เศรษฐกิจ / หอการค้า 5 ภาคเขย่าขวัญ มุมมองเศรษฐกิจไทยปี ’62 ภาพเริ่มชัด! ส่อแววร่วง…

เศรษฐกิจ

หอการค้า 5 ภาคเขย่าขวัญ

มุมมองเศรษฐกิจไทยปี ’62

ภาพเริ่มชัด! ส่อแววร่วง…

 

จากหลายปีที่ผ่านมา เมื่อขึ้นปีใหม่ก็ย่อมมีความหวังใหม่ว่าปีต่อไปจะดีขึ้น รวมถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจด้วย แต่ปี 2562 ดูเหมือนมุมมองต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะหันไปถามใคร ในภาคเอกชน ภาคลงทุน รวมถึงหน่วยงานรัฐเอง กลับแสดงความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นๆ และต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2561

ดังนั้น มุมมองต่อเศรษฐกิจปีนี้ จึงไม่สวยหรูอย่างหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่มองว่าปีนี้แย่กว่าปีก่อนบ้าง โตต่ำกว่าปีก่อนบ้าง ยิ่งเปิดปีมาด้วยพายุ “ปาบึก” ถล่มภาคใต้ หลายพื้นที่ หลายอาชีพ หลายครัวเรือนเสียหาย ที่อยู่ระหว่างการประเมินว่าจะมีผลกระทบเท่าไหร่ต่อเศรษฐกิจ!!! แม้มองว่าเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น แต่ปัจจัยภัยธรรมชาติก็ถูกหยิบขึ้นมาเป็นอีกประเด็นที่อาจกระทบต่อแผนการทำธุรกิจในปีนี้

ส่วนปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง มาฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชนผ่านหอการค้า 5 ภาค

 

เริ่มที่หอการค้าภาคใต้ “วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ ที่เริ่มต้นน่าจะเหนื่อยที่สุด ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ก่อนเจอพายุปาบึก ในเรื่องราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางและปาล์ม ก็ยังไม่ลดลง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงยังไม่ฟื้นเท่าเดิม

และหลังจากเกิดพายุปาบึก ซึ่งสำรวจความเสียหายเบื้องต้นมีพืชผลทางการเกษตรบางชนิดหักโค่น อาทิ ส้มโอ มะละกอ และกล้วย เป็นต้น ซึ่งพืชผลเหล่านี้คงใช้เวลาฟื้นฟูไม่นาน คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์

“แต่ในแง่รายได้ ชาวสวนส้มโออาจได้ผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่ทำรายได้ให้กับคนในชุมชน ส่วนยางและปาล์ม ผลกระทบอาจไม่มากกว่าเดิม เพราะเป็นพืชที่มีรากฐานแข็งแรง ซึ่งเหตุการณ์ปาบึกจึงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากนัก คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในพื้นที่จะกลับมาเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์หลังพายุผ่านไป”

“อีกทั้งปัจจัยนอกประเทศอย่างสงครามการค้าสหรัฐกับจีนที่ยังพร้อมระอุได้ตลอดเวลา จึงมองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 ทรงตัวเท่าปี 2561”

 

สําหรับหอการค้าภาคกลาง “จิตร์ ศิรธรานนท์” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง ระบุว่า แม้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2562 จะโตถึง 4% แต่ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยด้านลบยังมีหลายด้าน อาทิ แนวโน้มเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกอาจลดลง ล้วนมีผลต่อกำลังซื้อและการลงทุน ทำให้หลายฝ่ายกลับมาทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้อีกครั้ง เบื้องต้นคาดว่าอาจโตแค่ 3% กว่าๆ เท่านั้น รวมถึงยังวิตกอาจเกิดเหตุการณ์ไม่นิ่งได้อีก ถือว่าปีนี้เป็นปีที่ต้องระมัดระวังอย่างมากในทุกเรื่อง

ประธานหอฯ ยังมองผลจากการเลือกตั้งว่า “เอกชนไม่ได้สนใจว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล สนแค่ว่านโยบายของรัฐบาลจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้อย่างไร ไม่ใช่แค่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะมีรายได้ดีขึ้น”

“และจีดีพีบางครั้งก็ไม่ได้โตจากการส่งออกของบริษัทใหญ่เพียงอย่างเดียว รวมถึงอยากให้เร่งด่วนเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ประชาชนให้พ้นเส้นความยากจน หากแผนที่มีอยู่ไม่ได้ผล ต้องรีบปรับแผนใหม่”

 

ขณะที่หอการค้าภาคเหนือ “วิโรจน์ จิรัฐติกาลโชติ” รองประธานหอการค้าไทยและประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ระบุว่า ในส่วนของการผลักดันเศรษฐกิจภาคเหนือ อยากจะให้รัฐบาลชุดนี้หรือชุดหน้าส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่างเข้าด้วยกัน จะดีต่อการกระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ได้มากขึ้น

รวมถึงส่งเสริมการค้าระหว่างชายแดนให้โตดีกว่า 6-7%

โดยมองว่าเอกชนภาคเหนือรับได้ ไม่ว่าพรรคใดจะเข้ามาบริหารประเทศ แต่ต้องดูแลปัญหาปากท้องของคนในท้องถิ่น ปรับโครงสร้างฟื้นฟูใหม่ รวมถึงช่วยในเรื่องของการกระจายรายได้สู่ชุมชนให้มากขึ้น และควรเริ่มจากการดูแลและผลักดันการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาคให้รายได้กระจายสู่ทุกจังหวัด

ไม่ใช่กระจุกอยู่แค่บางพื้นที่ อย่างเช่นที่เป็นอยู่

 

ใช่ว่าปี 2562 จะมีแต่ปัจจัยลบ เรื่องราวดีๆ ยังพอมีให้เห็น อย่างหอการค้าภาคอีสาน “ประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านที่ประเมินว่าอาจไม่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ไม่มีอุปสรรคต่อไทยมากนัก จึงคิดว่าเป็นลู่ทางที่ดี ดูจากตัวแปรหลายปัจจัย อาทิ การค้าที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเป็นประเทศที่ไทยอาศัยในเรื่องของการส่งออก และอาจส่งผลกระทบเรื่องแรงงาน ซึ่งประเด็นนี้จะเห็นผลได้ในระยะยาว

ส่วนในเรื่องของความคาดหวังของผู้ประกอบการในไตรมาส 2/2562 หวังว่าเรื่องการค้าการลงทุนต่างๆ จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ประธานหอฯ อีสาน เล่าต่อว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ พบว่า สิ่งที่อยากให้เร่งช่วยเหลือ ยังคงเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก แม้ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรืออาจเป็นเพราะภาครัฐยังไม่รับรู้ปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ คงต้องดำเนินไปตามกลไกของภาครัฐ และขับเคลื่อนไปกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ

เชื่อว่าหากมีการพัฒนาร่วมกัน เศรษฐกิจในทุกระดับก็สามารถเติบโตขึ้นอีกได้

 

ในส่วนเรื่องของการลงทุน ในปีนี้ไทยเริ่มเนื้อหอมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นไปตามการคาดการณ์ของหอการค้าภาคตะวันออก “ปรัชญา สมะลาภา” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก มั่นใจว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะคึกคักเป็นพิเศษ

เนื่องจากโครงการต่างๆ เริ่มมีให้เห็นอย่างชัดเจน โดยไตรมาส 2/2562 ก็จะเห็นความชัดเจนของผังเมือง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่รอคอยหลังจากที่จ่อจะลงทุนมาตลอดปีที่ผ่านมา ที่สำคัญไม่แค่พื้นที่อีอีซีที่ได้ประโยชน์ จังหวัดใกล้เคียงก็จะบูมตามไปด้วย อย่างจังหวัดจันทบุรี จะได้รายได้เพิ่มจากเป็นเมืองท่องเที่ยวควบคู่กับเมืองผลไม้หน้าร้อนของไทย ซึ่งปีนี้คาดหวังว่าทุเรียน มังคุด จะเป็นตัวหลักเพิ่มรายได้ท้องถิ่นและส่งออกเพิ่ม

ประธานหอฯ ตะวันออก ทิ้งท้ายว่า อยากพูดแทนทุกภาค อยากให้รัฐบาลใหม่เพิ่มมาตรการช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร เร่งด่วนเริ่มที่แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

ตามด้วยช่วยเหลือต้นทุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย

ควรหาแหล่งกู้ดอกเบี้ยต่ำและช่องทางระบายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเอาจริงเอาจังกับเรื่องการพัฒนาแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคตโดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่เน้นใช้เทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนประเทศ

คงไม่แค่ส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่เรียนอาชีวะ แต่ควรจัดศูนย์การศึกษาพัฒนาศักยภาพในระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้าด้วย

เพื่อบรรลุเป้าไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง

 

จากมุมมองของภาคเอกชนผ่านหอการค้าทั่วประเทศ

ดูจะเขย่าขวัญผู้บริหารประเทศ

จากนี้ ทั้งว่าจะเป็นรัฐบาลก่อนเลือกตั้งที่ต้องคุมเกม หรือรัฐบาลหลังเลือกที่ต้องโชว์ฝีมือสุดแรง

บนบรรทัดฐานเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพต้องโต 4-5%!!