นี่คือคุณสมบัติ “ผู้นำองค์กร” ที่ควรต้องมี! : ธุรกิจพอดีคำ

ธุรกิจพอดีคำ : “รวมกันเราอยู่”

ณ วันแถลงข่าววิสัยทัศน์ขององค์กรยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงเทพฯ

ในห้องประชุม ที่นักข่าว ผู้ถือหุ้นมากหน้าหลายตากำลังใจจดใจจ่อกับสิ่งที่กำลังจะได้ยิน

เก้าอี้นุ่มสบาย แอร์เย็นฉ่ำ

แสงไฟสาดส่องไปที่บนเวที

ผู้บริหารระดับสูงสุดยืนตระหง่านด้วยท่าทีมั่นใจ

มีรอยยิ้มเล็กๆ สร้างความเป็นมิตรกับผู้เข้าร่วมฟัง

“ท่านคิดว่า สิ่งใดคือปัจจัยนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จครับ?”

นักข่าวถามผู้บริหารสูงสุดองค์กรยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง

“พันธกิจ วิสัยทัศน์ คุณค่า วัฒนธรรม ไงล่ะ” ผู้บริหารตอบ

หรือที่ภาษาอังกฤษเขาใช้กันอย่างแพร่หลาย

Mission Vision Value Culture

สิ่งเหล่านี้นี่แหละที่พนักงานทุกคนต้องเข้าใจ

ปฏิบัติตามแล้วก็จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

วันก่อนได้มีโอกาสนำหนังสือเล่มเก่ามาอ่านใหม่อีกครั้งหนึ่ง

หนังสือมีชื่อว่า “เซเปียนส์ (Sapiens)” ครับ

แปลเป็นภาษาไทยว่า “มนุษย์”

เขียนโดย “ยูวัล โนอาห์ ฮารารี”

ชื่อแปลกนิดหน่อย เพราะเขาเป็นอาจารย์ชาวอิสราเอล

ผู้คร่ำหวอดในวงการประวัติศาสตร์โลก

และปัจจุบันหนังสือของเขาก็ขายดิบขายดีเป็นล้านเล่มทั่วโลก

หนังสือ “เซเปียนส์” ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุก และได้ความรู้อย่างมาก

เป็นเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่ผมได้อ่านครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วครับ

หนังสือบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ตั้งแต่เมื่อ 7 หมื่นปีที่แล้ว สมัยมนุษย์ยังหน้าตาเหมือนลิง

ออกหาของป่า ล่าสัตว์ประทังชีวิต

ปลูกพืชผัก สร้างเมือง มีเรื่องของศาสนา

สงคราม อำนาจ วิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม

ร้อยเรียงเรื่องราว ไม่ใช่แค่ว่าสิ่งใดเกิดขึ้น ลำดับเหตุการณ์

แต่ให้แง่คิดว่า เหตุใดมันจึงเป็นเช่นนั้น

ซึ่งหากเราเข้าใจว่าทำไมเราจึงสร้างสรรค์สังคม พัฒนามาได้จนทุกวันนี้

เราก็อาจจะทำนายอนาคตได้ไม่ยาก

และเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบันอย่างไร

มนุษย์เรานั้น แต่ไหนแต่ไร

ถือได้ว่า “คลอดก่อนกำหนด” ครับ

ไม่ได้หมายถึงว่าคลอดตอนท้องยังไม่แก้ ยังไม่ถึงเก้าเดือนนะครับ

แต่ถ้าเปรียบเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นช้าง ม้า วัว ควาย

มนุษย์นั้นเมื่อคลอดออกมาดูโลกภายนอก จะไม่สามารถมีชีวิตรอดได้เลย

หากไม่มีพ่อ แม่ คนรอบข้าง คอยดูแลประคบประหงม

แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่

คลอดออกมาไม่นาน ไม่กี่ชั่วโมง ก็สามารถเดินได้เอง หาอาหารกินเองได้

มนุษย์นั้นออกมาปุ๊บ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

ไม่ใช่จากแค่พ่อและแม่เท่านั้น

แต่เป็นครอบครัว คนรอบข้างด้วย

และด้วยความอ่อนแอของทารกมนุษย์แบบนี้

การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงเป็น “วิถี” อย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลมาถึงชีวิตในปัจจุบันของมนุษย์

เป็นสัตว์เพียงไม่กี่ประเภท ที่ “สังคม” ช่วยให้อยู่รอดตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก

ยิ่งสังคมใหญ่ขึ้น การอยู่ร่วมกันในสังคมก็จะเป็นเรื่องยากขึ้น

เขาว่ากันว่า สัตว์น้อยชนิดนักที่จะอยู่ร่วมกันได้เกิน 150 ตัว

เกินกว่านั้น การใช้กำลังปกครอง เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากขึ้นตามสัญชาตญาณของสัตว์ป่า

แต่มนุษย์นั้นมีความสามารถพิเศษหนึ่งอย่าง ที่ช่วยรวมคนหมู่มาก เป็นหมื่น แสน ล้านได้

นั่นคือ “การสื่อสารเรื่องราวในจินตนาการ”

มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างเรื่องราวต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในเทพเจ้า เรื่องของศาสนา จิตวิญญาณ

ทำให้ผู้คนเชื่อในสิ่งเดียวกัน

และพร้อมจะรักกัน อยู่ร่วมกัน

หรือทำลายล้างกันได้อย่างง่ายๆ

เพียงแค่มี “ความเชื่อในเรื่องราว” ที่แตกต่างกัน

ไม่เคยมีสัตว์ตัวไหนสร้างสงครามล้างเผ่าพันธุ์กันเองได้

นอกเสียจาก “มนุษย์” เท่านั้น

ความสามารถในการ “สร้างเรื่องราวให้เชื่อ” นี่แหละ

คือสิ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ยิ่งใหญ่กว่าเผ่าพันธุ์อื่นๆ

สิงโตที่ว่าอยู่ในจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

ก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับมนุษย์ที่ร่างกายอ่อนแอ

หากแต่คล้ายกิ่งไม้ ที่อยู่โดดเดี่ยวจะอ่อนแอ หักง่าย

เมื่อรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ก็จะแข็งแรง ไม่มีผู้ใดเปรียบ

ถ้ามองจากเรื่องราวของมนุษย์ในประวัติศาสตร์แล้ว

การสร้างเรื่องราวความเชื่อ เพื่อที่จะสร้างให้คน “เคลื่อนไหว” ไปในทิศทางเดียวกันนี่แหละ

คือ “ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว” ของมนุษย์

การสร้างเมือง การสร้างสงคราม หรือแม้แต่การสร้างองค์กร

ก็ใช้ “แนวคิด” นี้ทั้งสิ้นในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย

มันอยู่ใน “พันธุกรรม” ของเรามาแล้วหลายหมื่นปี

สําหรับองค์กรแล้ว

วิสัยทัศน์ พันธกิจ ความเชื่อ จึงสำคัญ

องค์กรใดที่พนักงานเชื่อในวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร

รู้สึกว่ามีอารมณ์ร่วม อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ

เมื่อรวมพลังสิบคน ร้อยคน พันคน หมื่นคนได้

พร้อมจะชนะ “ศึกสงคราม” แห่งโลกธุรกิจในอนาคตอย่างแน่นอน

“เรื่องราว” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

แบบที่ “ซิกเว่ เบรคเก้” ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแม่ของ “ดีแทค” เคยบอกไว้

“ผู้บริหารสูงสุด จะต้องเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งที่สุดด้วย”

เล่าเรื่องได้ดี คนเชื่อ พนักงานเชื่อ องค์กรนั้นก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

จะอีกกี่หมื่นปี สิ่งนี้แหละที่ไม่เปลี่ยน