เศรษฐกิจ / ขุนคลัง ‘อภิศักดิ์’ ฉายเศรษฐกิจปีหมู ต้องไม่ยึดติด ‘ความรู้สึก’ ห่วงการเมือง-เทรดวอร์พ่นพิษ

เศรษฐกิจ

 

ขุนคลัง ‘อภิศักดิ์’ ฉายเศรษฐกิจปีหมู

ต้องไม่ยึดติด ‘ความรู้สึก’

ห่วงการเมือง-เทรดวอร์พ่นพิษ

 

เริ่มต้นปีใหม่ 2562 เรื่องเศรษฐกิจมีสิ่งต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ดอกเบี้ยทิศทางขาขึ้น ก่อนสิ้นปี 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

นอกจากนี้ การเลือกตั้งของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีผลทำให้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจและการเงินเปลี่ยนไปตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร

มติชนสุดสัปดาห์ มีโอกาสพูดคุยกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2562 รวมถึงนโยบายของกระทรวงการคลังควรจะเดินหน้าอย่างไร หลังรัฐบาล คสช.หมดอำนาจลง

 

ในส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทย ขุนคลังระบุว่า เศรษฐกิจไทยควรจะโตได้ถึงระดับศักยภาพ นั่นคือขยายตัวได้ 4-5% นั่นหมายถึงกระทรวงการคลังต้องพยายามดูแลไม่ให้เศรษฐกิจต่ำกว่า 4% เพราะจะกระทบเป้าหมายงบสมดุลในอีก 8 ปีข้างหน้า โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังพยายามรักษาเศรษฐกิจไม่ให้ต่ำกว่า 4% ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ย กนง.ทำให้คนเป็นกังวล มีความเสี่ยงเศรษฐกิจจะไม่โตเท่าที่คิดไว้ เพราะการส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงเป็นที่มาของมาตรการเติมเงิน ช้อปปีใหม่ ช้อปตรุษจีน เป็นการเติมลงไปเพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความสมดุล

สิ่งที่รัฐบาลเติมลงไปในช่วงปลายปี 2561 มีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมจนถึงต้นปี 2562 หลังจากนี้ในระยะปานกลางมีเงินจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 6 แสนล้านบาท รัฐบาลชุดนี้พยายามผลักดันโครงการให้เดินหน้า ให้เริ่มลงทุนไปแล้ว เพื่อจะไม่ทำให้การเบิกจ่ายสะดุดในช่วงเปลี่ยนรัฐบาล

นอกเหนือจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต่อไปต้องพึ่งพาการลงทุนเอกชน จากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มมาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) เกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน การลงทุนเอกชนช่วยทำให้ลดการใช้กระสุนจากรัฐบาลในการดูแลเศรษฐกิจลง

 

นายอภิศักดิ์ระบุอีกว่า สำหรับมาตรการในระยะสั้นในปี 2562 ต้องดูจังหวัดที่จะนำมาใช้ โดยต้องดูสถานการณ์ในแต่ละช่วง คงต้องรอให้รัฐมนตรีคนใหม่ รัฐบาลใหม่มาทำ แม้ว่าในช่วงปลายปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังเติมมาตรการระยะสั้นไปมากพอสมควร แต่ยังเหลือมาตรการอีกมาก

เรื่องช้อปตรุษจีนใช้งบฯ ปี 2563 เกือบ 1 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากความต้องการให้เกิดความสมดุลในระบบเศรษฐกิจแล้ว สิ่งที่อยากได้คือให้เกิดระบบการส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) มาที่กรมสรรพากร เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดการใช้เงินสด (อีเพย์เมนต์)

“ระบบตรงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บภาษีในอนาคต เงินที่เสียไปเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ยิ่งกว่าคุ้ม เพราะเมื่อรูดบัตรข้อมูลภาษีจะเชื่อมไปยังกรมสรรพากร จากปัจจุบันผู้ประกอบการต้องยื่นภาษีเข้ามา ทำให้เกิดการทุจริต เช่น คนที่รูดซื้อสินค้าไม่รับใบเสร็จ ไม่ขอใบกำกับภาษี ร้านค้ารวบรวมแวตเอาไปขายช่วงสิ้นเดือน ซึ่งมีคนอยากซื้อเพราะคนหนีภาษีมาก กรมสรรพากรไปตามจับได้เป็นประจำ”

จากนี้สิ่งที่อยากเห็นคือระบบภาษีเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ข้อมูลภาษีทั้งหมดถูกส่งมายังสรรพากร ทำให้ภาษีทุกตัวเชื่อมโยงกัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบและอำนวยความสะดวกผู้เสียภาษีขอคืนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ก่อนหน้านี้พยายามออกกฎหมายรองรับระบบภาษีและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่นักกฎหมายบอกว่าไม่ได้ เป็นสิทธิส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่ภาคเอกชนบอกว่าพร้อมที่จะทำ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลใหม่เห็นว่าเรื่องนี้ดีอาจจะเสนอกฎหมายต่อได้

 

อีกเรื่องที่สังคมให้ความสนใจต่อเนื่องคือ เรื่องคนจน นั้น รัฐมนตรีคลังระบุว่า เรื่องคนจนมีแนวคิดช่วยให้ถูกจุด

รัฐบาลชุดนี้ลงทะเบียนมีข้อมูลของคนจนกว่า 11.4 ล้านคน ช่วงแรกเป็นการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ต่อมามีโครงการพัฒนาเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น เป็นเฟส 2 ของการลงทะเบียน ช่วยทำให้คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น 80% ช่วยคนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน หลุดพ้นเส้นความยากจน ประมาณ 50-60%

และพบว่า จากการสัมภาษณ์มีคนถึง 3% กล้าบอกว่ามีรายได้เกิน 1 แสนบาทต่อปี แสดงให้เห็นว่ามาตรการที่ใส่ลงไปได้ผล โดยมอบนโยบายไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วว่าต้องพัฒนาเรื่องอาชีพต่อ และต้องเข้มข้นกว่าเดิม ใครยังไม่ฝึกอาชีพให้เรียกมาทำต่อ ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามา และประเมินอีกครั้งว่าผลเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้รัฐบาลในอดีตชอบบอกว่าไม่มีข้อมูลจึงต้องให้สวัสดิการทุกคน เช่น เบี้ยยังชีพคนชราของรัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้งบประมาณปีละกว่า 7 หมื่นล้านบาท เช็คช่วยชาติ 2,000 บาทเพื่อหาเสียง ตอนนั้นมีการทักท้วงว่าช่วยคนมีงานทำไม ควรให้คนที่ไม่มีงานมากกว่า

รัฐบาลชุดนี้มีรายชื่อคนจน มีการลงทะเบียนไว้แล้ว สามารถมาต่อยอดได้ ถ้ารัฐบาลรวยมีงบประมาณเพียงพอ เช่น ประเทศในยุโรป เก็บภาษีแวต 20-30% การให้ทุกคนเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเงินมีจำกัดต้องไปช่วยในกลุ่มที่จำเป็นก่อน กลุ่มไม่จำเป็น เขาดิ้นด้วยตัวเองอยู่รอดได้ ความจำเป็นให้มีน้อย ถ้างบฯ มีเหลือค่อยไปให้เขาก็ได้ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ปูพื้นฐานทำข้อมูลไว้ให้แล้ว

ถ้ารัฐบาลใหม่เห็นว่าดีจะทำต่อเป็นเรื่องที่ดี

 

รัฐมนตรีคลังระบุอีกว่า ที่ผ่านมาถูกโจมตีว่ารัฐบาลกู้เงินจำนวนมากในช่วง 4 ปี คนไม่รู้เมื่อได้ฟังคิดว่าเป็นอย่างนั้น

แต่คนที่รู้บอกว่าไม่ใช่

ยกตัวอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีขนาดใหญ่มาก ต้องกู้เงินเป็นแสนล้านเพื่อมาลงทุน เทียบบริษัทเล็กมีเงินกู้ระดับ 100-200 ล้านบาท

ถ้าถามว่า ปตท.มีสถานะแย่กว่าบริษัทเล็กหรือเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ ซึ่งการวิจารณ์ควรต้องดูขนาดของสินทรัพย์ ขนาดของเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น เวลาใครโจมตีเรื่องเงินกู้รัฐบาลควรดูผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่าเพิ่มไหม พอเป็นเรื่องการเมืองไม่ได้ดูอย่างนั้น ดูเฉพาะเงินกู้ เช่น กู้ไป 2 แสนล้านบาท กู้เป็นล้านล้านบาท

ขณะนี้หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 41.6% ต่อจีดีพี และมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงสุดช่วง 3 ปีข้างหน้าประมาณ 45% ต่อจีดีพี ยังห่างไกลกรอบวินัยทางการเงินการคลังกำหนดหนี้ต้องไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ในการกู้เงินช่วงที่ผ่านมา กระทรวงการคลังดูแล้วดูอีก เพื่อไม่ให้เกิดภาระมากเกินไป

สำหรับในปี 2562 ไทยต้องเผชิญกับผลกระทบสงครามการค้า ดอกเบี้ยปรับขึ้น เงินไหลออก และการเลือกตั้ง ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยมีรัฐบาลที่มั่นคง เดินต่อนโยบายต่างๆ จะดี ถ้าไม่เรียบร้อยตัวใครตัวมัน Sentimental (ความรู้สึก) สำคัญต่อเศรษฐกิจ ถ้าไม่ดีทุกอย่างหยุดหมด เช่น ตอนประท้วง 10 ปี ทุกอย่างหยุดหมด กินบุญเก่า และยากมากที่จะขยับไปทีละตัวเพื่อให้กลับมายืน 4% ถือว่าสาหัสพอสมควร

  Sentimental เศรษฐกิจไทยยังต้องขึ้นอยู่กับการเมือง ดังนั้น ในช่วงเลือกตั้ง เลือกกันดีๆ ก็แล้วกัน