ชานันท์ ยอดหงษ์ : LGBT เพศวิถีในอาเซียน แลตามองเพศวิถีในอัตลักษณ์ไทย

25 พ.ย. – การสัมมนาวิชาการประจำปี 2559 ของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่งร่วมกับ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ มหาวิทยาลัยพะเยา ในหัวข้อ “LGBT Right in the ASEAN Community” LGBT : เพศวิถีในอาเซียน คุณชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และผู้เขียนหนังสือ ‘นายใน’ ได้อภิปรายถึงหัวข้อดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

อันเนื่องมาจากสภาวะสงครามเย็น ที่ไม่เพียงทำให้มีการก่อตั้งสมาคมระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันก็เพื่อสนับสนุน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” ที่เริ่มเติบโตขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เพียงนำไปสู่ ประชาคม ASEAN แต่ยังนำไปสู่การนิยามอัตลักษณ์เพศสภาวะและเพศวิถีในความหมายใหม่และหลากหลาย ในเฉพาะประเทศในค่ายโลกเสรี ผ่าน Americanization

ประเทศไทยก็เช่นกัน ขณะที่ยังเป็นสยาม ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้น มีการการบัญญัติกฎหมาย sodomy law ตามจักรวรรดิอังกฤษ ตั้งแต่พ.ศ. 2442 กำหนดเพศวิถีรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมมีโทษจำคุกและปรับ เช่นเดียวกับพม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ กระทั่ง พ.ศ. 2499 กฎหมายอาญานี้ถูกยกเลิกไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมโดยสมัครใจและเป็นเรื่องส่วนบุคคล ตราบเท่าที่ไม่ใช้กำลังขู่เข็ญหรือทำกับเด็ก โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ขณะที่มาเลเซียที่แม้ว่าประกาศอิสรภาพจากอังกฤษไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 1957 และแม้ว่าอังกฤษได้ยกเลิกกฎหมายฐานความผิดนี้ไปแล้วตั้งแต่ค.ศ. 1967ก็ยังคงมีกฎหมายรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมอยู่ซึ่งกำหนดโทษจำคุก 20 ปี sodomy law ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่นนายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้าน ถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายและดำเนินคดีถึง 2 ครั้ง ค.ศ. 1998 และ ค.ศ. 2008 ครั้งแรกเขาถูกตัดสินจำคุก 9 ปี ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่หนักกว่าตำรวจที่ทำร้ายเขาขณะสอบสวน จับเขาใส่กุญแจมือ ปิดตา แล้วทุบตีอย่างน้อย 7 ครั้งจนสลบ จนอันวาร์ฟกช้ำที่เบ้าตาและต้องเข้าเฝือก Rahim Noor ตำรวจผู้สอบสวน ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ทำร้ายร่างกายและถูกพิพากษาจำคุกเพียง 2 เดือน และปรับ 2,000 ringgit

สังคมไทยเริ่มทำความรู้จักคำว่า “เกย์” เพิ่งจะในพ.ศ. 2508 เมื่อเกิดคดีฆาตรกรรม นายดาเรล เบอริแกน ชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญทางการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิล์ด ตำรวจมุ่งประเด็นการซื้อบริการทางเพศเด็กผู้ชายของเขา คำว่า “เกย์” จึงปรากฎตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ก็ใช้อย่างคลาดเคลื่อน เพราะเรียเกย์เป็นอาชีพ คืออาชีพให้บริการทางเพศไม่ใช่ เพศสภาพ ปัจจุบันคนไทยใช้คำว่าเกย์ในความหมายของเพศสภาพเหมือนสากล แต่จะต่างตรงที่เรียกเฉพาะชายรักชายเท่านั้น ไม่รวมหญิงรักหญิงเหมือนสากล ที่เรียกว่าเลสเบี้ยนแทน

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ไทยรู้จักอัตลักษณ์เกย์ผ่านวัฒนธรรมอเมริกัน เชื่อว่ามีเอกภาพร่วมกันกับเกย์อเมริกา มีศิลปินในดวงใจร่วมกันเช่น Madonna, Beyonce, Cher, Mariah Carey เลือกใช้เพลงชาติร่วมกันเช่น Vogue ของ Madonna, Born This Way ของ Lady Gaga มีธงชาติร่วมกัน คือธงสีรุ้งที่เริ่มสถาปนาในค.ศ.1978 โดยนำมาจากเพลง “Somewhere over the Rainbow” จากภาพยนต์ฮอลลีวูด The Wizard of Oz (1939) ร้องโดย Judy Garland ดาราที่เป็นไอดอลของชายรักเพศเดียวกัน วัฒนธรรมเกย์พาเหรดเอง ไทยก็รับมาจากสหรัฐอเมริกา

เกย์พาเหรดจัดขึ้นเพื่อรวม พลังสร้างอัตลักษณ์ร่วม เปิดเผยเพศวิถีเพศสภาพของตนเองอย่างภาคภูมิใจ หรือที่เรียกว่า “Coming out of the closet” โดยสมาคมเพื่อคนรักเพศเดียวกัน ตั้งแต่ ค.ศ. 1955 ขณะเดียวกันก็รำลึกถึงการต่อสู้ต่อการถูกกดขี่กดทับรังแกโดยเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุการณ์ Stonewall Riots ค.ศ. 1969 ที่เกย์เริ่มลุกขึ้นต่อต้านตำรวจที่เข้าบุกค้นคุกคามเกย์ที่มาเที่ยวบาร์ Stonewall ใน New York เกิดจลาจลปะทะกันรุนแรง ตำรวจ 500-600 คน เข้ามาสมทบปราบปราม จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากทั้ง 2 ฝ่ายและได้กลายเป็นหมุดหมายของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพเกย์สมัยใหม่ จนมีการรวมตัวเป็นสมาคมที่ไม่เพียงแต่ต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องเพศสภาพ แต่ยังต่อสู้เพื่อผิวสีอีกด้วย

ขณะที่เกย์พาเหรดในไทยไม่ได้มีความทรงจำร่วมเกี่ยวกับ Stonewall Riots ซึ่งแรกมีในพ.ศ. 2542 เพื่อการค้า การท่องเที่ยว ความบันเทิงสนุกสนาน ตอบสนองความเป็น cosmopolitan ของเกย์กระฎุมพีเกย์มากกว่า จึงเลือกวันฮาโลวีนเป็นวันจัดกิจกรรมในย่านบันเทิงของเกย์ สีลม การต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศเพื่อความเสมอภาคจึงตามมาในช่วงต่อๆมา ไปพร้อมกับวาทกรรมชาตินิยมและ “คนดี” ตั้งแต่พ.ศ. 2544 ว่าเป็นเกย์ต้องเป็นคนดีมีศีลธรรม และพาเหรดด้วยชุดไทยประดิษฐ์ สวมทหารมหาดเล็กสมัยโบราณ สวมชฏา แสดง “ความป็นไทย” แทนการนุ่งน้อยห่มน้อยหรือที่แสดงถึงวัฒนธรรมตะวันตก ด้วยความกลัวว่าสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้กับคนรักเพศเดียวกัน

จะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพทางเพศในไทย แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของ democratization แต่ก็ไม่ได้ส่วนหนึ่งของกระบวนการ Americanization ไปเสียหมด เช่นเดียวกัน Americanization ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับ democratization ไปเสียหมด เห็นได้จากนโยบายที่สหรัฐมีต่อไทยในช่วงสงครามเย็น

และจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศมักถูกแยกออกจากสิทธิพลเมืองหรือเคลื่อนไหวสวนทางกัน LGBT ไทยจำนวนมากอาจจะสนใจเฉพาะสิทธิเสรีภาพทางเพศของตนเองเท่านั้น ไม่ได้สนใจสิทธิทางการเมือง ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกละเมิดสิทธิทางการเมืองอยู่ บางคนหรือบางองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิทางเพศอาจจะยินยอมหรือเรียกร้องให้ริดลอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองด้วยซ้ำ เช่น ต่อต้านการเลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าคนย่อมมีความเสมอภาคกัน เรียกร้องรัฐประหารหรือระบอบเผด็จการ ขณะเดียวกัน LGBT บางคนก็ไม่สนใจทั้งสิทธิเสรีภาพทางเพศและการเมืองเลย