เปิดอก “อิทธิพร” ประธาน กกต. อยากให้ “การเลือกตั้ง” ถอดชนวนวิกฤตการเมือง

เนื่องเพราะวันเลือกตั้งที่ยังไม่ลงล็อกตายตัวเพราะมีสารพัดเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้อง

ซ้ำยังมีประเด็นปัญหาวันประกาศผลเลือกตั้ง 60 วันของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศให้ “แล้วเสร็จ” รวมอยู่ใน 150 วัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งมีเส้นตาย 9 พฤษภาคม 2562 ด้วยหรือไม่

เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ยังเป็น “ปริศนา” ไม่มีคำตอบ มีแต่คำยืนยันจากปากของชาติชาย ณ เชียงใหม่ – อุดม รัฐอมฤต บุคคลที่ทำหน้าที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าการประกาศผล 60 วัน แยกออกมาต่างหากกับ 150 วัน กกต.จะประกาศผลหลัง 9 พฤษภาคม 2562 ก็ได้…ไม่มีปัญหา

แต่ทั้งหมดอาจจะต้อง “ตีความ” ใหม่ เมื่อถึงศาลรัฐธรรมนูญ

กลายเป็นเผือกร้อนรับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ทั้ง 7 คน ที่ประกอบด้วย อิทธิพร บุญประคอง เป็นประธาน – สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ – ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย – ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี – ปกรณ์ มหรรณพ – เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ และฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ที่จะต้องรับภาระจัดการเลือกตั้ง

ท่ามกลาง “ภาพหลอน” การเลือกตั้งเคยเป็นโมฆะมาแล้ว 2 ครั้ง

 

“อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. ตอบปัญหาการประกาศผลเลือกตั้งว่า จะทำให้อยู่ในกรอบ 60 วัน และคำนึงถึงเรื่องการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน

“เมื่อถึงเวลาที่เราต้องกำหนดวันเลือกตั้ง เรื่องของการประกาศผลจะเป็นประเด็นที่เราจะหยิบมาพิจารณาอีกครั้ง”

กลายเป็นที่มาของ “ข่าวใต้ดิน” ว่า กกต. “ปักหมุด” วันเลือกตั้งใหม่แล้วเป็นวันที่ 10 มีนาคม เพราะการประกาศผลเลือกตั้ง 60 วัน จะอยู่บน “เส้นตาย” 9 พฤษภาคม พอดิบพอดี เพื่อไม่ให้เสี่ยงทำให้เลือกตั้งกลายเป็นโมฆะในอนาคต จน กกต.ต้องถูกฟ้องทั้งแพ่ง-อาญา

“อิทธิพร” สารภาพบอกความในใจ หลังรับภาระจัดการเลือกตั้งสุดหิน ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหารว่า อยากให้การเลือกตั้งครั้งที่จะถึง เป็น “จุดเปลี่ยน” ที่จะถอดชนวนวิกฤตการเมือง

“อยากให้เปลี่ยนได้ นี่เป็นจุดเปลี่ยนของเวลาที่จะกลับเข้ามาสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเรายอมรับกติกาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ดำเนินการทุกอย่างตามกรอบรัฐธรรมนูญก็น่าจะไปได้

“โดยใช้รากฐานของการมีรัฐบาล รัฐสภา ออกกฎหมาย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เลือกรัฐบาลใหม่ ก็จะกลับมาสู่วิถีทางประชาธิปไตยเหมือนเดิม

“ทำอย่างไรที่จะรักษาวิถีประชาธิปไตย เป็นจุดเปลี่ยนที่จะกลับไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเดิมมาก เป็นโอกาสที่ดีมาก”

 

แม้ว่าซีกพรรคการเมืองปักใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สุดแล้วจะเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทว่า ประธาน กกต.มองในมุมบวกที่ “ระบอบรัฐสภา” จะล้าง “ระบอบ คสช.”

“ที่มีคณะบุคคล (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศเพื่อความจำเป็น เพราะความขัดแย้งในสังคมอย่างที่เห็น ไม่ต้องปฏิเสธว่าขณะนั้นบ้านเมืองเป็นอย่างไร จนถึงขณะนี้ กำลังเป็นช่วงที่การเมืองก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จะเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ ผลสุดท้ายในเมื่อเป็นระบอบรัฐสภาอยู่แล้ว จะไม่มีองค์กรดังเช่น คสช.เหลืออยู่ หากมีการตั้งรัฐบาลแล้ว คสช.ก็จะหมดหน้าที่ไป การสืบทอดอำนาจจะมีหรือไม่มี จะเป็นไปได้หรือไม่ จะเป็นจริงหรือไม่ ผลสุดท้ายทุกอย่างอยู่ภายใต้การตรวจสอบของการปกครองระบอบรัฐสภา เป็นระบบปกติอีกครั้ง”

และสิ่งที่ “อิทธิพร” อยากให้สังคมมีภาพจำกับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ…

“การเลือกตั้งครั้งนี้ถ้าประชาชนออกมาเลือกตั้งจะช่วยให้การเลือกตั้งมีความชอบธรรมสูงขึ้นอีกเยอะ จะทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของประชาธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน อยากให้จำว่า คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถแสดงพลังให้เห็นว่าอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง คือ ประชาชน กกต.เป็นผู้เล่นผู้หนึ่งที่จะทำให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย กฎระเบียบทุกอย่างชัดเจน”

เขาอยากให้ประชาชนจำได้ว่าพรรคการเมืองคราวนี้คัดเฟ้นผู้สมัครที่มีคุณภาพ มีนโยบายชัดเจน ผู้สมัครให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่สุจริต ไม่ดำเนินการอะไรที่ไม่ชอบ อยากให้ประชาชนตระหนักว่าคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง และกรุณาออกมาใช้อำนาจให้เยอะๆ

เมื่อ กกต.เป็น “กรรมการ” ที่ “กำกับ” การเลือกตั้งที่มีอำนาจให้คุณให้โทษกับ “ผู้เล่น” มากกว่า กกต.ชุดก่อนๆ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนด “คุณสมบัติพิเศษ” ของบุคคลที่เป็น กกต.ว่าจะต้องมี “ความกล้าหาญ”

“อิทธิพร” ตีความ “คุณสมบัติพิเศษ” นั้นว่า จะต้องกล้าตัดสินใจ มีความรับผิดชอบ การตัดสินใจบางอย่างคงไม่สามารถคำนึงถึงกระแสความต้องการ กระแสความกดดัน สิ่งที่ต้องมุ่งทำให้ได้คือถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย ตามเจตนารมณ์ และหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อทำไปแล้วก็ต้องกล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบ ไม่หวั่นไหวต่อแรงเสียดทานและการครอบงำใดๆ

 

ทว่าคำครหาที่ กกต.ได้ยินแล้วอาจเสียดแทงหัวใจคือ ถูกพรรคการเมืองมองว่า กกต.รวมถึงองคาพยพอื่นๆ ของรัฐบาลกำลังเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ ที่มีบุคคลระดับรัฐมนตรี 4 คน ในรัฐบาล คสช.เป็นหัวหน้า-แกนนำพรรค

“อิทธิพร” บอกว่า เป็นคำถามที่ตอบง่าย แต่จะเชื่อหรือเปล่าก็อีกเรื่อง…

“พยายามตอบแล้วว่าการทำงานของ กกต.เน้นเรื่องผลประโยชน์ ความสะดวกของประชาชนเป็นที่ตั้ง ส่วนพรรคการเมืองจะสนับสนุนให้พรรคการเมืองทุกพรรค พรรคเล็ก พรรคใหญ่ สามารถดำเนินการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างถูกต้อง มีคุณภาพ มีผู้สมัครที่ดี ถ้าเสี่ยงต่อการผิดพลาด อยากให้พรรคการเมืองถาม กกต. พูดคุยกับ กกต. หรือเตือนว่าให้ระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม

ส่วนเรื่องการดำเนินการใดๆ กับพรรคการเมือง โดยหลัก ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าการรีบร้อนตัดสินใจโดยรับฟังเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่แสวงหาหลักฐาน ไม่มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ เพราะ กกต.เปรียบเสมือนตุลาการในด้านการเลือกตั้ง ถ้าเราทำอะไรไม่ถูกต้องละเอียดรอบคอบ กระทบต่อผู้เล่นหลายคน และบางครั้งกระทบต่อผู้เล่นผู้นั้น ถ้าเทียบเคียงกับโทษทางอาญา เท่ากับจำคุกตลอดชีวิต”

ดังนั้น การจะทำอะไรกับพรรคไหนก็ตาม กกต.ต้องมั่นใจว่ากระทำผิดจริงๆ ตามกระบวนการกฎหมายที่เห็นว่าจำเป็น ใครมองว่าเอื้อก็คงไม่สามารถห้ามได้ แต่ถ้าทำแล้ว กกต.ต้องรับผิดชอบ อธิบายได้ และรับผิดชอบ

กับข้อ “กังขา” ว่า กกต.ชุดนี้เป็น กกต.ใหม่ป้ายแดง จะดีพอที่จะจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่อยากให้ความสำคัญที่ตัว กกต.ใหม่หรือเก่า ก่อนหน้านั้นมี กกต.ชุดเก่าที่เตรียมเลือกตั้งมาก่อน กกต.ชุดนี้เพียงแต่มารับช่วง 6 เดือนสุดท้าย สืบทอดรอยทางเดินของเขา

“ถ้า กกต.ในแต่ละคนในยุคนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ตามหน้าที่และอำนาจ แม้จะเป็น กกต.ป้ายแดง เชื่อว่าจะไม่มีส่วนกระทบ แน่นอนเรามีประสบการณ์น้อย แต่ก็รีบเร่งสร้างประสบการณ์อย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเป็นคนหนึ่งที่พยายามเก็บเกี่ยวความรู้ตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ตอนนี้ทุกอย่างแข่งกับเวลาเร็วมาก เราต้องรับรู้ให้เร็วที่สุด มากที่สุด ป้ายแดงหรือใหม่ ไม่ใช่เหตุผลที่มาอ้าง แต่อาจถูกมองได้เพราะเพิ่งเข้ามาทำงาน”

นี่คือความในใจของ “อิทธิพร” บนเส้นทางเลือกตั้งที่หฤโหด ที่รออยู่เบื้องหน้านี้