วิกฤติศตวรรษที่21 : ผ่าแผน”ประเทศจีน 2025″ สงครามการค้า และ “กรณีหัวเว่ย”

วิกฤติประชาธิปไตย (37)

“ทำในประเทศจีน 2025” สงครามการค้ากับ “กรณีหัวเว่ย”

ปี2015 เป็นปีสำคัญของนโยบายการปฏิรูปและการเปิดกว้างที่ดำเนินมาหลายสิบปี

ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง (ขึ้นสู่อำนาจปี 2012) การพัฒนาของจีนได้ก้าวสู่ขั้นใหม่ ปัญหาใหม่ การปฏิบัติใหม่ เพื่อให้ความฝันของชาวจีนเป็นจริง

ในปีนี้พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับรองแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 13 (สภาประชาชนจีนประกาศใช้ต้นปี 2016 แผนนี้ใช้ระหว่างปี 2016-2020) และส่วนขยายที่มีความสำคัญมากได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ “ทำในประเทศจีน 2025”

มีเป้าหมายที่จะทำให้จีนก้าวสู่การเป็นประเทศชั้นนำในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมไฮเทคของโลก โดยใช้อุปกรณ์อะไหล่จากภายในประเทศ

ไม่ใช่เน้นอุตสาหกรรมขุดสกัดทรัพยากรและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มต่ำ ค่าแรงถูก เช่น เหมืองแร่ พลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค มีเสื้อผ้าและรองเท้า เป็นต้น

ซึ่งประกอบเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังต้องนำเข้าอุปกรณ์อะไหล่เพื่อมาประกอบภายในประเทศ เช่น จีนต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ราวร้อยละ 60 ของโลก แต่ผลิตได้เองเพียงร้อยละ 13

นโยบายนี้เป็นการแปรโฉมประเทศจีนใหญ่อีกครั้งนับแต่การปฏิรูป และเปิดกว้างในปี 1978 ไม่เพียงมีผลต่อจีนเท่านั้น หากยังมีผลกระเทือนไปทั้งโลก

ประเทศที่ถูกกระทบได้แก่ประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วที่เป็นเจ้าเก่าได้แก่ กลุ่ม 7 มีสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนี แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่เพิ่งทะยานขึ้นใหม่ได้แก่ เกาหลีใต้ สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์

ดังนี้จึงง่ายที่สหรัฐจะเป็นผู้นำในการปิดล้อมทำลายแผนยุทธศาสตร์นี้

ในการต่อสู้จริง รัฐบาลทรัมป์ใช้แผนทำสงครามการค้ากับจีน ซึ่งมีข้อดีหลายประการได้แก่ เป็นการเปิดศึกวงกว้าง ถ้าได้ก็ได้มาก แต่ถ้าไม่ได้ก็สามารถตีวงการเจรจา ซึ่งอย่างน้อยก็ต้องได้อะไรบางอย่างเป็นความสำเร็จ

ต่อมาคือ มีความสมเหตุสมผลในข้ออ้าง เพราะว่าสหรัฐเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนปีละหลายแสนล้านดอลลาร์ซึ่งไม่ยั่งยืน

และที่สำคัญก็คือสอดคล้องกับนโยบายใหญ่ที่ได้ประกาศไว้ว่า “อเมริกาเหนือชาติใด” และ “อเมริกากลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง” รักษาฐานคะแนนเสียงของตนได้เหนียวแน่น

แต่แผนนี้มีจุดอ่อนที่สหรัฐเสียเปรียบดุลการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น จึงจำต้องเล่นงานประเทศที่เป็นพันธมิตรไปด้วย เปิดช่องให้จีนเคลื่อนไหวเพื่อโดดเดี่ยวสหรัฐในการค้าโลก

อนึ่ง ฝ่ายจีนมีความเห็นตั้งแต่ต้นแล้วว่า การเปิดศึกการค้าของสหรัฐครั้งนี้ ใช้ประเด็นการเสียเปรียบดุลการค้าเป็นข้ออ้าง เพราะประเด็นนี้เป็นเรื่องทางโครงสร้างต้องใช้เวลานานในการปรับแก้ ไม่ใช่มาทำกันอย่างอึกทึกครึกโครม โดยสหรัฐมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การทำลายนโยบาย “ทำในจีน 2025” ซึ่งจะเป็นการทำลายแผนการปฏิรูปทั้งหมดของจีน

และจีนได้ตอบโต้กลับสหรัฐตามเกมที่มองเห็นนี้ หลังจากที่สหรัฐ “เกทับ” หลายครั้งในการขยายวงสงคราม จีนก็ตอบโต้ไม่ลดละ

จนในที่สุดทั้งสองประกาศหย่าศึกชั่วคราว จากการพบปะกันนอกรอบในการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ระหว่างทรัมป์-สีจิ้นผิง ในวันที่ 1 ธันวาคม 2018

แต่ในวันเดียวกันนั้นเอง สหรัฐ-แคนาดาได้สมคบคิดกันจับกุมเมิ่งเวินโจว ผู้บริหารฝ่ายการเงินบริษัทหัวเว่ย ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดทางด้านโทรคมนาคมและสมาร์ตโฟน มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและใช้ระบบการสื่อสารไร้สาย 5G ที่สามารถใช้ได้ทั้งทางพาณิชย์และทางทหาร ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการประกาศศึกต่อนโยบาย “ทำในจีน” อย่างโจ่งแจ้ง

และครั้งนี้สหรัฐได้พันธมิตรจำนวนไม่น้อย เบื้องต้นได้แก่ “กลุ่มห้าตา” มีสหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่ได้ร่วมมือกันทางงานข่าวกรองกันมานาน

ตามด้วยประเทศที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ที่ระดมกันเล่นงานบริษัทหัวเว่ยในแบบต่างๆ เท่าที่จะทำได้ จีนต่อสู้กลับในสองทางใหญ่ด้วยกัน ทางหนึ่งเป็นการตอบโต้ซึ่งหลังจากนั้นมีชาวแคนาดาสองคนถูกทางการจีนจับกุม ในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง (ยังมีข่าวว่าชาวแคนาดาคนที่สามก็ถูกจับกุมไป)

อีกทางหนึ่งออกข่าวเรื่องการยืดหยุ่น ในแผนทำในจีน

ความจำเป็นของจีน ในการประกาศแผนทำในจีน 2025

จีนเริ่มต้นทำแผนทำในจีนจากความจำเป็นของตน ซึ่งมีอยู่สามประการใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ การก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

การเสื่อมถอยในพรรคและรัฐ

และปัญหาประชากรและสิ่งแวดล้อม

แต่ก็เห็นพร้อมกันด้วยว่าแผนนี้จะเปลี่ยนดุลอำนาจโลกด้วย

ก) ความจำเป็นในการก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การพัฒนาขนานใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศได้แก่ เกาหลีใต้และสิงคโปร์ เป็นต้น ที่สามารถก้าวพ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ที่เหลือล้วนแต่ตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางและตกเป็นเบี้ยล่างของตะวันตกอย่างถอนตัวได้ยาก

การก้าวไม่พ้นกับดักจะทำให้จีนต้องตกอยู่ในการบีบคั้นของคีมหนีบทั้งข้างบนและข้างล่าง

ทางด้านบนได้แก่ เยอรมนีและญี่ปุ่น เป็นการประกาศแผน “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่” ยกระดับอุตสาหกรรมไฮเทคของตนอย่างทั่วด้าน

ซึ่งถ้าหากจีนไม่ทำตามบ้างก็จะถูกทิ้งห่างไกลขึ้นไปอีก สำหรับการหนีบจากเบื้องล่าง เป็นการกดดันจากประเทศที่มีประชากรมากและค่าจ้างแรงงานถูกกว่า มีอินเดียและบราซิล เป็นต้น ซึ่งยากที่จีนจะแข่งขันด้วยในการทำอุตสาหกรรมแบบเดิม

นอกจากนี้จีนยังเห็นตัวอย่างจากเกาหลีใต้ที่ก้าวเป็นประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาได้ด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ของตน ภายใต้การนำและการสนับสนุนจากรัฐบาล จนกระทั่งมีแบรนด์เนมสินค้าติดระดับโลกหลายยี่ห้อ

ถ้าหากจีนไม่ทำบ้าง อย่าว่าแต่จะไล่ทันญี่ปุ่น เยอรมนีเลย แม้แต่จะไล่ทันเกาหลีใต้ก็ยังยาก

ข) ความจำเป็นในการสร้างเยาวภาพและความฝันใหม่

การปฏิรูปและการเปิดกว้างที่กระทำมานานตั้งแต่ปี 1978 ได้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ถ้าหากไม่ทะลุทะลวงออกไป ก็จะเกิดความเสื่อมถอยทั้งในพรรคและรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นความเสื่อมถอยของชาติจีนทั้งหมดด้วย

ความเสื่อมถอยนี้แสดงออกเห็นได้จากการแพร่ระบาดของคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจ และกฎหมายในทางผิด ความไม่พึงพอใจของผู้คนจำนวนมาก ความแตกแยกทางความคิด

เช่น กรณีป๋อซีไหล (ปี 2013) การขาดทิศทางในการก้าวเดินและการมีอนาคตร่วมกัน แผน “ทำในจีน” เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยทะลุ ทะลวงครั้งนี้ ช่วยสร้างความเยาวภาพทั้งของพรรคและรัฐ ขจัดการคอร์รัปชั่นที่กัดกร่อน สร้างความฝันใหม่แก่ชาวจีน เป็นแรงกระตุ้นให้ก้าวเดินไปอย่างคึกคัก

ค) ความจำเป็นทางด้านประชากรและสิ่งแวดล้อม แม้จีนได้พัฒนาเศรษฐกิจของตนอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถยกมาตรฐานการครองชีพของประชากรกว่า 700 ล้านคนพ้นจากความยากจน

แต่ยังคงเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

มีการกล่าวกันว่า ประเทศจีนขณะนี้ประชากรยังไม่ทันรวยก็เห็นแก่ตัว สิ่งแวดล้อมเกิดมลพิษและสกปรก การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสามารถช่วยทุเลาปัญหาประชากรแก่ตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นได้ และยังช่วยแก้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่สำคัญทางอากาศ โดยหันไปใช้พลังงานทดแทน และเครื่องจักรที่ทันสมัย

จีนต้องการเห็นประเทศของตนมีความไพบูลย์และสวยงาม เป็นความฝันชาวจีนอีกอย่างหนึ่ง

ความเข้าใจและการตอบโต้ จากสหรัฐและตะวันตก

ทางสหรัฐเข้าใจว่าแผน “ทำในจีน” เป็นนโยบายเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของรัฐบาลจีนในเวลาเพียง 10 ปี ในอุตสาหกรรม 10 ประเภทด้วยกัน ที่สำคัญมากได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าและยานที่ใช้พลังงานใหม่ เทคโนโลยีข่าวสาร และโทรคมนาคมรุ่นใหม่ (5 จี) หุ่นยนต์ก้าวหน้าและปัญญาประดิษฐ์

และที่สำคัญรองมาได้แก่ เทคโนโลยีการเกษตร วิศวกรรมอวกาศ วัสดุสังเคราะห์ใหม่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ก้าวหน้า ชีวะ-เภสัช รถไฟความเร็วสุง และวิศวกรรมการเดินเรือขั้นสูง

คล้ายกับแผนของเยอรมนี เพียงแต่ของจีนกว้างขวาง มีเป้าหมายชัดเจนและไม่เปิดกว้างเท่า

กลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญได้แก่

1) การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนดังที่กล่าวแล้วเป็นธงที่นำการเคลื่อนไหวของวิสาหกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

2) ให้การสนับสนุนโดยตรงแก่การเคลื่อนไหวนี้ ตัวเลขไม่แน่นอน แต่บางแห่งประเมินว่าสูงนับแสนล้านดอลลาร์

3) การลงทุนและการซื้อบริษัทในต่างประเทศ มูลค่าของจีนในการซื้อบริษัทในสหรัฐถึงขีดสูงสุดที่ 45 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016

4) ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวนำขับเคลื่อน ดังจะเห็นว่าอุตสาหกรรมทั้ง 10 ประเภทดังกล่าวมีประเภทเดียวทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมที่เป็นบริษัทเอกชน คือบริษัทหัวเว่ย แต่บริษัทก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่เหลืออีก 9 ประเภท บริษัทที่นำหน้าล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐวิสาหกิจจีนใน ปัจจุบันยังคงมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจีดีพี และราวสองในสามของการลงทุนนอกประเทศ

5) บังคับให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีโดยผ่านข้อตกลง บริษัทต่างประเทศที่มาลงทุนในจีน ถูกบังคับให้ต้องร่วมลงทุนกับบริษัทจีน และทำข้อตกลงให้ฝ่ายจีนได้ล่วงรู้สิทธิบัตรทางปัญญาและเทคโนโลยีขั้นสูง

ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ข้อวิจารณ์ใหญ่จากสหรัฐและตะวันตกที่สำคัญมีสองด้าน

ด้านแรกคือ ทางด้านความมั่นคงหรือการดำรงสถานะความเป็นใหญ่ในโลกของตะวันตก มีการชี้ว่าการลงทุนที่นำโดยรัฐบาลจีนในบริษัทต่างๆ ในสหรัฐที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์จำใบหน้า การพิมพ์สามมิติ ระบบความจริงเสมือน และยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เป็นภัยคุกคาม เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งทางพลเรือนและการทหาร

นอกจากนี้ ทางการจีนยังได้จ้างนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ การขโมยทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐและการเข้าซื้อครอบงำกิจการบริษัท เป็นการคุกคามอย่างยิ่งต่อฐานอุตสาหกรรมของสหรัฐ

การปล่อยให้จีนเข้าควบคุมห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดของอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น อุตสาหกรรมโคบอลต์ ที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ทั้งหมดตกอยู่ในการควบคุมของจีน

ไม่เพียงกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ยังกระทบต่อนวัตกรรมของทั้งโลก

กล่าวสำหรับสหรัฐ ผลกระทบหลักเป็นด้านความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจ จีนกำลังบิดเบือนตลาดโลก โดยให้ความสำคัญทางการเมืองเหนือแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เช่น การให้เงินอุดหนุนมหาศาลของรัฐบาลจีน ก่อแรงกดดันต่อตลาดและทำให้เกิดการผลิตล้นเกินและการทุ่มสินค้าราคาถูกสู่ตลาดโลก เช่น กรณีแผงโซลาร์เซลล์รัฐบาลสหรัฐสมัยทรัมป์สรุปว่า การปฏิบัติของจีน “ไม่สมเหตุสมผลและเลือกปฏิบัติ”

นอกจากนี้บริษัทที่มีฐานในสหรัฐ ยุโรปและที่อื่น ชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมและการไม่ได้สมมาตรว่า จีนมีเสรีในการลงทุนในต่างประเทศ

แต่บริษัทต่างประเทศที่ขายสินค้าหรือประกอบการในจีนต้องเผชิญกับข้อห้ามทางการลงทุนและอื่นๆ อีกมาก

(ดูบทความของ James McBride ชื่อ Is “Made in China 2025” a Threat to Global Trade? ใน cfr.org 02.08.2018) สหรัฐได้ตอบโต้จีนตามประเด็นวิเคราะห์ดังกล่าว ทุกเม็ดและอย่างต่อเนื่อง จนถึงระเบิดเป็นสงครามการค้าและศึกหัวเว่ย

คำปราศรัยของสีจิ้นผิง ในวาระครบรอบ 40 ปี การปฏิรูปของจีน

หลังกรณีหัวเว่ยแล้ว ฝ่ายตะวันตกมีความหวังว่าจีนจะยอมอ่อนข้อตามที่สหรัฐต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง

เช่น หวังว่าจีนจะยอมลดเลิกแผน “ทำในจีน” และเฝ้าคอยท่าทีของจีนจากคำปราศรัยของสีจิ้นผิงในวาระครบรอบ 40 ปีของนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้าง ในวันที่ 18 ธันวาคม 2018

แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะในคำปราศรัยนั้น สีจิ้นผิงไม่ได้กล่าวถึงสงครามการค้าและศึกหัวเว่ยเลย ที่กล่าวเน้นกลับเป็นสองประเด็นได้แก่ ความเป็นอิสระและลักษณะเฉพาะของจีน ความว่า

“ไม่มีใครที่ไหนจะมาบงการว่าประชาชนจีนควรทำหรือไม่ควรทำอะไร”

และว่า จีน “จะปฏิรูปอะไรและอย่างไร จะต้องเป็นไปเพื่อเป้าหมายสูงสุดในการปรับปรุงและพัฒนาระบบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน และการทำให้ระบบการปกครองของจีนทันสมัย เราจะปฏิรูปในสิ่งที่ควรปฏิรูปและปฏิรูปได้อย่างเด็ดเดี่ยว และจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในสิ่งที่ไม่ควรปฏิรูปและปฏิรูปไม่ได้”

เมื่อพิจารณาว่าจีนถือแผน “ทำในจีน” เป็นความเป็นความตายของตน และสหรัฐเห็นว่าแผนนี้คุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอย่างร้ายแรง จึงคาดหมายว่าสงครามการค้าและการผลิตเทคโนโลยีสูงระหว่างจีน-สหรัฐ จะดำเนินอย่างเข้มข้นต่อไป รอยร้าวในกระบวนโลกาภิวัตน์ขยายตัวอย่างน่าเป็นอันตราย

ฉบับหน้าจะก้าวถึงโครงการแถบและทาง และการขีดเส้นผลประโยชน์ของจีน