออก และอำนาจในการควบคุมของผู้นำรัฐบาลทหารไม่ได้มีเช่นเดิม

การวิพากษ์วิจารณ์ตลอดรวมถึงการแข่งขันในพื้นที่ของสื่อใหม่จะทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน

และน่าสนใจว่าโลกไซเบอร์จะมีส่วนต่อการกำหนดภูมิทัศน์และทิศทางการเมืองไทยอย่างไรในอนาคต

7)คนรุ่นใหม่ การขยายบทบาทของสื่อใหม่ยังมาพร้อมกับการมาของคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นคนเจน Z หรือในอีกส่วนหนึ่งอาจจะมีนัยถึงนิสิตนักศึกษา

ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งยังไม่เคยถูกวัดผล เพราะไม่มีโอกาสเลือกตั้งมาก่อน

เสียงของคนเหล่านี้น่าจะมีทิศทางไปในทางที่เป็นเสรีนิยม มากกว่าจะอยู่ภายใต้กระแสเสนานิยม/อนุรักษนิยม

การเลือกตั้งในปี 2562 จึงเป็นดังดัชนีวัดบทบาทของคนรุ่นใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง การกำเนิดของพรรคการเมืองที่นำเสนอในรูปแบบของความเป็น “พรรคคนรุ่นใหม่” ก็เป็นอีกประเด็นที่จะถูกทดสอบในการเลือกตั้งครั้งนี้

และหากพรรคในตัวแบบเช่นนี้ได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งมากขึ้น

ก็อาจเป็นแรงจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

8)ประชาสังคมอ่อนแอ รัฐประหารที่มีรากฐานมาจากความขัดแย้งอย่างยาวนานในสังคมไทย เป็นปัจจัยที่ทำลายความโอกาสการเติบโตของภาคประชาสังคมอย่างน่าเสียดาย

ภาคประชาสังคมเช่นที่เป็นความคาดหวังในการกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ด้วยความอ่อนแอ และไม่มีบทบาทที่เป็นจริง

เว้นแต่บทบาทในการตรวจสอบเช่นกรณีของวีระ สมความคิด ศรีสุวรรณ จรรยา และส่วนที่อยู่กับพรรคการเมืองเช่น เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ (พรรคเพื่อไทย) วิลาศ จันทร์พิทักษ์ (พรรคประชาธิปัตย์)

ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า ประชาธิปไตยไทยจะมีระบบตรวจสอบอย่างไรเมื่อภาคประชาสังคมไม่ตัวตนและ/หรืออ่อนแอ

(หรือที่พูดล้อเล่นในวงวิชาการว่า สังคมไทยมี “society” แต่ไม่มี “civil”)

9)ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลทหารประสบปัญหาความเชื่อมั่นอย่างมากกับสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ แม้รัฐบาลทหารจะพยายามอย่างมากในการชูตัวเลขของการพัฒนาเศรษฐกิจ

แต่ตัวเลขเหล่านี้อยู่ในกระดาษมากกว่าจะเป็นสตางค์ในกระเป๋าของประชาชน

ในขณะที่เศรษฐกิจภาคประชาชนอยู่ในภาวะถดถอย เศรษฐกิจของกลุ่มทุนและชนชั้นนำกลับอยู่ในภาวะเฟื่องฟู

หรือกล่าวเป็นข้อสรุปเชิงภาพลักษณ์ได้ว่า “โตยอดหญ้า ตายรากหญ้า”

ภาวะเช่นนี้ยังเห็นได้ชัดจากราคาตกต่ำของสินค้าเกษตรที่เป็นรากฐานชีวิตของประชาชน

ผลจากภาวะเช่นนี้ทำให้น่าสนใจว่ารัฐบาลจะชนะเสียงในชนบทได้จริงเพียงใด

แม้จะต้องทุ่มเทด้วยนโยบายประชานิยมที่พวกเขาต่อต้านและประณามมาก่อน

ดังจะเห็นถึงการใช้นโยบายแบบประชานิยมของรัฐบาลทหารในการสร้างความนิยมในต่างจังหวัด และน่าสนใจว่า “เสนาประชานิยม” นี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้รัฐบาลทหารชนะเลือกตั้งได้หรือไม่

10)ชนชั้นกลาง คนชั้นกลางเป็นกลุ่มบุคคลที่น่าสนใจเสมอในการเลือกตั้งของทุกประเทศ

ในเวทีความขัดแย้งไทย คนกลุ่มนี้ตัดสินใจเลือกความคิดแบบเสนานิยม+อนุรักษนิยม

จนกล่าวได้ว่าเป็นความขัดแย้งของทฤษฎีรัฐศาสตร์เดิมที่เชื่อว่า ชนชั้นกลางคือรากฐานของกระบวนการสร้างประชาธิปไตย

แต่จากรัฐประหาร 2549 และ 2557 ชนชั้นกลางในเมืองของไทยกลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร หากผลของภาวะเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการบริหารภาครัฐของรัฐบาลทหารท้าทายอย่างมากว่า ชนชั้นกลางไทยจะยังยืนกับรัฐบาลต่อไปอีกหรือไม่

โดยเฉพาะชนชั้นกลางในระดับกลางและในระดับล่าง (lower middle class) น่าจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ซึ่งอาจจะเทียบได้กับพวก “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส ที่ปัญหาทางเศรษฐกิจนำไปสู่การประท้วงใหญ่

11)ปัจจัยนโยบาย การเมืองไทยนับจากชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในปี 2544 แล้ว เห็นได้ชัดถึงการให้ความสำคัญกับปัจจัยนโยบายพรรค

แต่เดิมนั้นมีความเชื่อเป็นพื้นฐานว่า การเมืองไทยเป็นเรื่องของตัวบุคคลและผูกพันอยู่กับตัวบุคคล นโยบายจึงมักถูกมองว่าเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ในการต่อสู้ทางการเมือง และเชื่อเสมอว่าตัวบุคคลสำคัญกว่านโยบาย

แต่หลังจากปี 2544 ปัจจัยนโยบายได้รับการให้ความสำคัญมากขึ้น

อันส่งผลเชิงบวกกับการพัฒนาการเมืองไทยที่พรรคการเมืองหันมาสนใจในการสร้างนโยบายมากขึ้น

และหวังว่านโยบายจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคได้คะแนนเสียงจากประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งที่จะเห็นการแข่งขันในเรื่องนโยบายพรรค

และเห็นได้ชัดที่พรรคต่างๆ มีแนวทางในการนำเสนอนโยบายมากขึ้นด้วย

12)การช่วงชิงความเหนือกว่าทางการเมือง แม้รัฐบาลทหารจะสร้างความเหนือกว่าทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2561 แต่ว่าที่จริงแล้วการทุ่มงบประมาณและการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตเพื่อให้พรรครัฐบาลทหารเป็นฝ่ายได้เปรียบอาจจะกลายปัจจัยด้านลบ

เพราะยิ่งเท่ากับตอกย้ำว่าพรรครัฐบาลทหารเอาเปรียบ

และยังอาจส่งผลอย่างสำคัญต่อภาพลักษณ์การเลือก เพราะหลักการสำคัญคือ การแข่งขันที่ “เสรีและเป็นธรรม” (free and fair) แต่สิ่งที่เกิดกำลังบ่งบอกว่า การเลือกตั้งไทย “เสรีบางส่วนและไม่เป็นธรรม” (partial free and unfair)

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลทหารชนะ ก็จะเป็นชัยชนะที่ถูกตั้งข้อสงสัย

แต่ก็หวังว่า 2562 จะไม่เป็นการแข่งขันที่ย้อนอดีต “การเลือกตั้งสกปรก 2500”!