บทวิเคราะห์ : เมื่อทรัมป์ลั่นถอนทหารพ้นซีเรีย-อัฟกาฯ

ที่ผ่านมามักมีเสียงเหน็บแนมสหรัฐอเมริกา ว่าชอบทำตัวเป็นตำรวจโลก เข้าไปยุ่งขิงกิจการภายในของชาติอื่น

แต่จู่ๆ เมื่อเร็วๆ นี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้หุนหันพลันแล่นและคาดเดาใจได้ยาก ออกมาประกาศว่าสหรัฐจะเลิกเป็น “ตำรวจในตะวันออกกลาง” ด้วยการประกาศจะถอนทหารอเมริกันทั้งหมดที่มีอยู่ราว 2,000 นายออกไปจากสมรภูมิรบซีเรีย

โดยให้เหตุผลว่า กองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) กลุ่มติดอาวุธที่เป็นสาเหตุหลักใหญ่ให้สหรัฐส่งกำลังทหารเข้าไปร่วมกวาดล้างในดินแดนอิรักและซีเรียได้ถูกปราบปรามให้พ่ายแพ้อย่างราบคาบแล้ว

อีกวันถัดมาก็มีข่าวตามหลังมาว่าทรัมป์ยังตัดสินใจที่จะถอนทหารสหรัฐอีกมากกว่าครึ่งจากที่มีประจำการอยู่ราว 14,000 นายออกไปจากอัฟกานิสถาน ดินแดนที่กองทัพสหรัฐทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายยืดเยื้อมายาวนานถึง 17 ปี

ทว่ายังไม่ประสบผลสัมฤทธิ์

 

สําหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่อยู่ในอารมณ์เบื่อหน่ายสงครามเต็มทน ต่างพากันชื่นชมการตัดสินใจครั้งนี้ของทรัมป์ แต่หลายฝ่ายในวงการเมืองสหรัฐ นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนชาติพันธมิตรใกล้ชิด พากันออกมาท้วงติงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของทรัมป์กันอย่างหนัก

โดยที่หลายฝ่ายเชื่อว่าการถอนทหารสหรัฐออกไปจากพื้นที่ขัดแย้งที่ยังคงไร้เสถียรภาพและมีความเปราะบางอยู่มากยังไม่น่าจะส่งผลดีนัก แม้แต่กับผลประโยชน์ของสหรัฐเอง และยังจะยิ่งฉุดลากผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาติพันธมิตรสหรัฐที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาให้ตกอยู่ในความเสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

เสียงหนึ่งที่สะท้อนการต่อต้านแผนการถอนทหารดังกล่าวของทรัมป์มาจากจิม แมตทิส อดีตนายพล 4 ดาวแห่งกองทัพสหรัฐ ที่ถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีแนวคิดไม่รุนแรงในรัฐบาลทรัมป์ แต่ก็ไม่เคยเก็บซ่อนความคิดเห็นต่างกับทรัมป์เอาไว้ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐในทันทีหลังจากทรัมป์ประกาศแผนถอนทหารออกจากซีเรีย

โดยแมตทิสบอกกับทรัมป์ตรงๆ ว่าเขาไม่อาจปฏิบัติตามในเรื่องการตัดสินใจถอนทหารออกจากซีเรียของทรัมป์ได้

 

มาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกร่วมพรรครีพับลิกัน ออกมาวิพากษ์ทรัมป์ในประเด็นนี้ โดยบอกว่า สิ่งที่แมตทิสให้เหตุผลไว้ในจดหมายลาออกเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าสหรัฐกำลังดำเนินนโยบายไปในทางที่ผิดพลาดที่จะทำให้ประเทศชาติตกอยู่ในอันตรายได้ อีกทั้งยังจะสร้างความเสียหายให้กับชาติพันธมิตรของสหรัฐ และเป็นการทำให้ศัตรูของสหรัฐกลับมามีอำนาจมากขึ้น

ขณะที่แม็ก ธอร์นเบอร์รี ส.ส.รีพับลิกัน พันธมิตรทางการเมืองของทรัมป์ ซึ่งยังมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมาธิการกิจการทหาร สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ให้ความเห็นว่าการถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากซีเรียและการลดกำลังทหารลงในอัฟกานิสถาน จะเป็นการก้าวถอยหลังของความก้าวหน้าในสิ่งที่สหรัฐได้ลงมือดำเนินการไปในพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าวแล้ว ที่ยังจะเป็นการส่งเสริมให้อริศัตรูของสหรัฐกลับมามีพลังอำนาจมากขึ้น

และทำให้ประเทศสหรัฐมีความปลอดภัยน้อยลงด้วย

 

ความเห็นข้างต้นเป็นหนึ่งในข้อห่วงกังวลหลักใหญ่ที่หลายฝ่ายสะท้อนออกมาต่อการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของทรัมป์ในครั้งนี้ ที่หลายความเห็นมองว่าผลประโยชน์ด้านความมั่นคงหลายชาติอาจตกอยู่ในความเสี่ยงเลวร้ายมากขึ้นได้ ในกรณีของซีเรีย มีความห่วงกังวลกันว่า หากสหรัฐถอนทหารออกไป จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มไอเอสฟื้นคืนชีพขึ้นมาก่อเหตุนองเลือดรุนแรงอย่างง่ายดายขึ้นอีกหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีการประกาศชัยชนะเหนือกลุ่มไอเอสไปแล้ว ทว่าเซลล์นักรบไอเอสยังคงมีหลงเหลือกระจายตัวกันอยู่นับหลายพันคน และกลุ่มไอเอสยังคงควบคุมพื้นที่ส่วนหนึ่งเล็กๆ ในซีเรียไว้ได้อยู่

ในกรณีของอัฟกานิสถาน ก็ยังคงเป็นพื้นที่ขัดแย้งที่มีความน่าห่วงกังวลอยู่มาก เพราะกลุ่มติดอาวุธทาลิบันยังคงเคลื่อนไหวก่อความรุนแรงให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แม้ขณะนี้จะอยู่ในระหว่างกระบวนการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับตัวแทนของกลุ่มทาลิบันก็ตาม การถอนทหารสหรัฐออกไป จึงยิ่งอาจทำให้สถานการณ์ในอัฟกานิสถานย่ำแย่ลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ได้

อีกข้อห่วงกังวลสำคัญในมุมมองฝ่ายการเมืองของสหรัฐ เป็นในเรื่องของการถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐในซีเรีย พื้นที่ขัดแย้งที่มีหลายชาติเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการคานอำนาจกับรัสเซียและอิหร่าน สองชาติปฏิปักษ์สำคัญของสหรัฐ ที่ถือข้างสนับสนุนกองกำลังรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรีย ซึ่งนักการเมืองในสหรัฐหลายรายมองว่าหากทรัมป์ถอนทหารออกไปหมด สหรัฐก็อาจจะเสียรังวัดไปเอง

เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้รัสเซียและอิหร่านแผ่ขยายอิทธิพลอำนาจในภูมิภาคนั้นไปได้อย่างสบายๆ

 

อีกประเด็นที่ไม่ส่งผลดีต่อสหรัฐคือการสูญเสียความน่าเชื่อถือไปในหมู่ชาติพันธมิตรของสหรัฐ ที่ยังอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันตามมา โดยเฉพาะกับฝรั่งเศสและเยอรมนี ชาติพันธมิตรตะวันตกที่จะต้องเดือดร้อนกับแผนการถอนทหารสหรัฐของทรัมป์ เพราะที่ผ่านมาทั้งสองชาติต้องรองรับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพจากพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าว รวมถึงต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธไอเอสที่แทรกซึมเข้ามาก่อเหตุในประเทศของตนเองด้วย

ถึงตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนออกมาจากปากทรัมป์ว่าจะเริ่มลงมือถอนทหารออกจากซีเรียและอัฟกานิสถานเมื่อไหร่ แต่เชื่อว่าไม่นานคงได้เห็น ส่วนผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

ใครจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง ต้องรอดู