สุรชาติ บำรุงสุข : ประวัติศาสตร์กับอนาคต 2562 : เมื่อคนล้มเลือกตั้งอยากเลือกตั้ง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ประวัติศาสตร์กับอนาคต 2562 : เมื่อคนล้มเลือกตั้งอยากเลือกตั้ง

“ที่ต้องทำรัฐประหารก็เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ต่อไปนี้จะไม่ทำรัฐประหารอีกแล้ว”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ปีใหม่ของปี 2562 เป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญของการเมืองไทย เพราะหลังการยึดอำนาจของคณะทหารในเดือนพฤษภาคม 2557 แล้ว การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของระบอบอำนาจนิยม

ผลเช่นนี้ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นเพียงคำสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่าที่ไม่เป็นจริง แม้รัฐบาลทหารปัจจุบันอยากจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเท่าใดก็ตาม แต่รัฐบาลทหารก็ไม่อาจที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปโดยไม่มี “ตารางการเมือง” ที่ชัดเจนในการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน

และในขณะเดียวกันผู้คนในหลายส่วนของสังคมไทยปัจจุบันเริ่มทวงถามมากขึ้นถึงการพาประเทศกลับสู่ภาวะปกติ

สัจธรรมทางการเมืองก็คือ รัฐบาลทหารไม่ใช่สิ่งที่เป็น “อมตะ” ในการเมืองไทย (และในเวทีโลก) และไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่เผชิญกับความท้าทาย ด้วยแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ

ในที่สุดแล้วรัฐบาลทหารจำต้องยินยอมให้การเลือกตั้งหวนกลับคืนมา

ความเป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจในโลกปัจจุบันนั้น ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทุกด้าน

การดำรงสภาวะของความเป็นรัฐบาลทหารต่อไปในอนาคต จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้โดยไม่ถูกกดดันและท้าทายทั้งจากเวทีภายในและเวทีระหว่างประเทศ

ดังนั้น เครื่องมือที่จะเปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจต่อไปได้ กลับไม่ใช่ปัจจัยจากความเข้มแข็งของกองทัพอีกต่อไป

หากเป็นกลไกการเลือกตั้งที่พวกเขาเคยล้มล้างมาเพื่อการก้าวสู่อำนาจนั่นเอง

และเมื่อผู้นำทหารต้องเดินบนถนนแห่งการเลือกตั้งแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือการจัดตั้งพรรคทหาร

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ฉะนั้น ในปีใหม่จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการย้อนกลับไปมองอดีตเพื่อเป็นคำตอบสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โลกแห่งความย้อนแย้ง!

ในด้านหนึ่งอาจจะดูเป็น “ตลกร้ายทางการเมือง” อย่างยิ่ง ที่คณะรัฐประหารซึ่งทำการล้มล้างระบอบการปกครองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ในที่สุดแล้วคณะรัฐประหารชุดนี้ก็ต้องกลับมาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเอง

และไม่ว่าพวกเขาจะแสดงอาการ “รังเกียจ” การเลือกตั้งเพียงใด แต่คณะรัฐประหารย่อมตระหนักดีว่า พวกเขาไม่ใช่ผู้นำทหารในอดีตที่จะสามารถอยู่ในการเมืองไทยได้อย่างยาวนานโดยมีเพียงกองทัพเป็นเครื่องมือรองรับเท่านั้น

โลกแห่งความเป็นจริงทางรัฐศาสตร์ที่โหดร้ายสำหรับรัฐบาลทหารก็คือ พวกเขาต้องการเครื่องมืออื่นมากกว่าการค้ำประกันอำนาจจากกองทัพ

อันทำให้รัฐบาลอำนาจนิยมในหลายประเทศจำเป็นต้องเดินเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเลือกตั้งที่ถูกโค่นล้มจากคณะรัฐประหาร กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะจาก “รัฐบาลทหาร” มาเป็น “รัฐบาลเลือกตั้ง” ได้ บนเงื่อนไขว่าจะต้องเอาชนะการเลือกตั้งให้ได้

ดังนั้น ตลกร้ายทางการเมืองในลำดับถัดมาจึงได้เห็นถึงการตั้งพรรคการเมืองของคณะรัฐประหาร การจัดตั้ง “พรรคทหาร” ได้กลายเป็นแบบแผนหลักของรัฐบาลทหารก่อนการเลือกตั้ง

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสะท้อนถึงแบบแผนของการจัดตั้งพรรคเพื่อเป็นเครื่องมือในการอยู่ในอำนาจต่อของผู้นำรัฐประหารอย่างชัดเจน อันได้แก่ 4 พรรคใหญ่ในอดีตคือ

1) พรรคเสรีมนังคศิลา (จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า)

2) พรรคชาติสังคม (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า)

3) พรรคสหประชาไทย (จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้า)

และ 4) พรรคสามัคคีธรรม (นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้า พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เป็นผู้ก่อตั้ง)

หากพิจารณาสถานะแต่ละพรรคจากบทบาทที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะพบว่าพรรคทหารไม่ประสบความสำเร็จในการยืดอายุการอยู่ในเวทีการเมืองของคณะรัฐประหารแต่อย่างใด

– พรรคเสรีมนังคศิลาก่อตั้งในปี 2498 และจบบทบาทลงด้วยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2500 แม้พรรคจะยังคงมีผู้แทนราษฎรจำนวน 4 คน (จากจำนวนผู้แทนทั้งหมด 160 ที่) ในการเลือกตั้งตอนปลายปี 2500 แต่บทบาทที่เป็นจริงก็ถือว่าสิ้นสุดลง อันเป็นการปิดยุคจอมพล ป. และอัศวินเผ่า

– พรรคชาติสังคมเป็นพรรคที่พัฒนาต่อมาจากพรรคสหภูมิที่ก่อตั้งในปี 2500 โดยมีจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และหมดบทบาทลงเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี 2501 อันทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองรองรับบทบาทของผู้นำทหารต่อไป

– พรรคสหประชาไทยมีบทบาทตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2511 และสิ้นสุดลงด้วยการรัฐประหารของจอมพลถนอมในปี 2514 คล้ายกับบทบาทของพรรคชาติสังคมที่ยุติด้วยการยึดอำนาจของผู้นำทหารที่เป็นผู้ก่อตั้งพรรคเอง และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

– พรรคสามัคคีธรรมมีนักการเมืองพลเรือนเป็นหัวหน้า แต่เป็นที่รับรู้กันว่าพรรคก่อตั้งโดยผู้นำคณะรัฐประหารในปี 2535 และสิ้นสุดบทบาทด้วยความพ่ายแพ้จากการประท้วงใหญ่ของประชาชนในปี 2535

พรรคทหารอายุไม่ยาว!

จากสี่กรณีของพรรคทหารในการเมืองไทยสะท้อนให้เห็นคำตอบอย่างชัดเจนว่า พรรคทหารโดยตรงหรือพรรคนอมินีทหาร (พรรคเสรีธรรม) ไม่สามารถทำให้ผู้นำคณะรัฐประหารมีอายุยืนยาวในการเมืองไทยในยุคการเลือกตั้งได้จริง

และน่าสนใจอย่างมากว่าพรรคเหล่านี้มีอายุทางการเมืองสั้นมาก

พรรคสหประชาไทยมีอายุยาวกว่าพรรคอื่น คือจากตุลาคม 2511 เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง และไปจบลงที่การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2514 คือมีอายุราว 3 ปีเศษ

หรือพรรคเสรีมนังคศิลาที่จัดตั้งในเดือนกันยายน 2498 และจบที่รัฐประหารกันยายน 2500 ก็มีอายุ 3 ปีเช่นกัน…

พรรคทหารที่สำคัญในการเมืองไทยมีอายุยาวสุดประมาณ 3 ปี ส่วนอีกสองพรรคอายุสั้นและจบลงอย่างรวดเร็ว

และในการเมืองไทยร่วมสมัย เช่น พรรคทหารอย่างสามัคคีธรรมเกิดในเดือนมีนาคม 2535 และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิงในเดือนพฤษภาคม 2535

ถ้าประวัติศาสตร์จะชี้ให้เห็นนัยทางการเมืองของพรรคทหารแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่าพรรคในลักษณะเช่นนี้เป็น “พรรคเฉพาะกิจ” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อหวังว่าชัยชนะในการเลือกตั้งจะช่วยเปิดโอกาสให้คณะรัฐประหารสามารถดำรงอำนาจได้ต่อไป

แต่การอยู่ในอำนาจในฐานะรัฐบาลเลือกตั้งนั้น บรรดาผู้นำทหารที่มาจากการรัฐประหารล้วนต้องเผชิญกับการเมืองในระบบรัฐสภา ที่เป็นรัฐสภาของการเมืองในระบบเปิด

ไม่ใช่รัฐสภาในยุคหลังรัฐประหารที่สมาชิกถูกแต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหารในแบบที่พวกเขาคุ้นเคย

ความเป็นจริงของการเมืองในยุครัฐประหารก็คือ สภาในระบอบนี้มีสถานเป็นเพียง “สภาตรายาง” ที่พวกเขาทำหน้าที่เหมือนกับหน่วยทหารระดับรอง ที่ต้องรอคำสั่งจากหน่วยเหนือ

การยกมือลงเสียงในรัฐสภาที่มาจากการรัฐประหาร จึงเป็นดังการรับ “คำสั่งทางยุทธการ” ที่สมาชิกสภามีฐานะเป็นดังผู้ใต้บังคับบัญชา และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งให้รับรองหรือไม่รับรองร่างกฎหมายที่ถูกนำเสนอเข้าสู่สภา

สมาชิกเหล่านี้ไม่ได้มาจากการลงเสียงของประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ย่อมต้องฟังเสียงจากผู้แต่งตั้งเป็นปกติ สภาในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำทหารสามารถควบคุมได้

– การเมืองยุคกึ่งพุทธกาล

แต่เมื่อพวกเขาต้องเล่นอยู่กับการเมืองในระบบการเลือกตั้งแล้ว บทเรียนการเป็นนายกรัฐมนตรีรอบแรกของ พล.ท.ถนอมที่เริ่มขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2501 เป็นประวัติศาสตร์ที่ผู้นำทหารหลายคนอาจหลงลืมไปกับกาลเวลา

ระยะเวลาเพียง 8 เดือนของการเป็นรัฐบาล ปัญหาทางการเมืองเริ่มก่อตัวให้เห็น โดยเฉพาะพรรครัฐบาลมีปัญหาความแตกแยกภายใน และมีท่าทีหันไปสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน (หมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น) ในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้นำทหารที่เคยคุมสภาในยุครัฐประหาร กลับไม่สามารถคุมสภาในระบบเลือกตั้งได้ และสมาชิกของพรรครัฐบาลก็ต่อรองด้วยการของบประมาณมากขึ้นไม่หยุด และบางส่วนก็ต่อรองขอตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาการทำกฎหมายภาษี สิ่งเหล่านี้กำลังก่อตัวเป็นมรสุมใหญ่

แต่ทุกคนทราบดีว่าผู้นำรัฐบาลที่แท้จริงคือจอมพลสฤษดิ์ ฉะนั้น เมื่อมรสุมก่อตัวรุนแรงขึ้น การตัดสินใจสุดท้ายคือการเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อควบคุมสถานการณ์การเมือง

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การกลับมาเพื่อทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 แล้วพรรคชาติสังคมก็หมดภารกิจลง การควบคุมทางการเมืองของทหารในยุคของการรัฐประหารแตกต่างกับในยุคของการเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิง

โดยเฉพาะผู้นำทหารจะเผชิญกับกระบวนการเมืองใน “ระบบเปิด” จนไม่อาจแบกรับได้

– การเมืองยุคก่อน 14 ตุลาฯ

ในสมัยของการเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งรอบสองของจอมพลถนอมในเดือนมีนาคม 2512 ก็เหมือนกับการย้อนรอยเดิมของประวัติศาสตร์ ปัญหาความแตกแยกภายในกลุ่มผู้นำทหารที่ผสมเข้ากับการแตกแยกภายในพรรครัฐบาล

ทำให้พรรคสหประชาไทยมีอาการระส่ำระสาย และอาการนี้ทวีความรุนแรงขึ้นจากการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม

แต่ไม่ต่ออายุราชการของผู้นำกลุ่มการเมืองในรัฐบาลคือ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ การขยายบทบาทของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร และสำทับด้วยความขัดแย้งในเรื่องงบพัฒนาจังหวัด…มรสุมการเมืองเริ่มขึ้นแล้ว

มรสุมก่อตัวในพรรครัฐบาลจากปี 2513-14 ไม่แตกต่างมากนักกับอดีตของพรรครัฐบาลในปี 2501 แล้วการตัดสินใจสุดท้ายก็จบลงในแบบที่ไม่แตกต่างกันคือ ผู้นำรัฐบาลเลือกตั้งที่เป็นทหารหันกลับสู่วิธีแก้ปัญหาทางการเมืองในแบบที่ผู้นำทหารคุ้นเคยคือการทำรัฐประหาร

แล้วจอมพลถนอมก็ตัดสินใจยึดอำนาจรัฐบาลตนเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 พรรคสหประชาไทยถึงจุดสิ้นสุดลง ไม่ต่างจากพรรคชาติสังคม รัฐประหารเป็นปัจจัยที่ปิดฉากพรรคทหารลงอีกครั้ง

– การเมืองยุคพฤษภาทมิฬ

การปูทางไปสู่การเป็นรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งของคณะรัฐประหาร 2534 เป็นปัญหาอย่างมาก เสียงไม่ตอบรับมีมากขึ้น แม้ต่อมาผู้นำทหารจะตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นในตอนต้นปี 2535 และพรรครัฐบาลจะมีเสียงสูงสุด แต่ก็ไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้

และการเมืองแบ่งเป็นสองขั้วอย่างชัดเจนคือ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้าน แม้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร (รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร) ตอบรับที่จะเป็นนายกฯ แต่เสียงต่อต้านก็ทวีมากขึ้น และการประท้วงขยายตัวมากขึ้น

การประท้วงในเดือนพฤษภาคมบานปลายออกไป และเมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังสลายการชุมนุม นำไปสู่การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับกำลังของฝ่ายรัฐ จนกลายเป็นวิกฤต “พฤษภา 35” ที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของคณะรัฐประหารต้องยุติลง

และกองทัพต้องถอยออกจากการเมืองในระดับหนึ่ง

พรรคทหารในปี 2535 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ขนาดใหญ่ ไม่ใช่การแพ้เลือกตั้ง แต่เป็นการแพ้การประท้วงของประชาชน

และพรรคสามัคคีธรรมจบลงด้วยความล้มเหลวของผู้นำทหาร

จนเชื่อว่ายุคของพรรคทหารสิ้นสุดแล้ว แต่ในปี 2562 พรรคทหารในนาม “พลังประชารัฐ” ก็ฟื้นขึ้นอีกครั้ง

ข้อพิจารณาอนาคต

บทเรียนจากข้างต้นชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พรรคทหารสามารถชนะการเลือกตั้งได้

แต่ก็เป็นการชนะภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลทหารเดิม

ถ้ารัฐบาลในช่วงเลือกตั้งไม่ใช่คณะรัฐประหารที่คุมอำนาจทางการเมืองแล้ว ผลการเลือกตั้งจะเป็นไปในทิศทางเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาจากมุมมองเช่นนี้อาจทำให้เราตั้งข้อสังเกต (หรือเป็นสมมติฐานทางทฤษฎีรัฐศาสตร์) ได้ว่า ความเป็นรัฐบาลทหารเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างสำคัญต่อผลการเลือกตั้งที่มีส่วนทำให้กลุ่มผู้นำรัฐประหารเดิมเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง

แต่ก็มีผลแย้งจากตัวแบบของการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมา พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยออง ซาน ซูจี สามารถชนะการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร หรือในอีกด้านเราเห็นความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งของรัฐบาลพรรคเดียวที่มีความเข้มแข็งอย่างยาวนานในกรณีของพรรคอัมโนในมาเลเซีย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเลือกตั้งไทยในปี 2562 จึงเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่งว่าจะย้อนรอยเดิมที่พรรคทหารชนะเลือกตั้ง เพราะมีรัฐทหารเป็น “ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่” เช่น ในปี 2500 หรือปี 2511 ได้หรือไม่

หรือจะจบแบบปี 2535

และน่ากังวลว่าพรรคพลังประชารัฐคือการ “ฟื้นจิตวิญญาณ” ของพรรคทหารอย่างน่าสนใจ

แต่อย่างน้อยประวัติศาสตร์ในอีกมุมก็ชี้ให้เห็นว่า พรรคทหารชนะได้ แต่ก็บริหารไม่ได้ และมักจบลงด้วยความล้มเหลวเสมอ!