จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (8)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล
รูปปั้นขงจื่อ AFP PHOTO / LIU JIN

ขงจื่อกับสำนักหญู (ต่อ)

ข. หลุนอี่ว์

จะด้วยสารัตถะหรือเพื่อต้องการยกย่องขงจื่อก็ตามที สิ่งที่พิเศษของปกรณ์เล่มนี้จะเห็นได้จากชื่อของปกรณ์เอง ที่โดยทั่วไปแล้วพยางค์แรกของชื่อนี้มิได้อ่านว่า หลุน แต่อ่านว่า ลุ่น ที่แปลว่า อภิปราย ถกเถียง วิเคราะห์ เป็นต้น

แต่เฉพาะกรณีปกรณ์เล่มนี้ทางฝ่ายจีนเจาะจงที่จะให้อ่านว่า หลุน ทั้งนี้เพราะต้องการชี้ให้เห็นถึงความพิเศษของปกรณ์เล่มนี้ ว่ามีฐานะสูงส่งที่แตกต่างไปจากปกรณ์หรือตำราเล่มอื่นๆ ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ล้วนให้อ่านว่า ลุ่น ทั้งสิ้น

ส่วนในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นมานั้น ปกรณ์เล่มนี้เป็นผลผลิตจากศิษยานุศิษย์ของขงจื่อเอง โดยเมื่อภายหลังจากที่ขงจื่อได้จากโลกไปแล้ว ศิษย์ของเขาได้รวบรวมและเรียบเรียงประเด็นต่างๆ ที่เกิดจากการสนทนาระหว่างขงจื่อกับพวกตนหรือกับผู้อื่นมารวมเข้าไว้

จากนั้นก็แยกบทสนทนาดังกล่าวออกเป็นบรรพ รวมแล้วได้ 19 บรรพ โดยแต่ละบรรพยังแยกออกเป็นบทอีกด้วย แต่ละบทจะมีเนื้อความไม่มากนัก แต่ก็มีความลึกซึ้งและแหลมคมอยู่ในตัว

เมื่อแล้วเสร็จศิษย์ผู้รวบรวมและเรียบเรียงจึงเรียกปกรณ์เล่มนี้ว่า หลุนอี่ว์ (บทสนทนา) เพราะเป็นปกรณ์ที่เกิดจากการสนทนาของผู้เป็นอาจารย์ (ขงจื่อ) จริงๆ

กล่าวโดยเนื้อหาแล้ว หลุ่นอี่ว์ เป็นปกรณ์ที่ว่าด้วยหลักคิดและหลักปฏิบัติทางการเมืองหรือการปกครอง คุณธรรมหรือศีลธรรม รีต คีตะ และการศึกษา เป็นต้น¹

เนื้อหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า ขงจื่อใช้ อู่จิง เป็นฐานความรู้ที่สำคัญ ด้วยปรากฏอยู่หลายตอนในปกรณ์ที่ชี้ให้เห็นว่าขงจื่อมักจะใช้ตัวอย่างจากอู่จิง มาเป็นกรณีศึกษาในยามที่สนทนากับศิษย์ หรือกับบุคคลอื่น

ถึงกระนั้น ก็มีเนื้อหาอีกหลายส่วนที่เห็นได้ว่าขงจื่อประมวลเอาความรู้ที่ตนมีอยู่มาสรุปเป็นหลักคำสอน ในแง่นี้หลักคำสอนจึงมีลักษณะเฉพาะที่เป็นของขงจื่อเอง

จากเนื้อหาที่ครอบคลุมหลักคิดและหลักปฏิบัติในด้านต่างๆ ดังกล่าว จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ปกรณ์นี้จะกล่าวถึงหลักคุณงามความดีที่บุคคลพึงยึดถือปฏิบัติกัน แต่เนื่องจากหลักคิดและหลักปฏิบัติเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายในบรรพและบทต่างๆ ปราชญ์ที่สังกัดสำนักหญูในชั้นหลังต่อมาจึงได้ประมวลหลักคำสอนที่สำคัญหรือโดดเด่นขึ้นมา

ทั้งนี้ หลักคำสอนที่สัมพันธ์กับคุณธรรมและจริยธรรมที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปปรากฏผ่าน 4 คำหลักด้วยกัน คือ เหญิน (เมตตากรุณา, benevolence) อี้ (เที่ยงธรรม, righteousness) หลี่ (รีต, rites) และจื้อ (พุทธิปัญญา, wisdom, intelligence) ทั้งสี่คำนี้เป็นคำที่ชาวจีนทั่วไปในอดีตมักท่องจำกันได้

การที่ 4 คำหลักนี้ถูกดึงหรือสรุปออกมาเช่นนี้ก็ไม่ต่างกับการสรุปหลักคำสอนพื้นฐานของศาสนาพุทธในเรื่อง “ศีลห้า” ที่ถ้าหากประสงค์จะศึกษาหลักปฏิบัติให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นแล้วก็ยังมีหลักคำสอนอยู่อีกไม่น้อย

ในกรณีสำนักหญูนี้คำที่อยู่นอกเหนือ 4 คำหลักดังกล่าวก็คือ ซิ่น (ซื่อสัตย์, honesty) จง (จงรักภักดี, loyalty) เซี่ยว (กตัญญูกตเวที, filial) เป็นต้น

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ประเด็นเกี่ยวกับหลักคำสอนนี้ยังขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะตีความคำของผู้สมาทานสำนักหญูอีกด้วย ว่าจะเลือกคำใดที่ตนเห็นว่าน่าที่จะสำคัญ

จากเหตุนี้ จึงมีงานศึกษาเกี่ยวกับหลักคำสอนที่ว่าผ่านคำอื่นๆ นอกเหนือจากคำที่กล่าวมาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีทั้งงานศึกษาที่เป็นของชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ต่างก็มีประโยชน์ต่อการศึกษาในแง่ที่เป็นหลักคำสอนด้านคุณธรรมและจริยธรรมทั้งสิ้น เพียงแต่ยังมิใช่หลักคิดทางการเมืองการและปกครองเท่านั้น

ในส่วนที่เป็นหลักคิดทางการเมืองและการปกครองของขงจื่อมีอยู่หลายด้านเช่นกัน แต่ที่เป็นที่กล่าวขานอ้างอิงในชั้นหลังต่อมาอย่างมากก็คือหลักคิดเรื่อง เจิ้งหมิง (ความเที่ยงแห่งนาม, Rectification of Names)

ที่มาของคำๆ นี้ได้ปรากฏอยู่ใน หลุนอี่ว์ อย่างน้อยก็ 2 แห่งด้วยกัน

แห่งหนึ่งจากบรรพที่ 12 บทที่ 11 ว่าด้วยกรณีที่ฉีจิ่งกงได้ถามขงจื่อเกี่ยวกับการปกครองที่ดีควรเป็นอย่างไร

ขงจื่อตอบว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ปกครอง ขุนนางเป็นขุนนาง บิดาเป็นบิดา บุตรเป็นบุตร²

อีกแห่งหนึ่งจากบรรพที่ 13 บทที่ 3 ว่าด้วยกรณีที่จื่อลู่ (ศิษย์คนหนึ่งของขงจื่อ) ได้ถามขงจื่อว่า หากผู้นำรัฐเหว้ยขอให้ขงจื่อช่วยปกครอง ขงจื่อจะทำสิ่งใดเป็นลำดับแรก ขงจื่อตอบว่า ต้องทำนามให้เที่ยง

จากทั้งสองแห่งตามที่ยกมานี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับหลักคิดเรื่อง เจิ้งหมิง หรือความเที่ยงแห่งนามทั้งสิ้น

แต่จะเข้าใจนิยามของเจิ้งหมิงได้อย่างถ่องแท้ ในเบื้องต้นพึงต้องเข้าใจบริบทของเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นก่อน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรจึงทำให้ขงจื่อยกเอาเรื่องเจิ้งหมิง ขึ้นมากล่าว

กรณีแรก เกิดขึ้นในขณะที่ขงจื่อพำนักอยู่ที่รัฐฉี ผู้นำรัฐนี้คือ ฉีจิ่งกง ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำที่ต่างตั้งตนเป็น ป้า (อธิราช) ในขณะนั้น

ฉีจิ่งกงเป็นผู้นำที่มีพฤติกรรมไปในทางเสื่อม คือเป็นผู้นำที่ฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย มักมากในกาม รีดนาทาเร้นราษฎรด้วยการขึ้นภาษี นิยมใช้บทลงโทษที่รุนแรง ไม่ใส่ใจการปกครอง ไม่ยอมตั้งตำแหน่งรัฐทายาท ไม่ฟังคำทัดทานของขุนนางที่ดี และยังปล่อยให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่บางคนมีอำนาจเหนือตนอีกด้วย

พฤติกรรมเช่นนี้จึงทำให้รัฐฉีเสื่อมลงอย่างหนัก

จากเหตุนี้ เมื่อฉีจิ่งกงถามขงจื่อถึงการปกครองที่ดี ขงจื่อจึงตอบไปด้วยถ้อยคำดังได้ยกมาข้างต้น และหลังจากนั้นขงจื่อก็เดินทางออกจากรัฐฉีไปด้วยความสิ้นหวัง

ประเด็นในที่นี้จึงคือความหมายในถ้อยคำดังกล่าวที่หมายถึงว่า ตัวของฉีจิ่งกงซึ่งเป็นผู้นำรัฐฉีนั้น มิได้ทำตัวให้สมกับที่มี “นาม” เป็นผู้ปกครอง คือใช้ชีวิตไปในทางเสื่อม

ส่วนขุนนางบางคนก็ทำตัวไม่สมกับ “นาม” ที่เป็นขุนนาง คือทำตัวอยู่เหนือฉีจิ่งกง

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐฉีจึงมีแต่จะเสื่อมลง

กรณีต่อมา เกิดขึ้นที่รัฐเหว้ยในขณะนั้นเมื่อปรากฏว่า มีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างบิดากับบุตรขึ้นมา จนส่งผลให้ความสัมพันธ์ของบิดากับบุตร และผู้นำกับขุนนางสับสนวุ่นวายไปหมด

กรณีนี้ขงจื่อจึงเห็นว่า ชนชั้นนำในรัฐเหว้ยมิได้ทำตนให้สมกับ “นาม” ที่ตนดำรงอยู่ คือบิดาทำตัวไม่สมกับที่มี “นาม” เป็นบิดา บุตรทำตัวไม่สมกับ “นาม” ที่เป็นบุตร และขุนนางก็ทำตัวไม่สมกับที่มี “นาม” เป็นขุนนาง เมื่อต่างทำตัวไม่สมกับ “นาม” ที่ตนมีอยู่เช่นนี้แล้ว ปัญหาก็ย่อมต้องเกิดขึ้นในรัฐเหว้ยเป็นธรรมดา

ทางออกของปัญหาในความคิดของขงจื่อจึงคือ ทุกคนจักต้องแก้ “นาม” ของตนให้ถูกต้อง คือใครมี “นาม” ใดก็ให้ทำตัวให้สมกับที่มี “นาม” นั้น

หากทำได้ก็เท่ากับว่าแต่ละ “นาม” ได้ถูกแก้ให้มี “ความเที่ยง”

เมื่อแก้ได้บ้านเมืองก็จะเจริญและยากที่จะเสื่อม

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า “นาม” หรือ หมิง ในทัศนะของขงจื่อนั้น แท้จริงแล้วมิใช่นามหรือชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกขานบุคคลในชีวิตประจำวัน หากแต่เป็นนามในทางสังคม

ดังนั้น หากไม่นับ “นาม” จากทั้งสองกรณีตามที่ยกมา (คือผู้ปกครอง ขุนนาง บิดา บุตร) แล้ว “นาม” ในทางสังคมจึงย่อมมีอยู่หลากหลาย ซึ่งหากไล่จากหน่วยสังคมที่เล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัวแล้วก็จะมีตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ทวด พี่ ป้า น้า อา เขย สะใภ้ เป็นต้น หรือสถาบันการศึกษาก็จะมีตั้งแต่ครูบาอาจารย์ นักเรียน นิสิต-นักศึกษา เป็นต้น หรือสถาบันการเมืองการปกครองอันเป็นหน่วยสังคมที่ใหญ่ที่สุดก็จะมีรัฐบาล ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน หรือราษฎร เป็นต้น

หากนามในทางสังคมเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตนให้สมกับ “นาม” ที่ตนมีอยู่แล้ว สังคมก็จะปั่นป่วนวุ่นวายไม่รู้จบ แต่หากแต่ละนามทำตนให้สมหรือแก้นามของตนให้สมกับ “นาม” ที่ดำรงอยู่แล้ว สังคมก็จะมีแต่ความสงบสุข

การทำนามให้สมหรือแก้นามให้ถูกต้องนี้ก็คือ ความเที่ยงแห่งนาม หรือ เจิ้งหมิง ในความหมายของขงจื่อ


เชิงอรรถ

¹ หลุนอี่ว์ เป็นปกรณ์ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยหลายสำนวน และมีทั้งที่แปลสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ เท่าที่มีข้อมูลจนถึงปี 2558 พบว่า สำนวนแรกน่าจะเป็นฉบับแปลไม่สมบูรณ์ของพระอมรโมลี [จี่ (พ.ศ.2336-2416)] ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 หลุนอี่ว์ สำนวนนี้มีชื่อว่า “สุภาษิตขงจู๊” โดยคำว่า “ขงจู๊” นี้เป็นภาษาจีนถิ่นฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) ที่ในเวลานั้นงานวรรณกรรมจีนส่วนใหญ่ที่แปลเป็นไทยมักแปลโดยชาวจีนที่มาจากถิ่นนี้ สำเนียงจึงออกมาเป็นเช่นนั้น

² สุวรรณา สถาอานันท์ แปลและเขียนบทนำ, หลุนอี่ว์ : ขงจื่อสนทนา, หน้า 288. งานศึกษาในที่นี้ยึดเอาสำนวนแปลนี้เป็นหลัก ด้วยเป็นสำนวนแปลที่มีความเป็นวิชาการสูง เช่นกรณีที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่า สำนวนนี้จะเรียกบุคคลที่เป็นผู้นำรัฐว่า “ผู้ปกครอง” ในขณะที่สำนวนอื่นจะเรียกว่า “กษัตริย์” เช่นสำนวนของ ประชา ศิลป์ชัย (นามปากกา) เรียบเรียง, คัมภีร์หลุนหวี่ : คัมภีร์จริยวัตรขงจื้อ, หน้า 141; อมร ทองสุก แปลและเรียบเรียง, คัมภีร์หลุนอวี่ : คัมภีร์แห่งแดนมังกร, หน้า 256. (สำนวนของอมรคล้ายกับของประชาตรงที่ได้ทำคำอธิบายประกอบแทรกในระหว่างบทเอาไว้ด้วย จะมีก็แต่แนวทางในการทำอธิบายเท่านั้นที่ต่างกัน โดยเฉพาะของประชานั้น คำอธิบายประกอบมักเป็นเหตุการณ์อันเป็นที่มาของบทสนทนาต่างๆ ซึ่งทำให้เข้าใจบริบทของคำสนทนาได้มากขึ้น และถือเป็นข้อดีของสำนวนนี้) ทั้งนี้เพราะฐานะกษัตริย์ในเวลานั้นต่างคนก็ต่างตั้งกันเอาเอง ซึ่งก็คืออธิราช หรือ ป้า นั้นเอง โดยที่องค์กษัตริย์ของราชวงศ์โจวก็ยังคงอยู่ ถึงแม้จะไม่มีอำนาจในความเป็นจริงก็ตาม