บทวิเคราะห์ : “เศรษฐกิจไทยปี 2562” หัวเลี้ยวหัวต่อสู่อันตรายระยะยาว

วันที่เผยแพร่ 17 มกราคม 2562

*ผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชน นักวิชาการและอดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์

 

การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยปีถัดไปในช่วงก่อนหรือหลังสิ้นปีเป็นเรื่องปกติ ซึ่งนักวิเคราะห์มักระบุเป็นตัวเลขอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เช่น โต 4% ในปี 2562  เป็นต้น  แต่โดยข้อเท็จจริง ปี 2562 เป็นปีที่มีความเสี่ยงสูงมากทั้งจากเศรษฐกิจโลก และจากปัจจัยภายในประเทศซึ่งแตกต่างจากปีก่อนหน้า

ความเสี่ยงซึ่งทำให้ปี 2562 ปีกลายเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ จะมีผลในระยะยาวต่อภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ  ส่วนผลจะเป็นบวกหรือลบนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลของแต่ละประเทศ

ข้อเขียนนี้มีวัตถุประสงค์ในการอธิบายประเด็นของความเสี่ยงดังกล่าวและแนวโน้มผลกระทบที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ในปี 2562 และในระยะยาวหลังจากปี 2562

 

ความเสี่ยงแรกที่มาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเศรษฐกิจโลก มี 3 ประเด็นหลักได้แก่

1.ธนาคารชาติประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่มักจะเรียกกันสั้นๆว่า “เฟด” เปลี่ยนนโยบายการเงินจากการลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เป็นการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

นับแต่เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2550 – 2551 ที่รู้จักกันในนามของวิกฤตซับไพร์ม เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 10 ปีเพื่อประคองมิให้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งแม้ได้ผลอย่างที่ตั้งใจ  การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้เกิดสภาพคล่อง (ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐ) ท่วมเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลก จนก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกาตลอดจนประเทศต่างๆทั่วโลก

สภาวะเช่นนี้ หากปล่อยไปในระยะยาว อาจทำให้ฟองสบู่แตกและเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั้งในสหรัฐอเมริกาและในระดับโลกขึ้นได้ เฟดจึงต้องประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เมื่อเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเข้มแข็งพอที่จะรองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

ผลที่เกิดขึ้นก็กลับกับเหตุการณ์ในอดีต กล่าวคือสภาพคล่องลดลงทั้งในสหรัฐอเมริกาและในเศรษฐกิจโลก  ราคาของอสังหาริมทรัพย์และหุ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและในตลาดโลกก็ปรับตัวลดลงตามสภาพคล่องที่ลดลง

กล่าวเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพคือ ในช่วงของการลดอัตราดอกเบี้ยและทำให้เกิดสภาพคล่องท่วมตลาดโลกนั้น เสมือนกับการสูบลมเข้าไปในลูกโป่ง หากสูบลมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งลูกโป่งก็จะแตก เฟดซึ่งเป็นผู้สูบลมเข้าลูกโป่งเศรษฐกิจโลก พอคาดเดาเหตุการณ์ดังกล่าวได้ จึงเริ่มสูบลมออกจากลูกโป่งเศรษฐกิจโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเกิดผลลบไม่มากก็น้อยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาลง แต่นั่นก็ยังดีกว่าวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก

ในกรณีของประเทศไทย ก็ไม่มีข้อยกเว้น ย่อมได้รับผลของการสูบลมออกจากลูกโป่งเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน และเป็นที่คาดการณ์ว่า เฟดยังคงจะสูบลมออกจากลูกโป่งเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต่อไปในปี 2562

 

  1. สงครามกีดกันการค้าและการลงทุนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้กับประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

นับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้เติบใหญ่อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายของนานาชาติ จนกลายเป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจอันดับสองรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา  ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจึงมีนโยบายกีดกันทางการค้าและการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงประเทศคู่ค้า

ในกรณีนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องตอบโต้การกีดกันทางการค้าและการลงทุนของสหรัฐอเมริกา จนทำให้เกิดเป็นสงครามทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

ผลที่ตามมาก็คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกจะไม่เติบโตเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับสภาวะที่มีการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  และหากมีการดำเนินการนโยบายนี้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว (ซึ่งปี 2562 ยังไม่เข้าข่าย) ก็มีโอกาสที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะซบเซาและตกต่ำได้ในที่สุด

เช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น  ในกรณีของประเทศไทย ก็ไม่มีข้อยกเว้น ย่อมได้รับผลกระทบในทางลบจากการชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเช่นเดียวกัน แม้ว่าอาจได้รับผลกระทบทางบวกบ้าง จากการที่ทั้งสหรัฐอเมริกาและ สาธารณรัฐประชาชนจีนต่างหันมาพึ่งการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นซึ่งรวมทั้งประเทศไทย  แต่ผลกระทบทางด้านบวกดังกล่าวน่าจะน้อยกว่าผลกระทบทางด้านลบที่เกิดจากสงครามการค้าของสองมหาอำนาจครั้งนี้

เป็นที่คาดการณ์ว่าสงครามกีดกันทางการค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2562 เป็นอย่างน้อย

 

  1. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอัตราเร่งแทบทุกด้าน

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ และเขียนหลายบทความเกี่ยวกับอนาคตสถานการณ์เทคโนโลยีดิจิทัลในปี 2562 ว่า จะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และจะมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 เทคโนโลยีต่อไปนี้ (1) ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (2) Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) เทคโนโลยีโลกเสมือนที่ก้าวสู่ความเป็นจริง (3) บล็อกเชน (Blockchain) (4) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robots & Automation) และ (5) เทคโนโลยีสื่อสารเคลื่อนที่ 5G (Mobile 5G)

ทั้ง 5 เทคโนโลยีที่พ.อ.ดร.เศรษฐพงษ์กล่าวถึง จะมีผลทำลายล้างวิธีทำธุรกิจและการจ้างงานแบบเก่าจำนวนมาก แต่ก็จะสร้างโอกาสในธุรกิจและการจ้างงานใหม่ๆเพิ่มขึ้นมหาศาลเช่นเดียวกัน รวมทั้งมีผลเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องในด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจภาพรวม ด้านสังคม รวมทั้งด้านวัฒนธรรม การใช้ชีวิตประจำวัน

เรื่องเทคโนโลยีนี้ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศคือสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เห็นความสำคัญว่าจะมีผลต่อการเป็นมหาอำนาจในอนาคต  จึงเร่งแข่งขันวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีจนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งสำคัญในแวดวงการเมืองระดับโลก

ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กลงมา ก็เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีเช่นกันว่าจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของตนในตลาดโลก รัฐบาลไทยเองก็ตื่นตัว ประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0  แต่ประเด็นสำคัญ ไม่ได้อยู่ที่การประกาศนโยบาย  หากอยู่ที่ว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อดำรงความสามารถในการแข่งขันของตนในตลาดโลกได้หรือไม่ เพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

พื้นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีของแต่ละประเทศอยู่ที่ระบบการศึกษาในประเทศนั้นว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกหรือไม่  ในกรณีของประเทศไทย ดูเสมือนว่าระบบการศึกษาโดยรวมของประเทศไทยยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีของโลกได้

 

ความเสี่ยงถัดมา เกิดจากปัจจัยภายในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะลดหรือเพิ่มความเสี่ยง มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562

โดยปกติ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในประเทศไทย เงินจะสะพัดและทำให้เศรษฐกิจไทยในระยะสั้นมีอัตราการเจริญเติบโตสูงขึ้น หากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 เป็นเช่นดังในอดีต ก็คาดการณ์ได้ว่า ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะกระเตื้องขึ้น แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ที่สำคัญคือระยะปานกลางและระยะยาว

หากได้รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งที่มีเสถียรภาพและมีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านนโยบายทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  ด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ก็น่าจะสามารถโต้คลื่นลมและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโลกดังกล่าวในขั้นต้นได้

ในทางตรงกันข้าม หากได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพหรือไม่มีวิสัยทัศน์หรือทั้งสองอย่าง  เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะซบเซาในระยะปานกลางและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

 

  1. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ

ตลอดระยะเวลานานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบคมนาคมและระบบโทรคมนาคม ซึ่งมีส่วนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลำดับลงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

จากประสบการณ์ในอดีต การ เลือกตั้งทั่วไป มีผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่มากก็น้อย จึงคาดเดาได้ว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง น่าจะสะดุดหรือชะลอกว่าแผนที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2562 เติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศไทยได้

หากสรุปความเสี่ยงที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยในปี 2562 ต้องฝ่าคลื่นลม ซึ่งอาจถึงระดับพายุในบางช่วง อันเนื่องมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และ สงครามการค้าและการลงทุนระหว่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยที่อาจได้รับผลบวกจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปยังประเทศมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจทั้งสอง และผลบวกในระยะสั้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป

แต่ภาพรวมทั้งปี 2562 นั้น อาจกล่าวได้ว่า ผลลบจากคลื่นลมในต่างประเทศน่าจะมีมากกว่าผลบวก และหากเป็นเช่นนั้นจริง อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2562 น่าจะต่ำกว่าอัตราความเจริญเติบโตในปี 2561  แต่จะเป็นเท่าใดคงไม่ค่อยสำคัญแล้ว เพราะที่สำคัญมากกว่าคือความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศไทย ซึ่งหากประเทศไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยีของโลกรวมทั้งยังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ช้ากว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยย่อมลดลงในตลาดโลก และจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลงในระยะยาว

ขอฝากประเด็นสุดท้ายนี้ไว้กับรัฐบาลหลังการเลือกตั้งทั่วไป