เพื่อไทย แย้ม 15 นโยบายการศึกษา ผุด 1อำเภอ 1โรงเรียน2ภาษา-เรียนอาชีวะฟรี

แย้ม 15 นโยบายการศึกษา “พรรคเพื่อไทย”

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่สถาบันเยาวชนเพื่อไทย (พท.) พรรคพท. จัดเวทีแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดนโยบายในหัวข้อ “นโยบายการศึกษา และเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กและเยาวชน” โดยนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะทำงานด้านการศึกษา กล่าวถึงทิศทางและนโยบายการศึกษาพรรคเพื่อไทยว่า แนวคิดทำนโยบายการศึกษาของพรรค มุ่งพัฒนาคนให้ทันโลก มีทักษะศตวรรษที่ 21 ไม่ทิ้งลูกหลานไทยไว้ข้างหลัง โดยนโยบายจะแก้ปัญหาพื้นฐานสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กไทยจะยากดีมีจนอยากเรียนต้องได้เรียน 2.ยกระดับคุณภาพการศึกษาทุกช่วงชั้น ตั้งแต่เด็กอ่อน จนถึงมหาวิทยาลัย และ 3.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การใช้งบประมาณ และกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้โรงเรียน ชุมชนเข้าร่วมจัดการศึกษา ทั้งนี้ พรรคมีเป้าหมายให้คนไทยมีสมรรถนะและทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะ 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน เรียนจบแล้วมีงานทำ โดยเฉพาะอาชีวะศึกษาให้คนเรียนมีฝีมือและทักษะตามที่ตลาดต้องการ

นายนพดล กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการศึกษาปฐมวัยหรือเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 8 ขวบ เพราะการศึกษาของเด็กเล็กเปรียบเหมือนเสาเข็มแรกของชีวิต โดยแนวคิดเชิงนโยบายบางส่วนที่มีการนำเสนอ เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานการศึกษาไทย เช่น 1.เรียนฟรี 15 ปีต้องฟรีจริง 2.ไม่ทิ้งเด็กไทยไว้ข้างหลัง เด็กจะยากดีมีจนต้องได้เรียนหนังสือจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน สนับสนุนให้เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและพัฒนาอาชีพ 3.แปดปีชี้ทางชีวิต เพิ่มงบประมาณ และให้ความสำคัญการศึกษาปฐมวัย มีมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงอายุแปดขวบ ยกระดับให้มี“ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอัจฉริยะ” 20,000 แห่ง 4. “เรียนก่อนผ่อนทีหลังเมื่อมีงานทำ” ด้วยกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ ในอนาคต ผ่อนคืนเมื่อมีรายได้ 5. “โรงเรียนออนไลน์” คนไทยต้องเข้าถึงการศึกษาคุณภาพทุกที่ ทุกเวลา ด้วยการเรียนรู้แบบดิจิทัล ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยเนื้อหาระดับโลก 6.ปฏิรูปหลักสูตร “หลักสูตรศตวรรษที่ 21 เลิกท่องจำก้าวล้ำคิดสร้างสรรค์”ให้เด็กไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ สร้างสมรรถนะ เลิกการเรียนแบบท่องจำ คนรุ่นใหม่ต้องคิดเป็น แก้ปัญหาได้ 7.สอนน้อยลง แต่เก่งมากขึ้น ลดชั่วโมงเรียนทั้งปีลง แต่ไปเรียนรู้ทักษะและฝึกสมรรถนะอนาคตมากขึ้น

นายนพดล กล่าวอีกว่า 8.“เด็กไทยได้สามภาษา” ไทย อังกฤษ จีน พลิกโฉมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้สามารถสื่อสารได้ตั้งแต่ชั้น ม.3 ผ่านครูเจ้าของภาษาและแอปพลิเคชั่นฝึกภาษา 9.หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนสองภาษา ไทยและอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาและการเรียนรู้ให้นักเรียนทั่วประเทศ 10.สร้างครูพันธุ์ใหม่ และ “คืนครูให้ห้องเรียน” เวลาอย่างน้อย 90% ของครู ต้องใช้เพื่อการเรียนการสอน ไม่ใช่ไปทำงานธุรการ 11.เรียนฟรีสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษาในสาขาขาดแคลน 12.ศูนย์ฝึกทักษะฝีมืออัจฉริยะ ในทุกภูมิภาคเพื่อฝึกทักษะฝีมือครู นักเรียน ประชาชน 13.“กองทุนอาชีวะสตาร์ทอัพ” เพื่อมีเงินทุนตั้งต้นส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวะไปเป็นผู้ประกอบการ

14. มหาวิทยาลัยให้บริการเรียนรู้ตลอดชีวิต และรองรับสังคมผู้สูงอายุ ฝึกทักษะใหม่ให้ คนทำงาน 15.“โรงเรียนของเรา ชุมชนของเรา” กระจายอำนาจ เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและ ชุมชนท้องถิ่นในการจัดการศึกษาของโรงเรียน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคพท. กล่าวถึงการปรับตัวของประเทศไทย เพื่อรองรับเด็กและเยาวชน GenZ ว่า เยาวชน Gen Z ที่เกิดตั้งแต่ปี 2540 – ปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน บุคคลเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูจากเทคโนโลยี มีแนวโน้มที่จะเป็นเจ้านายตัวเอง และสร้างเงินจากเทคโนโลยี ดังนั้นอนาคตจะเกิดผู้ประกอบการขนาดเล็กและธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น ขณะที่แรงงานก็จะลดลง การผูกขาดของธุรกิจที่ใช้ทุนลดลง แต่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประเทศไทยคือยังด้อยเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อย อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองและชนบท ที่มีทักษะความคิดต่างกันถึง 3 ปี ซึ่งการแก้ปัญหาคือ 1.รัฐต้องเปลี่ยนจากการควบคุมเป็นการสนับสนุนศักยภาพของบริษัทในการแข่งขันและไม่ปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจด้วยใบอนุญาต 2.ต้อนรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของโลกยุตใหม่อย่างผู้นำ 3.สร้างทางลัด สร้างโอกาส สร้างช่องทางให้กับเด็ก Gen Z 4.ลดการผูกขาดทางธุรกิจ 5.สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทุ่นแรงและอำนวยความสะดวก 6.ปรับระบบการทำงานจากที่นับเป็นชั่วโมงการทำงาน เป็นการวัดที่ศักยภาพการทำงาน และ7.ลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา ลงทุนกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน

 

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

มติชนออนไลน์