จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (16)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สำนักหญูหลังขงจื่อ : เมิ่งจื่อกับสวินจื่อ (ต่อ)

ที่น่าสนใจก็คือว่า เหตุที่ชื่อถูกทำให้สับสนดังกล่าว สวินจื่อเห็นว่า “…ด้วยไร้อริยกษัตริย์ปกครองรัฐ หากแม้นมีอริยกษัตริย์จักใช้คุณธรรมที่แท้เข้าโน้มนำ ประกาศใช้ราชโองการ ทำวาจาให้กระจ่าง มีกฎหมายมาระงับยับยั้ง เพื่อให้ราษฎรอยู่ในวิถีที่ชอบธรรม แต่มาบัดนี้ อริยกษัตริย์สิ้นสูญ ใต้หล้าจึงวิกฤต…”

ความน่าสนใจของข้อความนี้มิได้อยู่ที่สวินจื่อเห็นสภาพรัฐจีนในยุครัฐศึกที่วุ่นวาย

หากอยู่ตรงความเชื่อของเขาที่เห็นถึงความสำคัญของผู้นำที่มีคุณธรรมและความสามารถ แล้วใช้อำนาจบารมีของตนเข้ากำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พึงประสงค์ เพื่อให้สังคมอยู่ในระเบียบแบบแผนเดียวกัน

ตรงนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงนัยในทางนิตินิยมที่แฝงอยู่ในหลักคิดของเขา

เป็นไปได้หรือไม่ว่า หลักคิดนี้ที่อาจเป็นแรงจูงใจให้หลี่ซือและหานเฟยละทิ้งหลักคิดของขงจื่อ แล้วหันไปสมาทานหลักคิดนิตินิยมในเวลาต่อมา

จากชีวิตและปรัชญาของสวินจื่อจากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า แม้สวินจื่อจะเป็นสาวกสำนักหญูในชั้นหลัง แต่นักจีนศึกษาปัจจุบันก็เห็นพ้องต้องกันว่า สวินจื่อเป็นนักปรัชญาคนแรกที่ยกฐานะทางปรัชญาให้มีความเป็นวิชาการ (academic) ขึ้นมา

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากที่เขาได้ทำการสำรวจตรวจสอบผู้นำทางความคิดที่เขารู้จัก และอยู่ในยุคสมัยเดียวกับเขาอย่างระมัดระวัง แล้วนำเสนอเป็นข้อวิเคราะห์ออกมา

จากนั้นก็ใช้ประโยชน์หรือวิจารณ์หลักคิดเหล่านั้น (แม้จะมิได้เอ่ยชื่อนักคิดเหล่านั้นก็ตาม) โดยเฉพาะกับศิษยานุศิษย์ของเขาที่ได้รับอิทธิพลจากนักคิดเหล่านั้นในสถาบันจี้เซี่ย

จากเหตุนี้ หากไม่นับหลักคำสอนของเขาที่แสดงผ่าน สวินจื่อ แล้ว สิ่งที่ทำให้สวินจื่อคงเกียรติภูมิมาจนทุกวันนี้ก็คือฐานะที่ว่านี้เอง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดแต่โดยสังเขปนี้ พึงกล่าวด้วยว่า นอกจากเมิ่งจื่อกับสวินจื่อดังที่ได้ยกมาแล้ว สำนักหญูก็ยังมีสาวกที่มีชื่อเสียงในยุคหลังขงจื่ออีกจำนวนหนึ่ง

สาวกเหล่านี้ต่างมีผลงานที่ได้รับการกล่าวขานในชั้นหลังด้วยเช่นกัน ชั่วอยู่แต่ว่ามิได้โดดเด่นเท่าบุคคลทั้งสองตามที่ยกมากล่าวถึง แต่นั่นคงมิใช่ประเด็นในที่นี้ ที่ต้องการเพียงฉายให้เห็นภาพรวมปรัชญาที่สำนักนี้สร้างสรรค์ขึ้นมาเท่านั้น

ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ตรงคำถามที่ว่า เหตุใดปรัชญาสำนักหญูจึงได้รับการยอมรับหรือกล่าวขานมากกว่าสำนักอื่น

คำถามนี้คงตอบได้ไม่ยากหากจะพิจารณาจากที่กล่าวถึงหลักคิดของสำนักนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะในประเด็นทางจริยธรรมและคุณธรรมที่สำนักนี้ให้ความสำคัญ เคียงคู่ไปกับประเด็นทางการเมืองที่เป็นเรื่องทางโลก ที่ซึ่งหากจัดวางความสัมพันธ์ได้ไม่ดีแล้ว หลักคิดของสำนักนี้คงสับสนไม่น้อย

แต่ความจริงก็คือว่า สำนักนี้กลับทำได้อย่างลงตัว หาไม่แล้วคงมิได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ในยุคสมัยที่หลักปรัชญาที่สำนักนี้นำเสนอจะมิได้รับการยอมรับจากผู้นำในขณะนั้นก็ตามที

สำนักเต้าหลังเหลาจื่อ : จวงจื่อ

ปรัชญาสำนักเต้าหลังเหลาจื่อก็ไม่ต่างกับที่สำนักหญูเป็น นั่นคือ เมื่อพ้นจากยุควสันตสารทเข้ายุครัฐศึกแล้ว สำนักนี้ก็หนีไม่พ้นสถานการณ์วิกฤตที่รายล้อมตน จะมีก็แต่เพียงหลักคิดเท่านั้นที่ดูเหมือนจะหนีพ้นไปได้

เพราะเป็นหลักคิดที่นำเสนอการปลีกวิเวกของบุคคล ทั้งเพื่อลี้หลีกจากวิกฤตของบ้านเมือง หรือเพื่อแสวงหาวิถีธรรมอันเป็นวิมุติสุขในเชิงปัจเจก

และที่ไม่ต่างกับสำนักหญูอีกประการหนึ่งก็คือ แม้สำนักเต้าจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าสำนักหญู แต่สำนักเต้าก็มีสาวกในชั้นหลังเหลาจื่ออยู่ไม่น้อยเช่นกัน

แน่นอนว่า ในบรรดานี้ย่อมต้องมีสาวกที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สำนักด้วยเช่นกัน

แต่จะด้วยเป็นสำนักที่ปลีกวิเวกจากโลกภายนอกหรือไม่ก็ตามที แม้เราจะรู้จักผลงานที่สาวกรุ่นหลังเหลาจื่อได้สร้างสรรค์ขึ้นมา แต่เรากลับมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับประวัติของสาวกเหล่านี้

และบุคคลหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันมากก็คือ จวงจื่อ

ถึงกระนั้น ก็เป็นไปโดยมีข้อมูลที่จำกัดอย่างยิ่งในด้านประวัติส่วนตัว และภายใต้ข้อจำกัดที่ว่านี้ยังได้ส่งผลมายังสาวกอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงเช่นกัน (แม้จะน้อยกว่าจวงจื่อ)

นั่นคือ เลี่ยจื่อ

กรณีของเลี่ยจื่อนี้มีปัญหาอยู่ไม่น้อยในแง่ตัวตน เพราะแม้จะมีปกรณ์ เลี่ยจื่อ ปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานก็ตาม แต่ครั้นมาถึงประวัติส่วนตัวแล้วกลับไร้หลักฐานรองรับเพียงพอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ผลกระทบจึงเกิดแก่ตัวปกรณ์ไปด้วย

จากปัญหานี้ทำให้เราทราบแต่เพียงว่า เลี่ยจื่อเป็นคำที่ใช้เรียกยกย่องความเป็นปราชญ์ของบุคคลที่มีนามว่า เลี่ยอี้ว์โค่ว ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุครัฐศึก

แต่ก็มีผู้ที่ไม่เชื่อถึงความมีตัวตนของปราชญ์ผู้นี้ ถึงแม้ชื่อของเขาจะถูกเอ่ยอ้างอยู่บ่อยครั้งในเอกสารโบราณก็ตาม

โดยเฉพาะในปกรณ์ จวงจื่อ ได้อุทิศให้บทหนึ่งเป็นชื่อของเขาว่า “เลี่ยอี้ว์โค่ว” แต่ครั้นศึกษาตัวบทแล้วก็พบว่า ในส่วนที่เป็นเรื่องราวของเลี่ยอี้ว์โค่วหรือเลี่ยจื่อกลับมีเนื้อหาราว 1 ใน 10 เท่านั้น ที่เหลือนอกนั้นเป็นเรื่องราวของจวงจื่อและบุคคลอื่น ในเมื่อประวัติมีปัญหาเช่นนี้จึงย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะส่งผลกระทบมาถึงตัวปกรณ์ เลี่ยจื่อ ไปด้วย

กล่าวคือ เลี่ยจื่อ ที่เป็นปกรณ์อันตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้นั้น เป็นฉบับที่ปราชญ์ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (317-420) ได้รวบรวมและจัดทำเชิงอรรถเอาไว้

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการจีนจึงจัดให้ปกรณ์นี้เป็นปกรณ์สมัยหลังที่มิอาจสะท้อนต้นธารปรัชญาเต้าได้ ที่อย่างไรเสียก็หลีกลี้ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนสมัยราชวงศ์จิ้นที่แฝงอยู่ในปกรณ์ไปไม่ได้

ทั้งนี้ ยังมินับร่องรอยของหลักคำสอนในศาสนาพุทธที่ปรากฏในปกรณ์อีกด้วย ซึ่งเวลานั้นศาสนาพุทธกำลังมีอิทธิพลอยู่ในจีน

จากปัญหาที่กล่าวมานี้ทำให้งานศึกษาในที่นี้จำต้องละที่จะกล่าวถึงเลี่ยจื่อในฐานะนักปรัชญาในยุคที่เรียกกันว่า “ร้อยสำนักเปล่งภูมิ” และ เลี่ยจื่อ ในฐานะปกรณ์ที่แม้จะมีคุณค่าในทางปรัชญา แต่กลับมีปัญหาลักลั่นในแง่ยุคสมัยหรือกาลเวลา

ดังนั้น การศึกษาในหัวข้อนี้จึงเป็นไปเฉพาะกรณีของจวงจื่อเท่านั้น

จากข้อมูลที่จำกัด ประวัติจวงจื่อมีปรากฏอยู่ใน สื่อจี้ แต่เพียงสั้นๆว่า จวงจื่อ (ประมาณ 369-286 ปีก่อน ค.ศ.) มีชื่อตัวว่า โจว เกิดที่เมืองเหมิ่ง ซึ่งมิอาจระบุได้แน่ชัดว่าปัจจุบันคือเมืองใด แต่เป็นไปได้ว่าน่าจะอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำฮว๋างในมณฑลเหอหนาน

เขาเคยรับราชการในฐานะเจ้าพนักงานในสวนต้นรักในเมืองเหมิ่ง หน้าที่การงานนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า “สวนต้นรัก” นั้นคือชื่อสถานที่หรือเป็นชื่อป่าที่เต็มไปด้วยต้นรักจริงๆ

แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันก็คือ จวงจื่อเป็นบุคคลร่วมสมัยเดียวกับเมิ่งจื่อ

จากประวัติที่มีเพียงเล็กน้อยดังกล่าว ปมสำคัญกลับคือเมืองเหมิ่งที่เป็นบ้านเกิดของจวงจื่อ ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงก็แสดงว่าจวงจื่อเป็นชาวรัฐซ่ง ที่น่าสนใจก็เพราะรัฐซ่งคือดินแดนที่ราชวงศ์โจวได้มอบให้แก่วงศานุวงศ์และราษฎรซาง ภายหลังที่ราชวงศ์โจวโค่นล้มราชวงศ์ซางได้สำเร็จ เพื่อที่ชาวซางได้มีที่ทางที่จะสืบทอดพิธีสักการะบรรพชนที่เรืองนามของตนต่อไป

จากเหตุนี้ ชาวซางที่อาศัยอยู่ในรัฐซ่งจึงสามารถดำรงรักษาวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้ แต่ด้วยภูมิหลังนี้เช่นกันที่ทำให้รัฐซ่งมิใช่รัฐที่เข้มแข็ง และยิ่งในยุครัฐศึกด้วยแล้วรัฐนี้มักจะถูกรุกรานแย่งยึดจากรัฐทรงอิทธิพลอื่นๆ อยู่เสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวรัฐซ่งจึงมักถูกดูหมิ่นถิ่นแคลนจากรัฐทรงอิทธิพลที่มีเชื้อสายราชวงศ์โจว ดังจะเห็นได้จากวรรณกรรมปลายสมัยราชวงศ์โจวที่ให้ภาพลักษณ์ “ราษฎรแห่งซ่ง” ว่าเป็นดังพวกบ้านป่าเมืองเถื่อนที่โง่เง่าเต่าตุ่น

สภาพเช่นนี้ย่อมนำมาซึ่งความหดหู่สิ้นหวังแก่ชาวซางในฐานะราษฎรของรัฐซ่ง

และย่อมสะท้อนให้เห็นถึงภูมิหลังทางความคิดของจวงจื่อไปด้วย

คือเป็นความคิดที่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามและไม่ผูกพันยึดติดกับเรื่องราวทางโลก

แต่ด้วยเหตุที่ข้อมูลเกี่ยวกับจวงจื่อมีน้อยมาก ผู้วิเคราะห์จึงออกตัวว่า อาจเป็นการดีกว่าที่จะไม่พยายามอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อหาเหตุเชื่อมโยงภูมิหลังของจวงจื่อกับปรัชญาของเขา ซึ่งแม้จะออกตัวเช่นนั้น แต่ข้อวิเคราะห์นี้ก็มีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัว

โดยเฉพาะในประเด็นแรงจูงใจที่ทำให้จวงจื่อเลือกที่จะสมาทานสำนักเต้า