จิตต์สุภา ฉิน : หุ่นยนต์ก็มีสิทธิ์เจอซองขาวได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เวลาพูดถึงประเด็นเรื่องหุ่นยนต์จะมาแย่งงานมนุษย์ เรามักจะนึกภาพหุ่นยนต์ที่สุดแสนจะทันสมัย เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว แข็งแกร่ง ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

แถมนับวันจะมีแต่ฉลาดขึ้นๆ จนทำให้มนุษย์ต้องหวั่นเกรงว่าวันหนึ่งเราอาจจะเพลี่ยงพล้ำตกเป็นทาสของหุ่นยนต์ได้

วันนี้จะพามาดูตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นว่าภาพที่วาดมาข้างต้นนั้นอาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป

และหุ่นยนต์เองก็ยังต้องเดินทางไปอีกยาวไกลกว่าจะถึงวันที่มันเก่งกาจได้สักเสี้ยวหนึ่งของที่มนุษย์คิดจินตนาการไปแล้ว

 

ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางด้านหุ่นยนต์และมีทัศนคติที่เปิดรับการใช้ชีวิตร่วมกับหุ่นยนต์มากที่สุดประเทศหนึ่งคือญี่ปุ่น

ที่ผ่านมามีโรงแรมหลายแห่งในญี่ปุ่นเปิดให้บริการพร้อมกับคอนเซ็ปต์ของการมีพนักงานบางส่วนเป็นหุ่นยนต์

อย่างเช่น โรงแรม Henn na Hotel ซึ่งแปลออกมาได้ตรงๆ ว่า “แปลก” หรือใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Strange Hotel นั้น ก็เป็นโรงแรมที่ได้รับการบันทึกสถิติเอาไว้ในกินเนสส์ เวิลด์ เร็กคอร์ดส์ ว่าเป็นโรงแรมแรกในโลกที่มีพนักงานเป็นหุ่นยนต์

ทันทีที่แขกเดินเข้ามาในโรงแรมก็จะได้พบกับหุ่นยนต์ต้อนรับสองตัว

ตัวแรกเป็นพนักงานผู้หญิงหน้าหวาน แต่งตัวด้วยชุดเครื่องแบบสุดเนี้ยบพร้อมหมวกและผ้าพันคอสวยงาม ขณะที่อีกตัวข้างๆ เป็นไดโนเสาร์ที่แม้จะหน้าตาน่ากลัวแต่ก็มีหมวกและหูกระต่ายมาตัดลุคให้ดูเป็นมิตรขึ้น ทั้งคู่มีหน้าที่ช่วยเช็กอินให้แขกที่มาเข้าพัก

เดินไปอีกนิดจะพบกับนาโอะ หุ่นยนต์ชื่อดังที่หลายๆ คนคุ้นหน้าเพราะมักจะเห็นคอยให้บริการอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในหลากหลายประเทศ ยืนประจำโต๊ะเพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการสอบถามข้อมูลหรือขอความช่วยเหลือ ส่วนหน้าที่การส่งของเล็กๆ น้อยๆ ไปให้ตามห้องพักก็เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์อีกตัวหนึ่ง

ยังไม่พอแค่นั้น เพราะเมื่อเข้าไปในห้องพักแล้ว จะพบกับหุ่นยนต์ตัวน้อยที่ถอดแบบมาจากดอกทิวลิป ชื่อน้องชูริจัง

ชูริจังจะทำหน้าที่คล้ายๆ กับลำโพงอัจฉริยะที่เรามีเอาไว้ตามบ้าน คือเราสามารถใช้เสียงสั่งการพูดคุยสอบถามข้อมูลต่างๆ ได้ ทางโรงแรมวางแผนเอาไว้ว่าจะให้น้องหุ่นยนต์สีชมพูหวานแหววตัวนี้คอยบอกข้อมูลที่เป็นประโยชน์

อย่างเช่น สภาพอากาศในแต่ละวัน หรือช่วยตั้งเวลาปลุกได้

 

ทั้งหมดดูเหมือนจะถูกวางแผนเอาไว้อย่างสวยหรูไร้ที่ติ โรงแรมเปิดมาก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีด้วยยอดจองห้องแน่นขนัด

แต่เวลาผ่านไปเพียงสี่ปีนับตั้งแต่โรงแรมเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2015 ตอนนี้ก็มีข่าวออกมาแล้วว่าทางโรงแรมทยอยเก็บหุ่นยนต์ไปทีละตัวๆ

ด้วยเหตุว่าหุ่นยนต์พวกนี้ทำให้พนักงานที่เป็นมนุษย์เหนื่อยกว่าเดิมเสียอีก!

เรื่องมันเป็นแบบนี้ค่ะ

ถ้าหากหุ่นยนต์แต่ละตัวทำหน้าที่ได้ดีเหมือนกับที่เจ้าของโรงแรมเขาวางแผนเอาไว้ก็คงจะไม่บังเกิดปัญหาอะไร

แต่เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่เก่งพอที่จะสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เลยทำให้แทนที่มันจะอำนวยความสะดวก ก็กลับกลายเป็นทำตัวเองให้เป็นภาระเขาไปเสียอย่างนั้น

แขกคนหนึ่งที่เข้าพักในโรงแรมเล่าว่า เขาต้องตื่นขึ้นมากลางดึกหลายครั้ง เพราะหุ่นยนต์ผู้ช่วยส่วนตัวในห้องอยู่ๆ ก็โพล่งเสียงดังขึ้นมาว่า “ขอโทษค่ะ ฉันฟังไม่ถนัด ช่วยพูดใหม่อีกครั้งได้ไหม”

ครั้งเดียวคงไม่เท่าไหร่ นี่น้องเขาเล่นพูดคนเดียวแทบจะทุกชั่วโมง

ถ้ามาอยู่เมืองไทยก็อาจจะโดนเอาผ้าหลากสีไปพันแล้ววางไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่สักต้นริมถนนให้คนมาขอหวยแล้ว

หกโมงเช้า แขกถึงได้ร้องอ๋อว่าหุ่นยนต์ทักทายเขาทั้งคืนเพราะมันเข้าใจผิดนึกว่าเสียงกรนของเขาเป็นเสียงสั่งการนั่นเอง

 

หุ่นยนต์อย่างน้องชูริถูกออกแบบมาให้ตอบรับได้เฉพาะคำถามง่ายๆ พื้นๆ อย่างเช่น การทักทาย หรือการสั่งคำสั่งที่โปรแกรมมาแล้ว อย่างเช่น การขอให้ปรับอุณหภูมิหรือเปิด-ปิดไฟภายในห้อง

แต่ด้วยความที่คนคาดหวังกับหุ่นยนต์ไว้สูง ก็มักจะไปขอข้อมูลยากๆ ที่หุ่นยนต์ยังทำให้ไม่ได้ อย่างเช่นไปขอเวลาเปิด-ปิดของสถานที่ท่องเที่ยวที่ตัวเองอยากจะไป

เมื่อไม่ได้คำตอบตามที่ต้องการ หรือสั่งอะไรไปก็ไม่ทำให้ ลูกค้าก็มักจะหงุดหงิดอยากยกหูโทร.หาพนักงาน

แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ด้วยความที่โรงแรมมั่นใจเหลือเกินว่าหุ่นยนต์น้องชูริจะช่วยตอบสนองทุกความต้องการของแขกได้ ก็เลยคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องติดตั้งโทรศัพท์เอาไว้ในห้องพักด้วย

จนแขกต้องหยิบมือถือตัวเองโทร.ไปที่เบอร์หลักของโรงแรมเพื่อขอพูดสายกับมนุษย์แทน

ชูริก็เลยถูกอัปเปหิออกจากห้องพักไปโดยปริยาย

ส่วนหุ่นยนต์นาโอะที่โต๊ะอำนวยความสะดวกชั้นล่างก็มีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน

พอไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ที่แขกถาม อย่างเช่น ตารางไฟลต์บิน หรือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวภายในเมืองได้ ก็แปลว่ามันทำหน้าที่แทนพนักงานที่เป็นมนุษย์ไม่ได้แล้ว

จะเก็บเอาไว้ก็คงไม่มีประโยชน์

นาโอะก็เลยถูกแจกซองขาวไปพร้อมๆ กัน

ทางด้านหุ่นยนต์พนักงานต้อนรับทั้งสองตัวก็ดูจะปฏิบัติภารกิจไม่เป็นที่น่าพึงพอใจสักเท่าไหร่ เพราะก็ต้องมีพนักงานที่เป็นคนไปคอยช่วยยืนอยู่ใกล้ๆ เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ แทนให้ อย่างเช่น การถ่ายเอกสารหนังสือเดินทางของแขกที่เป็นชาวต่างชาติ ถ้าหุ่นยนต์เช็กอินทำหน้าที่เช็กอินได้ไม่ครบจบในตัวเดียวและต้องพึ่งมนุษย์ ก็ไม่รู้จะมีมันไว้ทำไมเหมือนกัน

 

หันกลับไปดูหุ่นยนต์ส่งของตามห้องพักก็เคลื่อนไหวเชื่องช้า เสียงดัง เดินได้เฉพาะบนพื้นเรียบๆ และอยู่ได้แค่ในที่ร่มเท่านั้นเพราะถ้าออกไปกลางแจ้งแล้วโดนฝนเมื่อไหร่ก็จะพังทันที ติงต๊องที่สุดคือพอเดินมาเจอกันก็หลีกทางกันไม่เป็น ขวางทางเกะกะชาวบ้านชาวช่องเขาไปทั่ว

ตอนนี้โรงแรมก็ต้องคิดต่อไปว่าถ้าจะเก็บคอนเซ็ปต์หุ่นยนต์เอาไว้ก็จะต้องอัพเกรดให้หุ่นยนต์เก่งขึ้น แต่การจะทำเช่นนั้นก็หมายถึงต้นทุนที่สูงลิบลิ่วที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือเปล่า เจ้าของโรงแรมยืนยันว่ายังอยากทำโรงแรมที่ไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ให้ได้สักวันหนึ่งอยู่ดี แต่จากประสบการณ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสอนให้เขาได้รู้ว่าในขณะนี้มีงานอีกจำนวนมากที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์เท่านั้น และหุ่นยนต์ไม่ได้สามารถอยู่ได้ทุกที่ มันมีที่มีทางของมัน ถ้าหากอยู่ผิดที่เมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นส่วนเกินที่สร้างความรำคาญได้ทันที

โรงแรมที่มีคอนเซ็ปต์หุ่นยนต์ทั้งหลายเมื่อได้รับบทเรียนเช่นนี้จึงเริ่มคิดได้ว่า หากต้องการนำเทคโนโลยีล้ำๆ มาใช้บริหารโรงแรม หุ่นยนต์ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป แต่เทคโนโลยีประเภทอื่น อย่างเช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือการใช้ซอฟต์แวร์รู้จำใบหน้าแทนกุญแจเข้าห้องพักน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างประโยชน์ได้มากกว่า

หุ่นยนต์เองก็อาจจะได้เรียนรู้บทเรียนครั้งสำคัญเหมือนกันว่าการเลย์ออฟพนักงานนั้นไม่ได้ใช้กับคนเสมอไป แต่หุ่นยนต์ถึงจะรูปลักษณ์สุดเท่เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ หรือน่ารักคิกขุเป็นดอกทิวลิป

แต่ถ้าทำงานไม่ได้เรื่องก็อาจถูกปลดระวางได้ตลอดเวลาเหมือนกัน