มุทิตา เชื้อชั่ง : ก้าวย่างชีวิตต่อไปของ “จรัล ดิษฐาอภิชัย”

“นี่เป็นร้านเก่าแก่มาก พนักงานคนนี้ทำงานที่นี่มาเกือบสามสิบปีแล้ว น่าเสียดายนะ ชีวิตวัยหนุ่มหายไปเลย”

จรัลหันมาเล่าเรื่องพนักงานคนหนึ่งของร้านกาแฟในย่าน Notre Dame ให้ฟังหลังจากทักทายคนนั้นคนนี้ในร้านเป็นที่เรียบร้อย

ในวัย 71 ปี เขายังดูกระฉับกระเฉง ทำหน้าที่พาผู้คนที่แวะเวียนไปเยี่ยมเขาที่ปารีสเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย คนแล้วคนเล่า กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า

ที่น่าประทับใจคือการพาไปดูบ้านของปรีดี พนมยงค์ บนถนนอองโตนีซึ่งยังคงสภาพเดิมแทบไม่เปลี่ยนแปลง

แม้จะเป็นการชมตัวบ้านจากริมรั้ว แอบถ่ายรูปหน้าบ้านจากริมถนน แต่ก็เหมือนได้สัมผัสเบาๆ และสูดกลิ่นของอดีตเข้าเต็มปอด

คงมีเพียงหญิงชราหน้าตาเอเชียเจ้าของบ้านเท่านั้นที่น่าจะกลุ้มใจพอสมควรกับทัวร์ประวัติศาสตร์ลักษณะนี้

ภาพจรัลทักทายผู้คนตรงนั้นตรงนี้ ทั้งคนไทย คนฝรั่งเศส และคนสัญชาติอื่น แม้กระทั่งคนที่ไม่รู้จัก เป็นภาพอันชินตา

ในรถไฟใต้ดิน ผู้หญิงสูงวัยหน้าตาสะสวยคนหนึ่งถือช่อดอกไม้ใหญ่นั่งอยู่ตรงจุดที่เขายืน จู่ๆ เขาก็ถามด้วยภาษาฝรั่งเศสแบบที่เราเดาได้ว่า “นี่ดอกอะไร?”

ใช่ แล้วบทสนทนาก็ยาวไป

 

ในวัย 71 ปี จรัลป่วยด้วยโรคเบาหวานและต่อมลูกหมากโต เขาพยายามดูแลตัวเอง หาหมอ กินยา

“เมื่อกี้ผมกินยาไปหรือยังนะ”

นั่นแหละปัญหา

หรืออีกปัญหาก็คือ

“คุณสั่งเครปสิ ร้านนี้อร่อย”

“ไม่ค่อยชอบของหวานค่ะอาจารย์”

“มันอร่อยจริงๆ นะ ร้านนี้”

“ลองก็ได้”

“ผมขอชิมคำนึง หมอไม่ให้กินขนมหวาน”

(เครปร้อนๆ ราดช็อกโกแลตจนท่วมมาเสิร์ฟ)…

“อาจารย์ นั่นหมดไปครึ่งแล้วนะ ไหนบอกกินคำเดียว”

ไม่แปลกที่ภรรยาของเขาจะเป็นห่วงเขาอย่างยิ่งเมื่อต้องใช้ชีวิตลำพังในปารีส

แม้จรัลจะมีฝรั่งเศสเป็นบ้านหลังที่สอง มีเพื่อนฝูงเยอะ เป็นผู้ประสานงานคนสำคัญระหว่างผู้ลี้ภัยทั้งหมดในฝรั่งเศส

มี “อั้ม” คอยร่วมกิจกรรมต่างๆ เสมือนลูกสาว และมีคนไทยที่เคารพรักเขาคอยช่วยเหลือดูแลไม่ห่าง

 

“ผมมีแม่ยกเหมือนกันนะ แต่ส่วนใหญ่เป็นหมอนวด คนไทยไม่น้อยมาทำอาชีพหมอนวดที่นี่”

จริงดังว่า ผู้ที่ดูแลจรัลค่อนข้างใกล้ชิดคือหญิงไทยที่มาอยู่ฝรั่งเศสเกือบยี่สิบปีจนเปิดกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเอง ทั้งด้วยความเคารพในอุดมการณ์การเมืองและด้วยความเอ็นดูผู้สูงวัยที่ต้องใช้ชีวิตโดดเดี่ยวในต่างแดน

เมื่อเทศกาลคริสต์มาสมาถึง แรงงานไทยในปารีสหลายครอบครัวก็มักชวนจรัลไปกินเลี้ยงหลายต่อหลายงานติดต่อกันจนถึงปีใหม่ ไม่มีว่างเว้น

“พวกเขานิสัยดี มีอุดมการณ์ จิตใจก็กว้างขวาง เวลาใครมาแล้วไม่มีที่พักก็อาศัยพวกเขานี่แหละ แต่ที่ไม่ดีอย่างหนึ่งก็คือ คนเสื้อแดงในยุโรปนี่มีแต่ห้องเล็กๆ ทั้งนั้นเลย ไม่มีบ้านใหญ่โตเหมือนในอเมริกา (หัวเราะ)”

อย่างไรก็ตาม “การจัดตั้ง” คนเสื้อแดงในต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ยากและไม่ประสบความสำเร็จเอาเสียเลย

เนื่องจากแต่ละกลุ่มแต่ละคนมีแนวทางเฉพาะของตนเอง

ความขัดแย้งเกิดขึ้นง่ายดายจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

จรัลในเวอร์ชั่นที่ต้องถกเถียงก็ไม่ใช่คนที่ประนีประนอม

เขาใช่ว่าจะได้รับการยอมรับกว้างขวางในทันทีที่ไปอยู่ฝรั่งเศส

จนกระทั่งกาลเวลาช่วยพิสูจน์หลายสิ่งหลายอย่าง ที่สำคัญในช่วง “กระแสต่ำ” ผู้คนต่างหมดกำลังใจและไม่อยากเคลื่อนไหวใดๆ

…แต่ไม่ใช่จรัล

 

เขายังคงติดตามสถานการณ์การเมืองไทยใกล้ชิด และมักชักชวนคนไปถือป้ายประท้วงหรือรณรงค์แล้วถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก แม้มีเพียง 4-5 คนที่ไม่เคยปฏิเสธการชักชวนของเขา

นอกจากนี้เขายังตระเวนพบองค์กร หน่วยงาน ผู้คนต่างๆ เพื่ออธิบายสถานการณ์การเมืองไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“สถานการณ์ที่ผ่านมาช่วงสิบปี มันทำให้คนเขาคิดว่าขนาดเราชุมนุมกันใหญ่โตมโหฬาร มีรัฐบาลก็ยังแพ้เลย เดี๋ยวนี้ยิ่งไม่มีอะไร วันก่อนผมพูดว่า เวลาชุมนุมมาหน่อย ก็ไม่มากัน อธิบายยังไงก็ไม่มา เราบอกคนในประเทศต้องการกำลังใจจากคนต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าคนต่างประเทศก็ฝากความหวังคนในประเทศ”

ด้วยความที่เป็นคนค่อนข้างเปิดต่อมิตรภาพใหม่ๆ สนทนาได้แม้กับ “เสื้อแดงบ้านๆ” ที่ความคิดตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ประกอบกับการพยายามจะ “เคลื่อนไหว” อยู่ตลอดแม้หลายคนจะเห็นว่าไร้ความหมาย ตลอดจนการมีงานอดิเรกอย่างการวิดีโอคอลไปพูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองกับผู้คนต่างๆ ทั้งฝ่ายเดียวกันและเพื่อนต่างสี ทั้งวัยใกล้กันจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

เหล่านี้ทำให้จรัลสะกดคำว่า เ-ห-ง-า ไม่เป็น

 

“ตั้งแต่มาอยู่นี่ไม่เคยรู้สึกลำบากอะไร ก็มีเงินตัวเองส่วนหนึ่ง เงินพรรคพวกให้มาก็มีบ้าง มีคนอุปถัมภ์ค้ำจุน มีเพื่อนเยอะ”

“ผมเป็นคนไม่ติด ไม่รู้สึกผูกพันกับประเทศเท่าไหร่ พูดให้ถึงที่สุดผมไม่ได้รักชาติ ไม่ได้รักชาติไทย ผมไม่รู้ความรู้สึกรักชาติเป็นยังไง แต่ชอบไหม ผมชอบอยู่ประเทศไทย มันสนุกสนาน มีเพื่อนฝูง อาหารการกินดี แต่รักนั้นผมไม่รู้ว่ารักหรือเปล่า เคยพูดแบบนี้ พรรคพวกช็อกเลย (หัวเราะ) แต่ที่แน่ๆ คือ ผมรักประชาชน ไม่ใช่ประชาชนไทยนะ ประชาชนทั่วโลก humanity แล้วผมก็ชอบยุโรป อเมริกา สังคมมันน่าอยู่กว่า คนมันเสมอภาคกัน มันอาจลำบากหน่อยที่เราอยู่นี่ไม่มีบ้านช่องเป็นของตัวเอง ต้องดูแลตัวเองทั้งหมด แต่มันก็ยังโอเค รักษาพยาบาลฟรี”

จรัลยังไม่มีบ้านพักเป็นของตัวเอง เขาอาศัยแบ่งห้องรับแขกในอพาร์ตเมนต์ย่านชานเมืองของแรงงานไทยครอบครัวหนึ่งกั้นเป็นห้องนอนเล็กๆ ขนาดแค่พอมีที่วางเตียงเดี่ยว

เด็กๆ ในครอบครัวนั้นสนิทสนมกับจรัลเหมือนญาติผู้ใหญ่ และจรัลมักรับหน้าที่เป็นพ่อครัวทำอาหารให้หลานๆ กิน

ส่วนรายได้นั้นได้รับการสนับสนุนเงินค่าครองชีพสำหรับผู้สูงอายุจากรัฐบาลฝรั่งเศสแบบที่ทำให้พอมีชีวิตอยู่ได้

 

นั่นคือสภาพซึ่งลงตัวมากแล้ว ในปี 2561 ที่ผ่านมา จรัลทำเรื่องขอบ้านเช่าราคาถูกจากรัฐบาลและรอคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเดินมาถึงจุดนี้ได้ ว่ากันตามตรงผู้ลี้ภัยหลายต่อหลายคนติดค้างอยู่ประเทศเพื่อนบ้านและใฝ่ฝันอยากขอลี้ภัยในประเทศพัฒนาแล้วเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แม้ต้องเริ่มนับจากศูนย์

แต่ประเทศเหล่านี้ก็รับเพียงผู้ที่มีประวัติการเคลื่อนไหวเป็นที่รู้จักในวงกว้างและประสบกับการคุกคามอย่างชัดเจนเท่านั้น

“นับจากอาจารย์ปรีดีและครอบครัว ผมคือผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยรายที่สองของที่นี่”

ย้อนกลับไปนับตั้งแต่มีการประกาศกฎอัยการศึกในประเทศไทยเมื่อ 20 พฤษภาคม 2557 เขาก็เตรียมพร้อมจะหนีอยู่ตลอดเวลาเพราะคาดได้ว่าจะมีการรัฐประหารแน่

จนกระทั่งวันที่ 23 เดือนเดียวกัน คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 3 เรียกคนเข้ารายงานตัว ชื่อจรัล ดิษฐาอภิชัย อยู่ในคำสั่งนั้นด้วย

เขาหลบจากที่พักไปกบดานอยู่ที่อื่น 4 วันก่อนข้ามด่านธรรมชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อข้ามไปได้ก็นั่งรถไปอีกประเทศหนึ่งในวันเดียวกันนั้นทันที

จรัลเจอเพื่อนหลายคนที่หนีไปก่อน เช่น จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ สุณัย จุลพงศธร ฯลฯ มีการสมคบคิดกันจะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

แต่บทสรุปคือน่าจะไม่เวิร์กเพราะประเทศที่พักอาศัยอยู่คงไม่แฮปปี้

จึงตั้งเป็น “องค์การเสรีไทย” โดยประกาศตัวชัดเจนเมื่อทั้งหมดกระจายตัวไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป

แต่องค์กรนี้ก็ไม่ได้รับการตอบรับมากนักและเริ่มจางหายไปจากการรับรู้ของผู้คนภายในเวลาไม่นาน

จรัลตัดสินใจรีบเดินทางออกจากที่นั่น ด้วยเกรงว่าหากช้ากว่านั้นอาจโดนรัฐบาลไทยเพิกถอนพาสปอร์ต

ท้ายที่สุดเขาก็โดนเพิกถอนพาสปอร์ตจริงๆ ในเดือนกรกฎาคมหลัง เขาเดินทางไปยื่นเรื่องต่อต้านรัฐบาล คสช.ต่อสหภาพยุโรป แต่นั่นเกิดขึ้นหลังจากเขาขึ้นฝั่งที่ฝรั่งเศสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จรัลเดินทางถึงฝรั่งเศสในวันที่ 15 มิถุนายน 2557

ที่นั่น เขาสมัครขอเป็นผู้ลี้ภัยโดยไม่รอช้า เพราะคาดว่า คสช.คงอยู่ยาว

การสมัครผู้ลี้ภัยจะได้สิทธิรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเงินสำหรับคนว่างงานเดือนละ 320 ยูโร การรักษาพยาบาลฟรี

การขอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศอื่นๆ มีความยากง่ายต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วใช้เวลานานนับปีจนถึงหลายปี บางทีต้องใช้ทนายเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ที่ฝรั่งเศสมีองค์กรอาสาสมัครช่วยว่าที่ผู้ลี้ภัยในการยื่นเรื่อง

“ผมโชคดี ส่งใบสมัครไปไม่ถึงเดือนก็ได้สัมภาษณ์ บางคนสามเดือน บางคนหกเดือน คนที่อเมริกาส่งไปสองปียังไม่เรียกสัมภาษณ์เลย พอสัมภาษณ์เสร็จ 8 วันมีมติรับเป็นผู้ลี้ภัย คิดแล้วใช้เวลาเพียง 4 เดือนกว่า ถือว่าเร็วที่สุดในปี 2557 ที่ฝรั่งเศสมีคนสมัครเฉลี่ยแล้วปีละ 60,000 คน เหตุที่เร็วคิดว่าเป็นเพราะผมมีหมายจับหลายใบ”

หลังจากนั้นจรัลตัดสินใจสมัครเป็นพลเมืองฝรั่งเศส เพราะสถานะผู้ลี้ภัยมีอายุเพียง 10 ปี เมื่อถึงกำหนดต้องทำเรื่องให้พิจารณาใหม่ อีกทั้งสถานะพลเมืองนั้นได้สิทธิประโยชน์มากกว่าผู้ลี้ภัย

“ผมคิดว่าผมคงต้องตายที่นี่”

 

ผมกลัวแต่ว่าจะหยุดเดิน
ชีวิตคงไม่มีค่า และผมคงตาย

“ถามถึงสังคมในอุดมคติเหรอ สำหรับผมคือระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย แต่เราไม่ได้ศึกษากันจริงจังว่า สาธารณรัฐและประชาธิปไตยมันเป็นอย่างไร พคท.ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เชื่อเรื่องประชาธิปไตยนะ เขาเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของชนชั้นนายทุน ดังนั้น ที่อดีตคอมมิวนิสต์ไปเป็นเหลืองหรือสนับสนุนเผด็จการก็เพราะเขาไม่ได้เชื่อในประชาธิปไตยอยู่แล้วแต่แรก เขาเชื่อในเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ”

“ประชาธิปไตยมันมีข้ออ่อนเยอะ ถึงปัจจุบันประชาธิปไตยเหลือข้อดีอยู่ 2 ข้อเท่านั้น เรื่องนี้ผมคุยกับพิภพ ธงไชยด้วย เผอิญ 2 ข้อนี้เป็น 2 ข้อที่ผมชอบ ข้อแรก ประชาธิปไตยมันให้เสรีภาพ ระบอบอื่นๆ ไม่ให้ ไม่มีใครในโลกเกลียดเสรีภาพ ข้อสอง เป็นระบบการปกครองเดียวที่ประกันให้การเปลี่ยนรัฐบาลเป็นไปอย่างสันติ”

“ในชีวิตทางการต่อสู้ทางการเมืองของผม ไม่มีช่วงไหนที่ทำงานยากที่สุดเท่ากับช่วงเวลานี้ ก่อน 14 ตุลามันง่ายเพราะขบวนการนักศึกษากำลังเติบใหญ่ หลัง 14 ตุลาผมเป็นคอมมิวนิสต์ยิ่งง่ายใหญ่เลย เข้าป่าหลัง 6 ตุลาก็ง่าย ออกจากป่ามาฝรั่งเศสกลับไปร่วมกับขบวนการสิทธิมนุษยชนก็ทำงานง่าย”

“แต่เดี๋ยวนี้ยากมาก พูดกันยาก ซึ่งมันก็สะท้อนทั้งด้านดีและไม่ดี ด้านดีคือคนเดี๋ยวนี้เป็นตัวของตัวเอง คิดเอง ไม่เชื่อใคร แต่ด้านที่ลำบากคือเขาเป็นลิเบอรัล เป็นเสรีนิยม เขาไม่ใช่นักปฏิวัติ จะไปพูดให้เขามีระเบียบวินัย ยึดหลักนั้นหลักนี้เป็นไปไม่ได้ พูดให้ทำนั่นทำนี่เป็นไปไม่ได้ แล้วสถานการณ์ที่ผ่านมาช่วงหลายปีมานี้เป็นสถานการณ์กระแสต่ำยาวนาน ทำให้ทำอะไรยากมากด้วย”

“สรุปก็คือ ผมยังคิดไม่ลงตัว และรอการคลี่คลายของโลก แต่ขณะที่รอการคลี่คลายก็จะไม่หยุดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความยุติธรรม เพื่อสิทธิมนุษยชน ถ้าอยู่เฉยๆ รอให้พบ ไม่รู้ชาติไหนจะเจอ”

“ไม่นะ ผมไม่เคยท้อแท้ ผมไม่หมดกำลังใจ ผมกลัวแต่ว่าผมจะหยุดเดิน หลายคนบอกให้ผมหยุด ผมไม่รู้ว่าถ้าหยุดแล้วจะเป็นยังไง ชีวิตคงไม่มีค่า และผมคงตาย”

หลายคนคงไม่รู้ว่า “จรัล” แปลว่าอะไร และจู่ๆ บางคนก็นึกอยากรู้

พจนานุกรมบอกคำแปลสั้นๆ แค่ว่า : เดิน

คนตั้งชื่อจะรู้ไหมว่าเขาก็เดินอย่างไม่หยุดสมกับชื่อนั้นจริงๆ

To reach the unreachable star

This is my quest, to follow that star

No matter how hopeless, no matter how far…