เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : พระที่บังใจอยู่

จากเรื่อง “พุทธทาสพุทธธรรม” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2002 นั้น มีผิดฉกรรจ์ตรงข้อความว่า

“นี่แหละ พระพุทธรูปบ้าง พระพุทธเจ้า บาลีใบลานบ้าง พระธรรม ผ้าเหลืองบ้าง พระสงฆ์…ฯ”

ที่ถูกต้องเป็นดังนี้คือ

“นี่แหละ พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า บาลีใบลานบังพระธรรม ผ้าเหลืองบังพระสงฆ์…ฯ”

“บัง” ครับ ไม่ใช่ “บ้าง”

ต้องขออภัยเพราะเป็นต้นฉบับลายมืออาจทำให้อ่านไขว้เขวไปได้

ประโยคนี้เป็นประเด็นสำคัญของหนังสือเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แทบจะเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้เอาเลยทีเดียวก็ว่าได้

คือ “รูป” ที่ “บังนาม” อยู่ พระที่บังใจอยู่

อันทำให้เราไหว้พระไม่ถูกพระ รู้ธรรมแต่เข้าไม่ถึงธรรม ไหว้พระพุทธรูปแต่ไม่เคยเข้าใจความเป็น “พุทธ” ที่แท้ ฟังธรรม อ่านธรรม แต่ไม่เคยเข้าใจความหมายของ “ธรรมะ” ที่แท้ ไหว้พระสงฆ์ตรงผ้าเหลืองเครื่องไตรจีวร ส่วนความเป็นองค์แห่งสงฆ์หรือความเป็นภิกขุที่แท้หาได้เข้าใจไม่

ส่วนความที่ว่า

“ไม่มีภูเขาอะไรอื่นนอกไปจากภูเขาแห่งความยึดมั่น..ฯ”

นั่นเขียนขึ้นจากความจำ ซึ่งใจความไม่ผิดไปจากข้อความในหนังสือ ซึ่งกล่าวไว้ว่า

“ไม่มีภูเขาอะไรอื่นนอกไปจากความยึดถือเกี่ยวกับตัวตน และไม่มีความยึดถือเกี่ยวกับตัวตนอะไรอื่น ยิ่งไปกว่าความยึดถือในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน…ฯ”

ความต่อไปนี้สำคัญนัก คือความต่อจากย่อหน้าข้างต้นดังนี้

“…ซึ่งสำหรับพุทธบริษัทก็ไม่มีอะไรอื่นยิ่งไปกว่า “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขา” เขายังมีพระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขาอยู่เพียงใด ก็แปลว่าเขายังมีความยึดถืออยู่เพียงนั้น”

“พระพุทธเจ้าตามทัศนะของเขา” นี้ท่านอาจารย์ได้ปูพื้นมาแต่ต้น เช่นว่า พระพุทธเจ้าของเด็ก

“สำหรับเด็กเล็กๆ ถ้าถามว่า อะไรเป็นพระพุทธเจ้า ก็จะมีความรู้สึกในตัววัตถุบางอย่าง เช่น พระพุทธรูปในโบสถ์ เป็นต้น ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจเป็นตุ๊กตาชนิดหนึ่งก็ได้ ทำด้วยอิฐด้วยปูน หรือทองเหลืองทองคำก็ได้ เด็กที่เล็กที่สุดมีความรู้สึกว่านั่นเป็นพระพุทธเจ้าของเขา จะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ไม่ได้ แต่เราก็ยกเว้น เป็นการให้อภัยเด็ก

“ทีนี้มาถึงคนโตๆ เป็นผู้ใหญ่แล้ว กระทั่งคนเฒ่าคนแก่ ซึ่งมีการกล่าว พุทธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ อยู่ทุกๆ คราวที่มีการรับศีลฟังธรรมเทศนา ซึ่งกว่าจะตายก็นับได้ร้อยครั้งพันครั้ง

ในปัญหาเดียวกันที่ว่า อะไรเป็นพระพุทธเจ้าของเขา เราก็ยังกล้ากล่าวได้อีกเหมือนกันว่า ไม่มีเหมือนกันทุกคน ต่างคนหรือต่างพวกล้วนแต่มีพระพุทธเจ้าของตัว ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง

“คนที่เข้าถึงพระพุทธเจ้าแต่ในทางวัตถุ ไม่สูงถึงทางจิตก็ย่อมจะมีความรู้สึกของตัวเอง ถึงสมัยเมื่อสองพันปีกว่ามาแล้วว่ามีเลือดเนื้อกลุ่มหนึ่ง เดินท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนอยู่ในประเทศอินเดีย และนั่นคือองค์พระพุทธเจ้าแท้ๆ ซึ่งข้อนี้จะดีไปกว่าที่จะเห็นเป็นทองเหลืองหรือทองคำที่เขาหล่อเป็นพระพุทธรูปเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

“ถ้าว่ากันโดยความจริงในด้านวัตถุแล้ว สำหรับเลือดเนื้อกลุ่มนั้นจะเป็นพระพุทธเจ้ามากไปกว่าในก้อนทองเหลืองทองแดงไปไม่ได้เลย มิหนำซ้ำ พระองค์เองก็ยังทรงปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่ตถาคต คนที่ไม่เห็นธรรม หรือที่เรียกว่าพุทธธรรม ในที่นี้คือคนที่ไม่เห็นตถาคต

“แม้เขาจะคอยจับมุมจีวรของเราดึงเอาไว้ ไปทางไหนไปด้วยกัน ทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าไม่เห็นธรรมะแล้ว ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย”

“พระองค์ทรงปฏิเสธไว้อย่างนี้ ซึ่งเรากล่าวได้ว่า เป็นการตะครุบเอาพระพุทธเจ้าผิดเข้าอีกครั้งหนึ่ง และควรได้รับอภัยทำนองเดียวกับเด็กเล็กๆ ข้างต้นนั้นเหมือนกัน”

“เมื่อได้ปฏิเสธพระพุทธเจ้าโดยพระพุทธรูป โดยวัตถุหรือร่างกายของพระองค์เสียแล้ว ก็ยังเหลืออยู่แต่ทางจิตใจ หรือทางนามธรรมโดยวงกว้าง ซึ่งเป็นการควานหาได้โดยยากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดก็มีช่องทางมากขึ้นตามส่วน และยิ่งเป็นช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดมีการคว้าองค์พระพุทธเจ้าเอามาในลักษณะที่แตกต่างกันอย่างวิตถารพิสดาร เหลือที่จะคาดหมาย จึงเกิดเป็นการยึดถือเอาตามความรู้ ตามการศึกษาและศรัทธาของตนเอง

“เป็นพระพุทธเจ้าอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นดวงลอยโชติช่วงก็มี เป็นสายก็มี เป็นสีอย่างนั้น เป็นสีอย่างนี้ สามารถจะอัญเชิญให้ลอยมาที่นั่นที่นี่ก็ได้ อ้อนวอนให้ทำกิจบางอย่าง หรือพาไปที่นั่นที่นี่ก็ได้ ถึงกับจัดตั้งอาหารคาวหวานไว้ส่วนหนึ่งสำหรับพระพุทธเจ้าที่เขาเชิญมามีมากมายหลายแบบจนเหลือที่จะนำมากล่าวให้หมดสิ้นได้

รวมความว่า เขายึดเอาสิ่งนั้นเป็นองค์พระพุทธเจ้าของเขา

“ที่สูงไปกว่านั้นก็ยึดถือว่า พระพุทธเจ้าคือตัวอัตตาที่บริสุทธิ์ ไม่เกิดไม่ตาย มีอยู่ในที่ทุกแห่ง พร้อมที่จะปรากฏทุกเมื่อ ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่าวิถีแห่งพุทธธรรมของเขามาสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้”

วิถีแห่งพุทธธรรมที่อาจารย์พุทธทาสยกมาว่า สิ้นสุดเพียงเท่านี้เท่านั้น ก็เพราะ “ได้เผชิญกันอยู่กับภูเขาแห่งความยึดถือลูกนั้น”

นี้จึงว่า “พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า”

โดยนัยเดียวกันนี้เองที่บาลีใบลานบังพระธรรม และผ้าเหลืองบังพระสงฆ์

จริงหรือไม่ก็ลองคิดดู มองไปรอบๆ ก็จะเห็นความยึดถือทำนองนี้ แบบนี้เต็มไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง

อันมีตั้งแต่การสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์โต แบบอวดว่า “ที่สุดในโลก” ไปจนถึงแบบที่เชื่อในพระพุทธเจ้าองค์น้อยที่เรียก “ลิตเติลบุ๊ดด้า” ตั้งแบบตั้งพิธีนับถือกันอยู่นั้น

เหล่านี้แหละเป็นเครื่อง “บัง” ทั้งสิ้น

คือบังความเป็นพุทธที่แท้อันเป็นนามธรรม ซึ่งก็คือสภาวะจิตที่ปราศจากความติดยึดหรือยึดถือในทางที่เป็นตัวตนนั่นเอง

โดยศัพท์คำ “พุทธะ” แปลว่า รู้ตื่น เบิกบาน

ตรงข้ามกับคำว่า “ไสยะ” แปลว่า หลับ หลง ดำมืด

สภาวะจิตที่รู้แจ้งไม่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งเร้าใดๆ และสว่างใสเบิกบานอยู่ด้วยสติปัญญานี่แหละคือพุทธิจิต

คำพุทธเจ้า จึงหมายถึง “ผู้รู้” และธรรมชาติรู้อย่างนี้มีอยู่แล้วในสรรพสัตว์

พุทธคือรู้ เจ้าคือผู้รู้ พุทธเจ้าจึงแปลว่า “ผู้รู้”

เพิกถอนความยึดถือที่เป็นตัวตนเสียได้ก็จะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็นวิถีพุทธธรรม ความยึดมั่นถือมั่นจึงเป็นเสมือนภูเขาขวางกั้นอัน “บัง” สัจธรรมอยู่ สัจธรรมนี้แหละคือ

พุทธิภาวะที่ทำให้เป็นพุทธเจ้า