ไม่ควรเอาพระ-อิหม่าม (ผู้นำศาสนา) ต่อรองอำนาจที่ชายแดนใต้/ปาตานี

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นการบุกสังหารพระดังนักพัฒนาในวัดยามวิกาล กล่าวคือ เมื่อ 18 มกราคม 2562 เวลา 20.30 น. คนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงใส่วัดรัตนานุภาพ บ้านโคกโก หมู่ที่ 2 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

ทำให้พระสงฆ์มรณภาพ 2 รูป (ท่านสว่างและท่านอู๊ดซึ่งผู้เขียนเคยเสวนา/สานเสวนาธรรมหลายเวที ถึงแม้บางครั้งอาจจะไม่เห็นด้วยกับบางกรณีที่ท่านเคลื่อนไหว) และได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 รูป นำส่งโรงพยาบาลสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส

จากข่าวดังกล่าวทำให้ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อพระท่านและญาติโยม พร้อมประณามคนร้ายที่ล้ำเส้นฆ่าพระ ซึ่งในศาสนาอิสลามได้สั่งห้ามแม้ในภาวะสงคราม

ในขณะเดียวกันขอประณามการใช้ความรุนแรงในสถานที่การศึกษา และการทำลายเป้าหมายอ่อน รวมถึงบุคคลทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม

ซึ่งเป็นปฏิบัติการผิดหลักการอิสลาม หลักการมนุษยธรรม และฝ่าฝืนกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

สอดคล้องการออกแถลงการณ์ประณามเช่นกันจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าสำนักจุฬาราชมนตรี องค์กรชาวพุทธ องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมที่เห็นต่างจากรัฐตลอด องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

พลวัตความรุนแรง

ความเป็นจริงก่อนจะเกิดการสังหารพระในครั้งนี้มีการลอบสังหารผู้นำศาสนาอิสลามระดับอิหม่ามและกรรมการอิสลามตลอดปี 2561

เช่น วันที่ 24 ธันวาคม 2561 มีผู้ใช้อาวุธสงครามกระหน่ำยิงนายสะมะแอ เจ๊ะมะ วัย 45 ปี อิหม่ามมัสยิดบ้านท่าราบ ตำบลกะมิยอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ในขณะอยู่ในที่จอดรถจนเสียชีวิต

วันที่ 8 มิถุนายน 2561 มีผู้ยิงนายอดุลย์เดช เจ๊ะแน วัย 55 ปี ผู้จัดการโรงเรียนลาลอวิทยา รองประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ที่บริเวณหน้าโรงเรียน บาดเจ็บสาหัส รับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล

วันที่ 11 มกราคม 2561 ยิงนายดอเลาะ สะไร หรืออับดุลเลาะห์ บิน อับดุลฮามีด วัย 62 อิหม่ามมัสยิดปูโปะจนเสียชีวิต

ในวันที่ 19 มกราคม 2561 มีคนร้ายลอบยิงนายยูโซ๊ะโต๊ะอิหม่าม หมู่ 16 บ้านคลองพน ตำบลนาทวี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ความล้มเหลวของรัฐตลอดปี 2561 ที่ไม่สามารถนำไอ้โม่งสังหารผู้นำศาสนาของเขา (ในวงน้ำชามีข่าวพูดหนาหูว่าคนของรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิสามัญฆาตกรรมผู้นำศาสนาของเขา) จะเป็นแรงขับให้ความรุนแรงชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นตามข้อกังวลของผู้เขียนที่ได้เขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 มิถุนายน 2561 (https://www.matichonweekly.com/special-report/article_112662) รวมทั้งคลิปที่เด็กที่อยู่ในบ้านคนร้ายถูกกระสุนลูกหลงจากรัฐ

รวมทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของคนมลายูมุสลิมในเหตุการณ์ครูสตรีที่สอนศาสนาโดนรัฐจับ คลิปเด็กๆ อนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งหวีดร้อง (ขอชีวิต) ท่ามกลางการปะทะของหน่วยความมั่นคงกับผู้ร้ายใกล้โรงเรียน เป็นตัวเร่งให้เหตุการณ์ร้ายนี้ปะทุขึ้น

และสอดคล้องกับทัศนะ Hakim Pongtikor รองประธานจากองค์กร PerMas

Hakim Pongtikor ได้ตั้งข้อกังวลหลังจากครูสอนศาสนาสตรีโดนจับและอิหม่ามโดนสังหารสามรายก่อนจะเกิดการสังหารพระ (11 มกราคม 2562) ว่า

ตอนนี้โต๊ะอิหม่ามโดนใครไม่รู้ยิงจนเสียชีวิต 3 คนในรอบ 3 เดือน กังวลว่าจะมีการโต้คืนผู้นำศาสนาในศาสนาพุทธ (ถ้าผมคิดไปเองต้องขออภัย) โดยเฉพาะจากคนของขบวนการติดอาวุธ โดยขบวนการติดอาวุธอาจคิดว่า การทำร้ายคนบริสุทธิ์ทำให้รัฐกระวนกระวายต้องปรับปรุงแนวทาง ซึ่งแท้จริงแล้วรัฐอนุรักษนิยม (รัฐทหาร) ทำเป็นกระวนกระวายไปตามหน้าที่ เจ็บปวดวิตกเป็นจังหวะมนุษย์ทั่วไป แต่ไม่ได้ส่งผลต่อยุทธศาสตร์ทางออกความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งวิธีคิดโต้คืนรุนแรงมีแต่เสียกับเสียเพราะ

1. เป็นการละเมิดมนุษยธรรมอย่างรุนแรง มนุษยชาติทั้งสากลเจ็บปวด มวลชนรับไม่ได้

2. การโต้ด้วยการละเมิดมนุษยธรรม Moral Ground ขบวนการว่าด้วยอุดมการณ์เอกราชตกต่ำลง

3. มวลชนสายอนุรักษ์ในประเทศไทยสนับสนุนกองทัพมากขึ้น พรรคฝ่ายทหารได้คะแนนสนับสนุนมากขึ้น ยิ่งรัฐทหารเข้มแข็ง ระบบอาณานิคมยิ่งเข้มแข็ง

4. ถึงจะเห็นทั้งสองตาว่ารัฐมีนโยบายส่อละเมิดมนุษยธรรม ชอบนำหน่วยทหารแกว่งปืนเข้าโรงเรียนประถมหรือตาดีกา (โรงเรียนสอนคุณธรรมอิสลามสำหรับเด็ก) มักตั้งค่ายใกล้โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย หรือสร้างค่ายทหารในวัดโดยที่เจ้าอาวาสไม่กล้าจะปฏิเสธใดๆ ในนามการรักษาความปลอดภัย

แต่ฝ่ายขบวนการที่มองว่าฝ่ายปาตานีเป็นผู้ถูกอธรรมไม่ควรเลียนแบบแนวคิดรัฐเผด็จการ เพราะข้ออ้างเรื่องใครละเมิดก่อนมันไม่เป็นเหตุให้พ้นความผิดต่อการละเมิดได้ และในความเป็นจริงแล้วรัฐมีช่องทางสื่อสารให้เหมือนดูดีเข้าใจได้เยอะกว่ามากทั้งภายในและระหว่างประเทศ สุดท้ายขบวนการจะโดดเดี่ยว จริงอยู่ใครกดขี่เรา เราต้องลุกขึ้นสู้

แต่ชัยชนะมันอยู่ระหว่างช่วงเวลาของการต่อสู้ที่ยึดมั่นในคุณค่ามนุษยธรรมหรือปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไม่เลือกปฏิบัติ

การโต้เอาคืนโดยสังหารพระครั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อทุกสำนัก ภาคประชาสังคมที่ติดตามสถาการณ์ความรุนแรงอย่างใกล้ชิด รวมทั้งฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เจาะจงไปที่ขบวนการติดอาวุธ BRN อยู่เบื้องหลัง

แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวไว้ในรายงานผ่านเว็บไซต์องค์กรส่วนหนึ่งว่า “การโจมตีที่โหดร้ายต่อพระของผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย จากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional – BRN) เป็นเรื่องที่ขัดศีลธรรม และเป็นอาชญากรรมสงคราม ต้องมีการนำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษ…

นับแต่เริ่มเกิดปฏิบัติการก่อความไม่สงบด้วยการใช้อาวุธเมื่อเดือนมกราคม 2547 ได้พุ่งเป้าโจมตีวัดและพระ ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ของรัฐพุทธไทยต่อดินแดนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู

ส่งผลให้ที่ผ่านมามีพระภิกษุ 23 รูปเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รูป

ผู้ก่อความไม่สงบยังพุ่งเป้าโจมตีเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่ดูแลพระในระหว่างการเดินทางเข้าออกจากวัดด้วย

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า กฎหมายสงคราม หรือที่เรียกอีกชื่อว่า กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ห้ามการโจมตีพลเรือนและวัตถุสิ่งของของพลเรือน รวมทั้งสถานที่สักการบูชา หรือการโจมตีที่ไม่แยกแยะระหว่างฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการสู้รบกับพลเรือน โดยกฎหมายสงครามไม่กำหนดข้อยกเว้นใดๆ ที่ทำให้ข้ออ้างของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชอบธรรม รวมทั้งการระบุว่า การโจมตีพลเรือนของพวกเขาชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป้าหมายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐพุทธไทย และตามกฎหมายอิสลามที่พวกเขาตีความ”

(โปรดดูฉบับเต็มใน https://www.hrw.org/news/2019/01/19/thailand-insurgents-kill-buddhist-monks?fbclid=IwAR12xYJWIFPjuc0NC8hJ4PISgILyXC2QczmSx8VzeIu50JxTvZXkkV01hYY)