คมกฤช อุ่ยเต็งเค่ง : สวัสดีปีใหม่ รำพึงทบทวนชีวิตอีกครา กับความหวังและอำนาจ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เป็นธรรมเนียมที่ต้นปีผมจะขออนุญาตท่านผู้อ่าน ไม่ได้นำเสนอสาระความรู้อะไร แต่อยากถือโอกาสทบทวนปีเก่า รำพึงถึงอะไรบางอย่าง หรือหวังถึงปีใหม่ที่จะมาถึง

ก่อนอื่นใดผมต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่าน ที่บทความผมมาๆ หายๆ ไม่ได้นำเสนอสาระสม่ำเสมอ อันนี้ผมต้องขออภัยเป็นอย่างสูงในปีที่ผ่านมา และจะพยายามให้มีงานนำเสนอสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

ที่จริงหลังจากเขียนงานมาสักพัก ผมอยากจะนิยามงานของตัวเองว่าเป็น “เชิงอรรถ” ของปราชญ์ท่านอื่น ไม่ว่าจะคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์ศิริพจน์ เรื่อยไปจนถึงไมเคิล ไรท์ ด้วยเหตุว่าท่านเหล่านี้ล้วนคิดทฤษฎีสำคัญๆ แนวคิดไพศาลลึกซึ้ง ผมเพียงมาต่อเติมส่วนที่ผมรู้ เช่น ขนบประเพณีของอินเดีย หรือความเชื่อทางศาสนาที่อาจมีผู้รู้ไม่แพร่หลายก็เท่านั้น

โดยหวังให้เกิด “จินตนาการใหม่ๆ” ซึ่งช่วยทำให้เราหลุดออกไปจากกรอบเดิม

กระนั้นก็เป็นสิ่งที่ท่านผู้มีนามข้างต้นพยายามทำอยู่แล้ว

 

ที่จริงปีใหม่ของไทยนี่สนุกดี เพราะเรามีปีใหม่หลายแบบ

เรามีปีไทยแบบเดิมที่นับเอาขึ้นเดือนอ้ายเป็นปีใหม่ มีที่เดือนห้าซึ่งถือเอาอย่างพราหมณ์ (ปัจจุบันการเปลี่ยนปีของพราหมณ์ คือ ปีวิกรมสัมวัตยังใช้เดือนห้าอยู่) มีปีใหม่ตอนสงกรานต์ (อย่างอินเดียใต้) มีพุทธศักราช มีรัตนโกสินทร์ศก มีจุลศักราช ฯลฯ

ในคัมภีร์นยายะของฮินดู อันว่าด้วยหลักตรรกวิทยา ท่านจึงว่า เวลา หรือ “กาละ” เป็นสิ่งบ่งบอกความใกล้ไกลในแง่เวลา แบ่งเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่เวลาเป็นสิ่งมองไม่เห็น มนุษย์ก็สมมุติเรียกเป็นวินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสมมุติบัญญัติให้มนุษย์ได้มีโอกาสไตร่ตรอง หรือเฉลิมฉลองให้กับชีวิตทั้งสิ้นทั้งปวง ว่าได้เจริญงอกงามขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง

ที่จริงก็นับว่าเป็นประโยชน์ ถ้าไม่มีจุดเปลี่ยนเช่นนี้ เราคงเครียด ท้อถอย สิ้นหวัง กระนั้นศาสนาทั้งหลายก็บอกว่า ปลายทางของเวลาล้วนนำไปสู่ความเสื่อม ความหวังของเราจึงถูกครอบทับด้วยความไม่จีรังยั่งยืนอีกชั้นหนึ่ง

 

เรื่องความหวังนี่เป็นของยากครับ ทางหนึ่งก็ให้พละกำลังกับชีวิต แต่ถ้ามากไปบางครั้งก็กลายเป็นเพ้อเจ้อมัวเมาได้ ทำอย่างไรให้พอเหมาะพอดีจึงเป็นโจทย์ที่แต่ละคนจะต้องค้นหากันต่อไป

ครูอาจารย์ท่านหนึ่ง คือท่านเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช เคยกล่าวไว้ในทำนองว่า “ความสับสนวุ่นวายคือข่าวดี” (Chaos is good news) หมายความว่า หลายครั้งเรากอดยึดความหวัง ความมั่นอกมั่นใจว่าทุกอย่างจะดีอย่างที่มันเคยเป็นต่อไป หรือมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปีใหม่จะดีกว่าปีเก่าไปเรื่อยๆ

การเกิดความวุ่นวายสับสน ไม่เป็นไปตามแผนการ จะช่วยถอนทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเรา สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้ว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นไปตามที่เราต้องการ และนี่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากความเคยชินเดิมๆ

พูดแบบศัพท์แสงศาสนา คือเจอพลังของ “อนิจจตา” หรือความเป็นอนิจจังเข้าไปนี่แหละ ซึ่งช่วยถอนทำลายความยึดมั่นของเรานั่นเอง

ความวุ่นวายสับสน หรือความฉิบหายทั้งเล็กใหญ่จึงเป็น “ข่าวดี” ที่ส่งถึงเรา หากเราประสงค์จะเดินไปในหนทางแห่งการฝึกฝนตนเอง

 

กระนั้น ด้วยความรัก ผมหวังว่าความมุ่งมาดในทางส่วนตัวของใครต่อใคร จงประสบความสำเร็จดังหวังนะครับ น่าสนใจว่ามีบางท่านที่นอกจากจะแสดงความมุ่งหวังในทางส่วนตัวแล้ว ยังมีความมุ่งหวังในทางส่วนรวมหรือในทางสังคมด้วย เช่น อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่มีการเลื่อนแล้ว เป็นต้น

อันนี้ก็ต้องอวยพรดังๆ ให้สมมาดปรารถนาเสียที

ในต้นปีนี้ ผมมีนิทานมาเล่าไว้เป็นอนุสติส่งท้ายตามธรรมเนียมดังนี้

 

คัมภีร์อานันทะรามายณะ ซึ่งเป็นรามายณะฉบับสันสกฤตอีกฉบับหนึ่ง นอกเหนือจากฉบับใหญ่ของท่านวาลมีกิ ในฉบับนี้มีนิทานแทรกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่มีในฉบับอื่นๆ คือเรื่อง “สุนัขฟ้องร้องพราหมณ์”

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระรามราชกุมาร ผู้เป็นบุรุษอุดมยังมิได้เสวยราชย์ในกรุงอโยธยา ก็ทรงได้ยินเสียงร้องโหยหวนของสุนัข

พระรามเป็นเจ้าจึงให้พระลักษมณ์ออกไปดู พบว่ามันร้องเพราะความเจ็บปวดจากการโดนตี

พระองค์จึงโปรดให้เบิกสุนัขเข้าในท้องพระโรง สุนัขมิกล้าด้วยมีธรรมเนียมว่าสุนัขเป็นสัตว์ชั้นต่ำ ไม่พึงเข้าในเทวสถาน พระราชมณเฑียรและบ้านพราหมณ์

พระเป็นเจ้าผู้ทยาลุคือพระทัยเปี่ยมกรุณา จึงทรงอนุญาตให้สุนัขเข้ามาเป็นกรณีพิเศษ แล้วตรัสถามสุนัขว่าเกิดอะไรขึ้น

สุนัขตอบพระองค์ (ในนิทานสัตว์ย่อมพูดกับคนได้) ว่า โดนพราหมณ์ผู้หนึ่ง ชื่อสวรารถสิทธา ทำร้ายโดยไร้เหตุผล

พระเป็นเจ้าผู้ทรงเห็นว่าพราหมณ์ทำเกินกว่าเหตุ จึงเรียกพราหมณ์ผู้นั้นมาสอบสวน พราหมณ์ให้การว่าเพราะสุนัขขวางทางจึงใช้ไม้ตีที่ศีรษะของสุนัข แล้วร้องขอให้พระรามลงโทษ แต่พระเป็นเจ้าไม่รู้จะลงโทษพราหมณ์อย่างไร เพราะกษัตริย์ไม่พึงทำร้ายพราหมณ์

สุนัขตัวนั้นจึงเอ่ยขึ้นว่า ขอให้ทรงแต่งตั้งพราหมณ์ผู้นี้ให้เป็น “กุลปติ” แห่งกิลินชร กล่าวคือ ให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเป็นนายบ้านปกครองกิลินชร

พระรามทรงทำตามสุนัขร้องขอ พราหมณ์ผู้นั้นถูกส่งขึ้นช้างออกไป ทุกคนโล่งใจเพราะพระรามไม่ต้องทรงลงโทษพราหมณ์

กระนั้นพระเป็นเจ้ารามผู้สุกุมาร (นิ่มนวล) ทรงประหลาดพระทัย ไฉนสุนัขจึงขอสิ่งที่เหมือนไม่ใช่การลงโทษแก่พราหมณ์ แต่ราวกับให้รางวัล จึงทรงถามสาเหตุ

สุนัขตอบว่า ในชาติที่แล้วตนเองก็เคยเกิดเป็นกุลปติแห่งกิลินชร เมื่อเป็นนายบ้านมีอำนาจก็มัวเมาในอำนาจ เมื่อมัวเมาในอำนาจก็มักโกรธและโหดร้าย ด้วยเหตุนั้นจึงต้องมาเกิดเป็นสุนัขในชาตินี้ และกล่าวว่า ใครประสงค์จะให้ตนเองและพี่น้องบริวารตกนรกก็พึงเป็นนายบ้านเถิด

กล่าวดังนั้นแล้ว สุนัขจึงจากไปยังเมืองพาราณสี และตายลงที่นั่น

นิทานเรื่องนี้สอนว่า ผู้มัวเมาในอำนาจมักโกรธและโหดร้าย หลงตนว่าใครก็ทำอะไรไม่ได้ แม้ในระยะใกล้จะดูเหมือนได้เสวยสุข แต่หากมัวเมาในอำนาจต่อไปย่อมถึงความวิบัติเป็นแน่แท้

ใครรู้แล้วก็รีบลงจากอำนาจเสียที

สวัสดีปีใหม่!