E-DUANG : ทำไม ‘ออกกำลังกาย’ และ ‘แจกเงิน’ กลายเป็นปัญหา

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

มาตรการ “แจกเงิน” น่าจะเป็นมาตรการที่ดี แต่เหตุใดเมื่อรัฐบาลนำมาใช้จึงกลายเป็น “ปัญหา”

เหมือนกับ “การออกกำลังกาย”
ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องดี ใครๆ ก็ต้องการเห็น ต้องการให้ลงมืออย่างจริงจังและพร้อมเพรียง
แต่เหตุใดเมื่อรัฐบาลกำหนดเป็น”นโยบาย”จึงกลายเป็นเรื่อง
เห็นได้จากการนำไปเปรียบเทียบกับการเต้น”แอโรบิก”ของรัฐบาลในยุค “ไทยรักไทย”
เห็นได้จากการนำไปเปรียบเทียบกับ “ประชาธิปัตย์”
เพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เคย “แจกเงิน”เมื่อปี 2552 มาแล้ว
เพราะรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็เคยเต้น “แอโรบิก”
แทนที่เมื่อการเต้น “แอโรบิก” มาอยู่ในยุคคสช. แทนที่เมื่อการ “แจกเงิน” มาอยู่ในยุคคสช.จะกลายเป็นเรื่องดีกลับกลายเป็นปัญหา กลับกลายเป็นประเด็น
นั่นก็เป็นเรื่องของ “กาละ” นั่นก็เป็นเรื่องของ “เทศะ”

การชุมนุมและเต้น “แอโรบิก”ของรัฐบาลยุคพรรคไทยรักไทยเป็นการเคลื่อนไหวในทาง “สุขภาพ”

เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วก็เลิก
ดำเนินไปอย่างที่มีลักษณะ “รณรงค์” ลักษณะ “ปลุกระดม”เหมือนกับเป็นงานในลักษณะ”อีเว้นต์”
เป้าหมายคือ ทำ”สถิติ”ให้กับ”กินเนสส์ บุ๊ค”
การกำหนดให้ “ออกกำลังกาย” ทุกวันพุธตั้งแต่เวลา 15.00 น.ในยุคคสช.มีลักษณะพิเศษ
1 เน้นไปยัง “ข้าราชการ”
เมื่อเน้นไปยัง “ข้าราชการ” และเป็นในเวลา 15.00 น.จึงกลับกลายเป็นปัญหา
เพราะว่าเป็น “เวลา”ใน”ราชการ”

มาตรการ “แจกเงิน” ในยุคคสช.ถูกนำไปเปรียบเทียบกับมาตรการ “แจกเงิน” ในยุคพรรคประชาธิปัตย์โดยอัตโนมัติ

เป้าหมาย คือ “กระตุ้น” เศรษฐกิจ
พรรคประชาธิปัตย์อ้างว่าจำเป็นต้อง “แจกเงิน”เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ 7
หากไม่”กระตุ้น” คงย่ำแย่
ขณะที่กล่าวสำหรับรัฐบาลยุคคสช.เสียงที่ประชาชนได้ยินอยู่อย่างสม่ำเสมอ
คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว
การขยายตัวทางเศรษฐกิจไปอยู่หลักร้อยละ 3 และทำท่าอาจจะทะยานไปแตะร้อยละ 4 ด้วยซ้ำ
เศรษฐกิจดี เศรษฐกิจฟื้นตัว ทำไมต้อง”แจกเงิน”
ยิ่งกว่านั้นไม่ว่าจะ”แจกเงิน”ยุคพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะ”แจกเงิน”ยุคคสช. ก็ล้วนแต่ “ประชานิยม”
พอคำว่า “ประชานิยม” ปรากฏขึ้นเสียงร้อง “ยี้” ก็กระหึ่มขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน