เครื่องเสียง : All-in-One System ที่น่าสนใจ

จากที่ได้พูดคุยเที่ยวก่อน ว่าปัจจุบันเครื่องเสียงชิ้นเดียวที่มีครบทุกอย่างแบบ All-in-One System กำลังได้รับความนิยมมาก และให้ความเพลิดเพลินจากเสียงเพลง เสียงดนตรี แก่ทุกคนในครอบครัวได้มากกว่าชุดเครื่องเสียง ที่แต่ไหนแต่ไรมามักจะเป็นของหวง ของต้องห้าม (แตะ) ที่พ่อบ้านมักจะเก็บเอาไว้เสพความสุนทรีย์แต่เพียงผู้เดียวมากกว่า

เวลานี้เราจึงได้เห็นเครื่องพวกนี้เข้ามาแทนที่ชุดเครื่องเสียงที่เป็น 2-Channel Stereo มากขึ้น

ที่สำคัญคือ นอกจากจะเอื้อความสะดวกในการเล่นแบบไร้สายแล้ว ยังให้คุณภาพเสียงที่ดีเป็นที่ยอมรับของคนเล่นเครื่องเสียงมากขึ้นด้วยนั่นเอง

เที่ยวนี้ก็เลยใคร่นำเครื่องพวกนี้ที่เคยผ่านหูมาบ้าง ทั้งแบบฟังเอาเรื่องและแบบพอรับรู้ให้สัมผัสได้ถึงตัวตนเป็นเงาๆ ว่าเข้าท่า เข้าทีดี มาให้รู้จักกันสักสี่ซ้าห้าเครื่อง เผื่อเป็นทางเลือกสำหรับใครที่อยากจะเดินออกมาจากห้องฟัง มาเสพสุขกับเสียงดนตรีจากมุมใด หรือโถงไหนของบ้านที่ได้นำเครื่องนั้นๆ ไปตั้งวางเอาไว้

โดยก้าวข้ามเรื่องของการทำ Acoustic Treatment และการฟังแบบเอาเรื่องทั้งกับอิเมจ ซาวด์สเตจ ตลอดจนโฟกัส และอะไรต่อมิอะไรอีกมากในการค้นหา “สัจจะแห่งเสียง” แบบเอาจริงเอาจังไปอย่างสิ้นเชิง

เหลือเพียงต้องการเสพสุขจากเสียงเพลง เสียงดนตรี ด้วยความสุนทรีย์ที่มาเติมเต็มให้อิ่มเอมในอารมณ์ล้วนๆ

เริ่มกันที่ Bose SoundTouch 30 Series lll ที่เห็นในรูปนั่นแหละครับ

โดดเด่นด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างไปจากลำโพงไร้สายอื่นๆ โดยเอื้อความสะดวกในการควบคุมรายการเพลงโปรดจากแหล่งที่มาต่างกันได้ โดยมิพักต้องผ่านสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต เพราะมันมีเมมโมรีให้บันทึกที่มาของรายการต่างๆ ได้ถึง 6 ช่อง

ซึ่งหลังจากที่ตั้งค่าเอาไว้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็สามารถเรียกกลับมาเล่นผ่านรีโมตคอนโทรลได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ยังให้เชื่อมต่อกับระบบเสียง SoundTouch เครื่องอื่นๆ ที่อยู่แต่ละห้องภายในบ้านได้ เพื่อการทำงานในรูปแบบของ Multi-Room ที่นอกจากจะให้แยกควบคุมได้อย่างเป็นอิสระแล้ว ยังสามารถเลือกเล่นเพลงที่แตกต่างกันได้อีกด้วย โดยควบคุมผ่านแอพพลิเคชั่นที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย สะดวก และช่วยให้เข้าถึงบริการเพลงออนไลน์ รวมทั้งสถานีวิทยุอินเตอร์เน็ตได้มากมาย หรือจะเข้าถึงพื้นที่จัดเก็บไฟล์ส่วนตัวอุปกรณ์จัดเก็บอย่าง NAS : Network Attached Storage ก็สามารถทำได้ง่ายเช่นเดียวกัน

และนอกจากจะรองรับการเล่นแบบไร้สายกับอุปกรณ์อื่นในระบบ Bluetooth แล้ว ยังมีอินพุต Mini Jack 3.5 mm ให้สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่านสายสัญญาณได้อีกด้วย

เครื่องต่อมาคือ JBL Authentics L8 ลำโพงระบบ 2-ทาง ในกล่องเดียวที่ผนวกภาคแอมปลิไฟเออร์ พร้อมรองรับระบบสตรีมมิ่งแบบไร้สาย ซึ่งก้าวเดินตามรอยความสำเร็จของรุ่นก่อนหน้าคือ Authentics L16 ที่ออกแบบมาในแนว Retro ซึ่งเป็นการรำลึกถึง Model L100 ลำโพงตู้แบบ Bookshelf ขนาดใหญ่ของ JBL ที่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาด เป็นที่นิยมของนักเล่นเครื่องเสียงทั่วโลกมานานร่วมครึ่งศตวรรษ

หลังจาก Authentics L16 ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม Model L8 ก็ตามมาด้วยภาพลักษณ์ และคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ที่ย่อมลงกว่าเล็กน้อย แต่มีโครงสร้างหน้าตาแบบเดียวกันคือ เป็นกล่องไม้สี่เหลี่ยมแท่งย่าแนวนอน แผงหน้ากากเป็นแบบฟองน้ำเซาะร่องในลักษณะสี่เหลี่ยมลูกเต๋าแบบเดียวกับแผงหน้ากากของ Model L100 ในอดีต

การทำงานแบบไร้สายนั้น นอกจากรองรับ Bluetooth แล้ว ยังเชื่อมต่อได้กับระบบ AirPlay และอุปกรณ์อื่นภายในบ้านที่เป็นโครงข่ายไร้สายระบบ DLNA : Digital Living Network Alliance รวมทั้งยังให้เชื่อมต่อผ่านระบบ NFC : Near Field Communication ได้อย่างสะดวก และยังให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นผ่านสายสัญญาณด้วยช่องเสียบต่อแบบ Mini Jack 3.5 mm ได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีพอร์ต USB Type A ให้ 2 ชุด พร้อมดิจิตอล อินพุต แบบออพติคัลอีก 1 ชุด โดยประสิทธิภาพการทำงานนั้นรองรับความละเอียดเสียงแบบ Hi-Resolution ได้ถึงระดับ 96kHz/24-bit ควบคุมการทำงานและใช้งานได้ง่ายๆ ผ่านทาง JBL Music Flow Application

JBL Authentics L8 ใช้ชุดตัวขับเสียงแบบแอ๊กทีฟ ไดรเวอร์ ประกอบไปด้วยทวีตเตอร์ขนาด 1 นิ้ว และวูฟเฟอร์ขนาด 4 นิ้ว อย่างละ 2 ตัว ผนวกแอมปลิไฟเออร์กำลังขับ 30Wrms แยกเป็นอิสระต่อไดรเวอร์แต่ละตัว โดยการทำงานของภาคขยายเสียงนั้น ให้การทำงานตอบสนองความถี่ 45Hz – 35kHz

มีระดับความดังเสียงสูงสุดที่ 104dB/SPL@1m วัดค่าอัตราส่วนสัญญาณต่อเสียงรบกวนได้ 92dB (Wireless & Analogue Input) ส่วนกับดิจิตอล อินพุต วัดได้ 98dB

อีกเครื่องที่น่าสนใจคือ Naim Mu-so ระบบเสียงสำหรับเล่นเพลงแบบไร้สายซิสเต็มแรกของค่ายนี้ ที่ใช้ลำโพงแบบพิเศษถึง 6 ตัว ผนวกแอมป์ขับลำโพงแบบตัวต่อที่มีกำลังขับ 75W x 6 ทำให้มีกำลังขับรวมถึง 450W โดดเด่นด้วยการทำงานที่รองรับทั้งกับอุปกรณ์และผู้ให้บริการด้านสตรีมมิ่งได้อย่างสะดวก อาทิ Bluetooth aptX, AirPlay, Spotify Connect, TIDAL, UPnP (Universal Plug “n” Play สำหรับการเข้าถึงเครือข่ายเพลงที่ได้จัดเก็บเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นจาก NAS จาก PC หรือจะเป็นจาก Notebook) รวมทั้งยังให้เข้าถึงสถานีวิทยุอินเตอร์เน็ตได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ยังสามารถใช้งานได้แบบ Multi-Room (สำหรับการเชื่อมต่อร่วมกับอุปกรณ์ที่เป็นระบบเสียงของ Naim ที่เป็น Streaming Product ด้วยกัน โดยให้แยกไปได้ถึงห้าห้อง) รวมทั้งยังมีพอร์ต USB Type A สำหรับใช้กับอุปกรณ์จัดเก็บหน่วยความจำแบบเดียวกันด้วย

อีกทั้งยังมีช่องเสียบอินพุตให้ทั้งอะนาล็อกแบบมินิ แจ๊ก และดิจิตอลแบบออพติคัล ครบถ้วน

เครื่องสุดท้ายนี่ออกจะ Hi-End กว่าใครเขาหมด นั่นคือ Sonus-faber SF16 ที่หากจำไม่ผิดเคยนำมาเล่าสู่กันฟังคราวออกตลาดใหม่ๆ เมื่อสักปีหนึ่งมาแล้ว เป็น All-in-One System ที่ใช้ Sound Field Shaper Technology ให้การกระจายเสียงแบบ Bipole/Dipole Radiation โดยการติดตั้งชุดไดรเวอร์ทั้งหมดนั้น เป็นแบบอิสระในลักษณะของ Satellite/Sub-Woofer

โดยที่ตัวแซตเทิลไลท์ ติดตั้งมิดเรนจ์และทวีตเตอร์ทั้งที่ด้านหน้าและด้านหลังในแบบ Satellite Front/Back

ส่วนสับ-วูฟเฟอร์ที่ใช้ไดรเวอร์ขนาด 5 นิ้ว, สองตัว ติดตั้งอยู่ในโครงสร้างแบบ Push-Push Structure ของชุดลำโพงหลัก ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวอยู่ในโครงสร้างเดียวกันแบบชิ้นเดียว

สำหรับสุ้มเสียงของเครื่องนี้ – ดูที่ราคาเกือบครึ่งล้านแล้ว, คงพอประมาณการกันเองได้นะครับ!!!