วิรัตน์ แสงทองคำ : วอลล์สตรีทของกรุงเทพสู่ความถดถอย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ : ปลายปีเก่าต่อต้นปีใหม่ควรเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความคิดและมีบทสรุปไว้ เพื่อเชื่อมโยงสถานการณ์สำคัญๆ ที่เป็นไปกับเรื่องราวที่เคยนำเสนอในระยะที่ผ่านๆ มา ก่อนจะมุ่งมองไปข้างหน้า จากนี้จึงจะขอนำเสนอซีรี่ส์ชุด “บทสรุปปี 2560” สัก 3-4 ตอน โปรดติดตาม

บทสรุปปี 2560 -แรงปะทะธนาคารไทย (2) 

ระบบธนาคารพาณิชย์กับสังคมไทยมีความสัมพันธ์อย่างสำคัญ มีมิติเชื่อมโยง สะท้อนภาพวิถีชีวิตทำงานของผู้คนแห่งยุคสมัย กำลังผสมกลมกลืนกลายเป็นแค่ชิ้นส่วนหนึ่ง

อย่างที่ว่าไว้ในตอนที่แล้วว่า ธนาคารมี “พัฒนาการช่วงรุ่งเรืองตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม” มีความสัมพันธ์โดยตรงกับผู้คนที่ทำงานประจำสำนักงานที่โอ่อ่า น่าเลื่อมใส

เป็นยุคต้นมนุษย์เงินเดือนกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า White Collar

ช่วงเวลานั้น สำนักงานใหญ่ธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นอาคารอันโดดเด่น เป็นสัญลักษณ์ที่จับต้องได้และเชื่อมโยงกัน

ความเป็นไปเปิดฉากขึ้นบนถนนสีลม ถือเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ มีพลังแรงดึงดูดอย่างมากมายในช่วงทศวรรษ 2520-2530 จนเรียกกันว่า “วอลล์สตรีตของกรุงเทพฯ”

ทั้งนี้ จุดกระแสโดยการเกิดขึ้นของอาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารแห่งใหม่ๆ เริ่มจาก

“อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยแห่งใหม่ เป็นอาคารสูง 9 ชั้น ทำการก่อสร้างสำเร็จ เปิดทำการในปี 2510 นับเป็นอาคารสำนักงานของธุรกิจขนาดใหญ่แห่งแรกบนถนนสายนี้” (จากหนังสือ บัญชา ลำซ่ำ ชีวิตและผลงาน 2535)

จากนั้นตามมาด้วยการปรากฏขึ้นของความทันสมัยเป็นระลอก อาคารสูงต่างๆ ผุดขึ้น ตั้งแต่โรงแรมดุสิตธานี (2513) อาคารสำนักงานธุรกิจแห่งใหม่ๆ อาทิ อาคารเกษมกิจ สูง 10 ชั้น (2512 ) และอาคารบุญมิตร สูง 12 ชั้น (2517) และได้เดินหน้าเข้าสู่ระยะรุ่งเรืองอย่างมากถึงระดับหนึ่ง เมื่อมีการเกิดขึ้นของสำนักงานใหญ่ธนาคารใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนถนนสีลม

นั่นคือธนาคารกรุงเทพ (2525) สำนักงานใหญ่ที่สูงที่สุดในเวลานั้น ด้วยการลงทุนที่สูงมากๆ เกือบๆ 1,000 ล้านบาท

“เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย อันเป็นธุรกิจของภาคเอกชน” (จากหนังสือ ชิน โสภณพนิช 2453-2531)

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวและต่อเนื่องกัน เมื่อมองผ่านปรากฏการณ์อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคาร ความเคลื่อนไหวนั้นยังคงแสดงสัญลักษณ์ว่าด้วยบทบาทอันโดดเด่นผุดในย่านสำคัญๆ ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ประหนึ่งเป็นสัญญาณการเติบโตของธุรกิจธนาคาร มีส่วนผลักดันให้ความทันสมัยของเมืองหลวงขยายตัวกว้างออกไปๆ

ไม่ว่ากรณีสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ โดดเด่นขึ้นบนถนนเพชรบุรี (2514 )

และธนาคารกสิกรไทยเองขยายตัวอย่างมาก จนต้องเปิดสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ให้ใหญ่โตมากขึ้นอีกบนถนนพหลโยธิน (ปี2520) แทนที่สำนักงานใหญ่แห่งเดิม

แม้กระทั่งช่วงหลังๆ มาไกลอีกกว่า 2 ทศวรรษในช่วงคาบเกี่ยว ก่อนและหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (2540) อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารใหญ่คงแสดงสัญลักษณ์นั้นอยู่ ไม่ว่าอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ธนาคารไทยพาณิชย์อันโดดเด่นย่านรัชโยธิน

และอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ธนาคารกสิกรไทย สูงตระหง่านริมฝั่งเจ้าพระยาย่านราษฎร์บูรณะ

 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้น เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง ระบบธนาคารไทยได้ผลกระทบอย่างรุนแรงทีเดียว

ภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยในเวลานั้น สะท้อนความเปราะบางและอ่อนแอที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์

พิจารณาจากดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ-ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ติดลบเป็นครั้งแรก 2 ปีต่อเนื่อง (เท่าที่มีการจัดระบบข้อมูล) จาก -2.8 (ปี 2540) และ -7.6 (ปี 2541) (ข้อมูลเปิดเผยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย)

ดัชนีสำคัญอีกมิติสะท้อนผ่านดัชนีตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ภาวะซบเซา คงอยู่ในระดับต่ำมากๆ เฉลี่ยประมาณ 400 จุด ต่อเนื่องติดต่อมา 4 ปีเต็ม (ช่วงปี 2542 จนถึงสิ้นปี 2545) ถือเป็นภาวะตกต่ำของตลาดหุ้นไทยช่วงยาวนานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เป็นที่ทราบกันดีว่าธนาคารพาณิชย์ไทยทุกแห่ง (เวลานั้นมี 14 แห่ง) ล้วนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหุ้น

ภาพที่ชัดเจนคือการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ผลกระทบเชิงทำลายรากฐานธุรกิจเดิม โครงสร้างใหม่ทางเศรษฐกิจและสังคมธุรกิจไทย รวมทั้งระบบธนาคารไทยเอง เปิดให้ภาพอย่างชัดเจนในช่วงปี 2541-2549 ดังภาพที่นำเสนอมาในตอนก่อนหน้า

ข้อมูลจำเพาะตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเชื่อว่าจะให้ภาพกว้างๆ ได้ เมื่อพิจารณาข้อมูลหมวดธุรกิจธนาคารโดยเปรียบเทียบกับหมวดธุรกิจอื่นๆ ดูจะสอดคล้องกัน และสะท้อนแนวโน้มใหม่ที่ควรสนใจ

ข้อมูลประกอบการหมวดธุรกิจธนาคาร พิจารณาเปรียบเทียบปี 2538 กับปี 2543 (ตามข้อมูลประกอบที่แนบมาด้วย) ให้ภาพที่เป็นจริงอย่างนั้น ในปี 2538 อันเป็นช่วงเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูอย่างมาก ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีรายได้รวมกันถึง 492,550 ล้านบาท มีกำไรรวมกันถึง 70,656 ล้านบาท (อ้างจากหนังสือข้อสนเทศบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2539 จัดทำโดยบริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการหรือเอ็มไอเอส) ครั้นมาถึงปี 2543 เมื่อผลกระทบอันรุนแรงจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาถึงอย่างเต็มที่

ปรากฏว่ารายได้ธนาคารทั้งระบบได้ลดลงไปอย่างมาก เหลือเพียง 293,693 ล้านบาท และประสบการขาดทุนรวมกันถึง 10,287 ล้านบาท

ธนาคารไทยทั้งระบบประสบภาวะขาดทุนครั้งใหญ่ในปี 2543

แต่นั้นถือเป็นครั้งสุดท้าย

หลังจากนั้นมาผลประกอบการรวมกันมีกำไรตลอดมา แม้ว่าพิจารณาจากรายได้ในช่วงเกือบๆ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาธนาคารทั้งระบบจะเติบโตไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายธุรกิจ ไม่ว่าหมวดธุรกิจพลังงาน หมวดธุรกิจพาณิชย์ และหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

ภาพนั้นสะท้อนความเป็นไปค่อนข้างซับซ้อน 

 

พิจารณาเฉพาะข้อมูลธุรกิจ ดูบทบาทและความสำคัญของธนาคารค่อยๆ ลดลง ท่ามกลางสังคมธุรกิจไทยที่เติบโต ขยายฐาน มีธุรกิจอย่างหลากหลายมากขึ้น ขณะอีกด้านในช่วง 2 ทศวรรษหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ธนาคารผู้อยู่รอดสามารถกลับมาตั้งหลักได้ ด้วยผลประกอบการที่ดีขึ้น (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ) ดูเหมือนว่าช่วงนั้นจะเป็นสภาวะใหม่ที่น่าสนใจ ช่วงเวลาการปรับตัวระบบธนาคารไทยเป็นไปอย่างเฉื่อยเนือย

มีข้อมูลอีกด้านที่ซ่อนอยู่ (โปรดพิจารณาข้อมูล-จำนวนพนักงานธนาคาร) ให้ภาพต่อเนื่องดูมั่นคงพอสมควรว่าระบบธนาคารไทยยังเป็นฐานสำคัญของผู้คนทำงานกลุ่มใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มซึ่งมีอิทธิพลต่อภาพรวม ต่อความเป็นไปทางสังคม ในฐานะคนทำงานผู้ผ่านการศึกษาอย่างดี มีความรู้ มีความชำนาญเฉพาะด้าน

จากการประเมินคร่าวๆ จากตัวเลขที่มีอยู่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) ธนาคารไทยมีผู้คนกลุ่มใหญ่อยู่ในระบบถึงมากกว่า 150,000 คน ในช่วงเวลาดังกล่าวมีจำนวนค่อยๆ เพิ่มขึ้นด้วย

อาชีพเกี่ยวข้องกับธนาคาร คงเป็นที่ต้องการ เป็นที่รองรับของคนรุ่นใหม่ ผู้เพิ่งจบการศึกษา กลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของสังคมไทย

ภาพนั้นค่อยๆ เปลี่ยนไปบ้าง เป็นไปตามทิศทางและแนวโน้ม สัมพันธ์กับความเป็นไปของธุรกิจธนาคาร ผู้คนในสังคม ผู้คนซึ่งแสวงหางานทำ จะค่อยๆ ออกห่างจากธุรกิจธนาคารมากขึ้นๆ แนวโน้มมาจากแรงขับเคลื่อนของธนาคารเองด้วยเช่นกัน

เช่น กรณีธนาคารกรุงเทพ แม้ไม่ได้ปรับลดจำนวนสาขาลงอย่างชัดเจน แต่ได้พยายามลดจำนวนพนักงานลงอย่างต่อเนื่อง จากตัวเลขของธนาคารเอง (Investor Presentation For 3Q18) ระบุว่ามีการลดจำนวนพนักงานลงอย่างช้าๆ ประมาณ 2,000 คนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (จาก 27,142 คน ในปี 2558 เป็น 25,137 คน ในใตรมาสที่ 3 ปี 2561) เชื่อว่าทิศทางและแนวโน้มนั้นจะกลายเป็นปรากฏการณ์ทั่วไป

ภาพนั้นจะชัดเจนมากขึ้นๆ มีผลกระทบเชิงโครงสร้างทางสังคมมากขึ้น เมื่อการปรับตัวของธนาคารไทยเข้าสู่ระดับที่อ่อนไหว ดังภาพสะท้อนกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ กับแผน “กลับหัวตีลังกา”